ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จุดชนวนให้เกิดความโกรธเกรี้ยวขึ้นมา เมื่อแสดงท่าทีว่าเขาอาจจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ก็ได้ ถ้าหากเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
จุดยืนเช่นนี้ของเขาทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับพวกจอมเผด็จการในประเทศไร้ขื่อแปไม่เคารพกฎหมาย อย่างเช่น เบลารุส และเกาหลีเหนือ รวมทั้งก่อให้เกิดความหวั่นกลัวกันขึ้นมาว่า เขาอาจทำให้ระบบประชาธิปไตยสหรัฐฯแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เพื่อที่จะได้ครองอำนาจต่อไป
ขณะที่ผลโพลสำนักต่างๆ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เขากำลังมีคะแนนนิยมตามหลังอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน คู่แข่งขันจากพรรคเดโมแครตอยู่นั้น เมื่อวันพุธ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้บอกปัดไม่ยอมปฏิเสธโอกาสความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ เมื่อถูกพวกผู้สื่อข่าวจี้ถามว่า เขาจะสนับสนุนการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติหรือไม่
“อ้า... เราจะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง” เขาตอบ
อันที่จริงแล้ว ทรัมป์ได้เตรียมการเอาไว้ด้วยซ้ำเผื่อว่าเขาเกิดตัดสินใจที่จะท้าทายผลการเลือกตั้งที่ออกมา ด้วยการพูดอ้างซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าพวกเดโมแครตจะใช้บัตรลงคะแนนที่ส่งมาทางไปรษณีย์จำนวนเป็นหลายสิบล้านใบเพื่อโกงการเลือกตั้งครั้งนี้
“พวกเดโมแครตกำลังวางแผนโกงการเลือกตั้ง 2020 ของพวกเรา!” เขาประกาศเช่นนี้อีกในวันพฤหัสบดี (24) หลังจากมีผู้พบบัตรเลือกตั้งส่งล่วงหน้ามาทางไปรษณีย์ไม่กี่ใบ ซึ่งทำเครื่องหมายเลือกทรัมป์ ได้ถูกทิ้งไปในสำนักงานเลือกตั้งแห่งหนึ่งที่รัฐเพนซิลเวเนีย
มีโอกาสที่จะเกิดความปั่นป่วนอลหม่าน
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งหลังๆ มานี้ ซึ่งกำหนดจัดกันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน แทบทั้งหมดเลยจะมีการประกาศผู้ชนะ และผู้แพ้ก็ออกมายอมรับความปราชัย ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงภายหลังปิดการลงคะแนนแล้ว โดยที่อาศัยผลของการนับคะแนนขั้นต้นเท่านั้น
เมื่อผู้พ่ายประกาศยอมรับความปราชัย ก็เท่ากับเป็นการอนุญาตทันทีให้ผู้ชนะเริ่มต้นการตระเตรียมเพื่อเข้ารับมอบอำนาจกันในเดือนมกราคม ก่อนหน้าทางคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จะประกาศผู้ชนะอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนธันวาคมด้วยซ้ำไป
สำหรับปีนี้ พวกผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับทรัมป์ในจุดสำคัญมากจุดหนึ่ง นั่นคือ สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้จะมีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วยการส่งบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์เพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างมหาศาล และด้วยการที่ระบบต่างๆ สำหรับดำเนินการกับวิธีโหวตเช่นนี้ยังไม่เคยผ่านการทดสอบอย่างใหญ่โตระดับนี้มาก่อน ผลการเลือกตั้งที่ประกาศออกมาในตอนต้นๆ จึงน่าจะมีความไม่สมบูรณ์เอามากๆ และเปิดทางให้เกิดการท้าทายฟ้องร้องกัน
