ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และ โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงบัลลังก์ทำเนียบขาวจากพรรคเดโมแครต เปิดศึกประชันวิสัยทัศน์ครั้งแรกเมื่อค่ำวันอังคาร (29 ก.ย.) ตามเวลาในสหรัฐฯ โดยต่างหยิบยกประเด็นร้อนขึ้นมาโต้วาทีเพื่อโน้มน้าวหรือเปลี่ยนใจชาวอเมริกันที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้างในช่วง 5 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 3 พ.ย. และในขณะที่ชาวอเมริกันกว่า 1 ล้านคนเริ่มใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ากันแล้ว ทำให้ศึกดีเบตที่จะจัดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งมีเดิมพันสูงลิ่ว
ผู้ชิงชัยทั้ง 2 ฝ่ายต่างเดินเข้าสู่เวทีอภิปรายโดยไม่มีการจับมือกัน เพื่อเคารพกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
ไบเดน วัย 77 ปี มีคะแนนนิยมนำหน้า ทรัมป์ วัย 74 ปีอยู่พอสมควรในโพลระดับชาติ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในรัฐที่เป็นสมรภูมิหลักๆ กลับพบว่าทั้งคู่ยังทำคะแนนได้สูสีกันมาก
การประชันวิสัยทัศน์รอบแรกซึ่งกินเวลา 90 นาที และมีการจำกัดจำนวนผู้ชม ถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย เคส เวสเทิร์น รีเซิร์ฟ ในเมืองคลีฟแลนด์ โดยมี คริส วอลเลซ พิธีกรจากฟ็อกซ์นิวส์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการดีเบตระหว่างคู่ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีขึ้นทั้งหมด 3 รอบ ตามมาด้วยการดีเบตของผู้สมัครรองประธานาธิบดีอีก 1 รอบ
คณะผู้จัดงานระบุว่าการดีเบตรอบแรกนี้มีผู้เข้าชมประมาณ 80 คน ประกอบด้วยครอบครัวของ ทรัมป์ และ ไบเดน, ทีมหาเสียง, ตัวแทนจากทางมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและความมั่นคง และสื่อมวลชน
ทรัมป์ และ ไบเดน ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อหลากหลายประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตอเมริกันชนไปแล้วกว่า 200,000 คน และทำให้มีคนตกงานอีกนับล้านๆ, การประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมทางสีผิว รวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่การดีเบตจะเริ่มขึ้น ไบเดน ตัดสินใจชิงความได้เปรียบด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีในปี 2019 และเรียกร้องให้ ทรัมป์ ทำเช่นเดียวกัน
ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีของตนมาโดยตลอด และเมื่อ 2 วันก่อนหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สได้ตีแผ่ข้อมูลว่า ทรัมป์ จ่ายภาษีเงินได้แค่ 750 ดอลลาร์ในปี 2016 และ 2017 และไม่ได้เสียภาษีเลย 10 ปีในช่วง 15 ปีหลังสุด โดยใช้วิธีแจ้งสรรพากรว่าธุรกิจขาดทุนยับเพื่อเอามาหักกลบกับรายได้จริงหลายร้อยล้านดอลลาร์
ข้อมูลภาษีของ ไบเดน พบว่าเขาและ จิลล์ ภรรยา จ่ายภาษีแก่รัฐบาลกลางและชำระค่าอื่นๆ เป็นเงินมากกว่า 346,000 ดอลลาร์ในปี 2019 จากรายได้เกือบ 985,000 ดอลลาร์ ก่อนจะขอคืนภาษีที่ชำระเกินไว้เป็นเงินเกือบ 47,000 ดอลลาร์
พิธีกรได้ยิงคำถามตรงๆ กับ ทรัมป์ ว่าเขาเสียภาษีเท่าไหร่แน่ระหว่างปี 2016-2017 ซึ่ง ทรัมป์ ก็ยืนยันว่า “ผมเสียภาษีหลายล้านดอลลาร์ แล้วคุณก็จะได้เห็นเอง”
ระหว่างการอภิปราย ไบเดนได้พุ่งเป้าโจมตีมาตรการรับมือโควิด-19 ของ ทรัมป์ โดยระบุว่าผู้นำสหรัฐฯ “ตื่นตระหนก” กับวิกฤตโรคระบาด, ล้มเหลวในการปกป้องชีวิตชาวอเมริกัน ทั้งยังเห็นแก่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นมากกว่าจะคิดหาทางยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัส
“เขาตื่นตระหนกเกินไป หรือไม่ก็มองแต่ตลาดหุ้น” ไบเดน เอ่ยถึง ทรัมป์ ซึ่งแสดงท่าทีดูเบาความร้ายแรงของโควิด-19 และพยายามกดดันให้รัฐต่างๆ เปิดเศรษฐกิจ
“คุณคือประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดเท่าที่อเมริกาเคยมี” ไบเดน ระบุ พร้อมทั้งขอให้ ทรัมป์ เลิกขลุกตัวอยู่แต่ในสนามกอล์ฟและกลับมาทำงานจริงๆ จังๆ เสียที
ทรัมป์ ตอบโต้คำวิจารณ์ของ ไบเดน โดยยืนยันว่ารัฐบาล “ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม... แต่ผมจะบอกคุณให้นะโจ คุณไม่มีทางทำได้ดีเท่าพวกเราหรอก เพราะมันไม่ได้อยู่ในสายเลือดของคุณ”
ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งทะเลาะกับสื่อเป็นประจำยังพยายามใช้เทคนิคเดิมๆ แบบที่เขาทำเสมอเวลาแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว นั่นคือการพูดแทรกขัดคอคนอื่น กระทั่งพิธีกร คริส วอลเลซ ต้องเอ่ยย้ำว่าตนคือผู้ดำเนินรายการบนเวทีนี้ และ “ขอให้ท่านรองประธานาธิบดีได้พูดบ้าง” ขณะที่ ไบเดน เองก็อดรนทนไม่ไหวถึงกับเตือน ทรัมป์ ว่าให้ “ช่วยหุบปากหน่อยได้ไหม?”
