ออราเคิล (Oracle) บริษัทด้านคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ เอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ไมโครซอฟท์’ ด้วยการยื่นข้อเสนอจับมือกับ TikTok ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วน จุดประกายความหวังที่แอปฯ แชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมสัญชาติจีนจะสามารถสานต่อธุรกิจในอเมริกาต่อไปได้หลังถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่แบน
ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok ในจีนได้เปิดเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจกับทั้งไมโครซอฟท์ และออราเคิล หลังจากผู้นำสหรัฐฯ ออกคำสั่งเด็ดขาดเมื่อเดือน ส.ค. บังคับให้ไบต์แดนซ์ต้องขายกิจการ TikTok ในอเมริกา
ไมโครซอฟท์ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ (13) ว่า ข้อเสนอซื้อกิจการ TikTok ของตนถูกไบต์แดนซ์ปฏิเสธแล้ว ทำให้ออราเคิลกลายเป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวที่เหลืออยู่ ก่อนถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 20 ก.ย. ซึ่ง ทรัมป์ ขู่จะระงับปฏิบัติการของ Tiktok
วอลล์สตรีทเจอร์นัล และนิวยอร์กไทม์ส เป็นสื่อรายแรกๆ ที่ออกมาเผยว่าออราเคิลคือผู้ชนะในศึกทางธุรกิจครั้งนี้ ขณะที่รัฐบาลจีน 2 แห่ง คือ CGTN และ ไชน่า นิวส์ เน็ตเวิร์ก อ้างแหล่งข่าวว่า ไบต์แดนซ์ไม่คิดขายกิจการ TikTok ให้กับทั้งไมโครซอฟท์ และออราเคิล
อย่างไรก็ตาม ไบต์แดนซ์ ออกมาแถลงยืนยันเมื่อวันจันทร์ (14) ว่าได้ยื่นข้อเสนอเป็นหุ้นส่วนกับออราเคิลถึงกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของคณะบริหาร ทรัมป์ ได้ และเปิดทางให้ TikTok สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้ราว 100 ล้านคนในอเมริกาต่อไป
ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่างไบต์แดนซ์และออราเคิลจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งทำเนียบขาว, คณะกรรมการด้านลงทุนต่างชาติของสหรัฐฯ (CFIUS) รวมถึงรัฐบาลจีน
ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของ TikTok ในอเมริกาเริ่มขึ้นเมื่อผู้นำสหรัฐฯ อ้างว่าแอปฯ แชร์วิดีโอตัวนี้อาจถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมทางธุรกิจ, ติดตามตัวลูกจ้างรัฐบาลอเมริกัน และรวบรวมข้อมูลผู้ใช้เพื่อแบล็กเมล์
ทรัมป์ ออกคำสั่งฉุกเฉินเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ขีดเส้นตายให้ไบต์แดนซ์ต้องขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทอเมริกันภายในวันที่ 20 ก.ย. ไม่เช่นนั้นก็จะถูกแบน
เรื่องนี้ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้น เมื่อกระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกกฎใหม่ในเดือน ส.ค. โดยเพิ่มรายชื่อเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ด้านพลเรือนลงในบัญชีสินค้าที่จำกัดการส่งออก ซึ่งจะทำให้ไบต์แดนซ์ขายธุรกิจ TikTok ให้บริษัทอเมริกันได้ยากขึ้น ขณะที่ไบต์แดนซ์เองก็ประกาศว่าจะปฏิบัติตามกฎใหม่นี้อย่างเคร่งครัด
แอปฯ แชร์วิดีโอยอดนิยมตัวนี้ถูกดาวน์โหลดมากกว่า 175 ล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา และมีคนราว 1,000 ล้านคนทั่วโลกที่ใช้มันแชร์คลิปวิดีโอสั้นๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทาง TikTok ยืนยันว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกแชร์ให้รัฐบาลปักกิ่ง
ขณะเดียวกัน TikTok ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐฯ โดยอ้างว่าคำสั่งบังคับขายกิจการของ ทรัมป์ เป็นการนำกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act) มาใช้ในทางมิชอบ เนื่องจากแพลตฟอร์มของบริษัทมิได้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ แต่อย่างใด