ผู้ชนะ “น่าจะยังไม่เป็นที่ทราบกันในคืนวันเลือกตั้ง” นี่เป็นข้อสรุปของ “ทรานซิชั่น อินทิกริตี โปรเจ็คต์” (Transition Integrity Project ใช้อักษรย่อว่า TIP) กลุ่มนักวิชาการและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งกำลังศึกษาถึงปัญหาต่างๆ ของการเลือกตั้งปี 2020 ที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้
TIP ซึ่งสมาชิกมีทั้งที่เป็นพวกพรรคเดโมแครตและพวกพรรครีพับลิกัน ระบุว่าทางกลุ่มคาดหมายว่าจะเกิดช่วงเวลา “ปั่นป่วนอลหม่าน” ทางกฎหมายและทางการเมืองขึ้น โดยที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองต่างก็จะพยายามฉกฉวยหาทางทำให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์
ถ้าหาก ไบเดน ไม่สามารถคว้าชัยชนะแบบถล่มทลายชัดเจนชนิดเถียงไม่ออก TIP ก็คาดหมายว่าทรัมป์จะต้องหาทางใช้ประโยชน์จากความกำกวมใดๆ ก็ตามที่มีอยู่, ตัวบทกฎหมาย, รวมทั้งอำนาจความเป็นประธานาธิบดีของเขา มายืนกรานว่าตนเองคือผู้ชนะและปฏิเสธไม่ยอมก้าวลงจากตำแหน่ง
“เรายังประเมินกันว่าประธานาธิบดีทรัมป์น่าที่จะต่อสู้ไม่ยอมรับผลซึ่งออกมาทั้งด้วยวิธีการทางกฎหมายและวิธีการนอกกฎหมาย ในความพยายามที่จะยึดครองอำนาจเอาไว้ต่อไป” พวกเขากล่าว
จุดยืนของทรัมป์
ตัวทรัมป์เองนั้นได้ส่งสัญญาณออกมาถึงความเปํนไปได้ 2 ประการ
อย่างแรก ถ้าหากผลการคาดการณ์ที่ออกมาในคืนวันเลือกตั้ง เป็นไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่เขา เขาก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับความปราชัยและท้าทายกล่าวหาวิธีการนับคะแนน โดยที่จะได้รับความสนับสนุนจากพวกมือปฏิบัติการทางการเมืองของรีพับลิกันซึ่งอยู่ในภาคสนามตามรัฐต่างๆ
นี่อาจนำไปสู่การนับคะแนนใหม่อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยที่บัตรลงคะแนนแต่ละใบจะถูกตรวจสอบทบทวนและถูกท้าทายร้องเรียนหากพบความผิดปกติใดๆ อาทิเช่น บัตรที่ลงคะแนนทางไปรษณีย์ มีลายเซ็นรับรองที่เปรอะเปื้อนไม่ชัดเจน, ใช้ที่อยู่แบบย่อๆ, หรือบัตรลงคะแนนถูกส่งทางไปรษณีย์โดยไม่มีซองพิเศษชั้นในซึ่งมุ่งรับประกันความลับ – เหล่านี้ในบางกรณีสามารถนำไปสู่การปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเป็นบัตรลงคะแนนที่ถูกต้อง
กระบวนการเช่นนี้อาจใช้เวลากันเป็นอาทิตย์ๆ
ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าทรัมป์เห็นว่าตัวเขาเองกำลังนำอยู่ในคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน เขาก็อาจประกาศชัยชนะตั้งแต่ก่อนที่จะรวมกับผลของบัตรลงคะแนนซึ่งส่งมาทางไปรษณีย์และคาดว่าคราวนี้จะมีจำนวนเป็นล้านๆ ใบทีเดียว