ทรัมป์ ยังปฏิเสธที่จะใช้เวทีอภิปรายสดครั้งนี้ประณามพฤติกรรมของพวกคลั่งลัทธิผิวขาวเป็นใหญ่ (white supremacists) โดยเพียงแต่ขอให้นักเคลื่อนไหวขวาจัดกลุ่มหนึ่ง “ถอยไปและยืนสแตนด์บาย” ก่อนจะหันมาโจมตีนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายเหมือนเดิม
วอลเลซ ถาม ทรัมป์ ว่าเขาอยากจะใช้โอกาสนี้ตำหนิ “พวกไวท์ซูพรีเมซิสต์ และกลุ่มติดอาวุธ” และขอให้คนเหล่านี้อยู่นิ่งๆ ดีกว่าออกมากระพือความวุ่นวายระหว่างที่เกิดเหตุจลาจลต่อต้านการเหยียดผิวหรือไม่ ซึ่ง ทรัมป์ ก็ตอบว่า “ผมยินดีทำทุกอย่าง” ก่อนยิงคำถามกลับว่าจะให้เอ่ยถึงกลุ่มไหน
เมื่อ ไบเดน เสนอว่าให้เอ่ยถึง ‘Proud Boys’ ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มที่เผยแผ่ความความเกลียดชัง (hate group) ทรัมป์ ก็กล่าวว่า “Proud Boys ผมขอให้พวกคุณถอยไปและยืนสแตนด์บาย” ก่อนจะพูดต่อทันทีว่า “แต่จะบอกอะไรให้นะ ต้องมีใครสักคนจัดการกับพวกแอนติฟาด้วย”
แอนติฟา หรือหรือขบวนการต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Action) นั้นเป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มคนที่มีแนวคิดเอียงซ้าย ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศในทุกรูปแบบ รวมทั้งต่อต้านนโยบายชาตินิยม กีดกันผู้อพยพและชาวมุสลิมของ ทรัมป์ ด้วย
ในประเด็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ ทรัมป์ อ้างว่าจำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างรวดเร็วเนื่องจาก “การเลือกตั้งย่อมมีผลที่ตามมา” และตัวเขาเองมีสิทธิ์ที่จะทำได้ แม้จะมีเสียงท้วงติงจากพรรคเดโมแครตก็ตาม
“ผมขอพูดง่ายๆ นะว่าเราเป็นฝ่ายที่ชนะเลือกตั้ง และการเลือกตั้งย่อมต้องมีผลตามมา เราคุมเสียงในวุฒิสภาและทำเนียบขาว และเรามีนอมินีซึ่งทุกฝ่ายให้การยอมรับ” ทรัมป์ กล่าว โดยหมายถึง เอมี โคนีย์ บาร์เร็ตต์ ผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมที่เขาต้องการผลักดันเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่แทนที่ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ที่เพิ่งเสียชีวิตลง
ไบเดน แย้งว่าตำแหน่งผู้พิพากษาที่ว่างลงนั้นควรแต่งตั้งหลังวันที่ 3 พ.ย. ไปแล้ว เพื่อให้ทราบชัดเจนก่อนว่าใครจะได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าการเพิ่มผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมเข้าไปในศาลสูงสุดจะยิ่งเป็นภัยคุกคามต่อกฎหมายประกันสุขภาพ Affordable Care Act หรือที่เรียกกันว่า โอบามาแคร์
พรรคเดโมแครตโจมตีพวกรีพับลิกันว่าทำตัวหน้าไหว้หลังหลอก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เคยขัดขวางไม่ให้ โอบามา แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดในปี 2016 โดยขอให้รอหลังวันเลือกตั้งเช่นกัน