พวกนักวิเคราะห์เชื่อว่า คนที่เชียร์เดโมแครตจะโหวตกันทางไปรษณีย์มากกว่าคนที่เชียร์รีพับลิกัน และทรัมป์ก็ได้แสดงท่าทีครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเขาอาจจะไม่ยอมรับว่าบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์เหล่านี้มีความถูกต้อง สามารถนำเอาคะแนนมารวมกับเสียงของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ด้วยตนเอง
“บัตรลงคะแนน (ส่งมาทางไปรษณีย์) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้” ทรัมป์พูดในวันพุธ (23) “กำจัดบัตรพวกนี้ทิ้งไปเสีย แล้วคุณก็จะมี (การถ่ายโอนอำนาจ) อย่างสันติเป็นอย่างยิ่ง –จริงๆ แล้ว มันจะไมมีการถ่ายโอนหรอก แต่มันจะมีการต่อเนื่อง (ของอำนาจ)” เขาบอก
ฟ้องร้องกันในศาล
ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต่างมีการรวบรวมจัดทีมนักกฎหมายทีมใหญ่เตรียมเอาไว้เผื่อจะเกิดการร้องเรียนและการฟ้องร้องกันอุตลุดภายหลังการออกเสียงลงคะแนน
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2000 การต่อสู้กันระหว่าง อัล กอร์ ของพรรคเดโมแครต กับ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของพรรครีพับลิกัน ลงท้ายแล้วมาอยู่ที่ผลการเลือกตั้งในรัฐเพียงรัฐเดียว นั่นคือ ฟลอริดา
รัฐบาลของรัฐนี้ซึ่งเป็นฝ่ายรีพับลิกัน (และผู้ว่าการรัฐยังเป็นน้องชายแท้ๆ ของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อีกด้วย) ประกาศให้บุชเป็นผู้ชนะด้วยคะแนนทิ้งห่างนิดเดียว ฝ่ายกอร์จึงไปฟ้องศาลขอให้นับคะแนนกันใหม่ โดยเฉพาะพวกบัตรลงคะแนนจำนวนหลายล้านใบซึ่งใช้วิธีให้ผู้ออกเสียง “ตอกบัตร” ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทั้งง่ายแก่การตอกบัตรอย่างผิดพลาด และง่ายแก่การนับคะแนนผิด
คดีนี้บานปลายไปจนถึงขั้นศาลสูงสุด ซึ่งตัดสินไม่ให้นับคะแนนใหม่ กลายเป็นการมอบชัยชนะของการเลือกตั้งให้แก่บุช
สำหรับปีนี้ พวกรีพับลิกันของทรัมป์กำลังเตรียมการเพื่อท้าทายเผื่อผลเลือกตั้งออกมาในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐจำนวนหนึ่งซึ่งการต่อสู้เป็นไปอย่างคู่คี่ อย่างเช่น ฟลอริดา, วิสคอนซิน, มิชิแกน, และเพนซิลเวเนีย
“มีโอกาสที่ประธานาธิบดีจะพยายามทำให้ทางสภานิติบัญญัติ (ของรัฐ) และ/หรือ ทางผู้ว่าการรัฐ ลงมือกระทำการในเรื่องต่างๆ –รวมทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย— เพื่อท้าทายไม่ยอมรับเสียงโหวตของประชาชน” TIP ระบุ
“ทีมรณรงค์หาเสียงที่มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว (ไม่ว่าของฝ่ายใด) มีโอกาสที่จะดิ้นรนทำให้การแข่งขันเลือกตั้งล่วงเลยไปถึงเดือนมกราคม 2021” กลุ่มนี้บอก
มีข่าวดีอยู่บ้างตรงที่ในวุฒิสภา –ซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถถอดถอนทรัมป์ได้ถ้าเขาปฏิเสธไม่ยอมลงจากตำแหน่ง-- มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำสภานี้ ถึงแม้จะเป็นชาวรีพับลิกัน แต่ก็ออกมากล่าวยืนยันสร้างความมั่นใจให้แก่พวกผู้ออกเสียงในวันพฤหัสบดี (24)
“ผู้ชนะในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายน จะได้สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม” เขาบอก
(เก็บความจากเรื่อง Election 2020: Could Trump reject the results? ของสำนักข่าวเอเอฟพี)