ทรัมป์ ยังออกมาเปรยว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรได้รับ “ส่วนแบ่งพอสมควร” จากข้อตกลงซื้อขายกิจการ TikTok ที่จะมีขึ้น ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ต่างอะไรกับการขู่กรรโชกทรัพย์
การบังคับขาย TikTok ในอเมริกามีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ และจีนทั้งในเรื่องสงครามการค้า, ประเด็นสิทธิมนุษยชน และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ทั้งนี้ การที่ไบต์แดนซ์ปฏิเสธข้อเสนอของไมโครซอฟท์ซึ่งแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการซื้อกิจการ TikTok ในอเมริกาและประเทศอื่นๆ แล้วเลือกหันไปจับมือกับออราเคิล ที่ไม่ได้มุ่งครอบครองกิจการทั้งหมด แต่เน้นการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วน ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าไบต์แดนซ์กำลังแสวงหาทางเลือกที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ทั้งคณะบริหาร ทรัมป์ และรัฐบาลจีน
แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์ว่า ภายใต้ข้อเสนอล่าสุดของไบต์แดนซ์ ออราเคิลจะได้รับสิทธิบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้ TikTok ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้ในระบบคลาวด์ของ อัลฟาเบ็ต อิงก์ และมีฐานข้อมูลแบ็กอัปอยู่ในสิงคโปร์ ขณะที่ออราเคิลเองก็กำลังเจรจาขอซื้อหุ้นส่วนน้อยใน TikTok ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนรายสำคัญในไบแดนซ์ เช่น เจเนอรัล แอตแลนติก (General Atlantic) และซีคัวยา (Sequoia) ก็ต้องการร่วมถือหุ้นส่วนน้อยใน TikTok เช่นกัน
แม้ออราเคิลจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดการและปกป้องฐานข้อมูล แต่ก็ไม่มีประสบการณ์บริหารสื่อสังคมออนไลน์มาก่อน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของออราเคิลจะเป็นบริษัท ไม่ใช่ผู้บริโภคทั่วไป
เจฟฟรีย์ ทาวสัน อาจารย์ด้านการลงทุนจาก Guanghua school of management มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ว่า การเป็นหุ้นส่วน TikTok ในอเมริกาจะช่วยให้ออราเคิลสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหลักของไบต์แดนซ์ แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรงก็ตาม ซึ่งก็คล้ายกับรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทตะวันตกหลายแห่งในจีน ทว่าความเป็นไปล่าสุดนี้นับเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่งสำหรับห้างค้าปลีก ‘วอลมาร์ท’ ซึ่งจับมือกับไมโครซอฟท์ในการเจรจาซื้อ TikTok เพราะหากวอลมาร์ทสามารถนำความบันเทิงและการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ TikTok มาผนวกกับแพลตฟอร์ม e-commerce ของตนเอง ก็อาจจะช่วยให้สามารถไล่ตามคู่แข่งรายใหญ่อย่างแอมะซอนได้
สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ บอกกับ CNBC เมื่อวันจันทร์ (14) ว่า ตามข้อเสนอที่ยื่นมานั้น ไบต์แดนซ์จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TikTok และจะเปิดสำนักงานใหญ่ในอเมริกาซึ่งมีการจ้างงานมากถึง 20,000 ตำแหน่ง ซึ่ง CFIUS จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวในสัปดาห์นี้ และจะจัดทำข้อเสนอแนะถึง ทรัมป์ ต่อไป
พอล มาร์ควอร์ด ทนายความจาก Cleary Gottlieb Steen & Hamilton LLP วิจารณ์กระบวนการพิจารณาดีลระหว่าง TikTok กับออราเคิลว่า “ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา เพราะดูเหมือนจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองมากกว่าผู้เชี่ยวชาญจาก CFIUS” ขณะที่ ดีเร็ก ซิสเซอร์ส จากสถาบันคลังสมอง American Enterprise Institute ก็เตือนว่าคณะบริหาร ทรัมป์ ไม่ควรนำเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องในวงการธุรกิจมาเป็นประเด็นการเมือง
ในช่วงแรกๆ ทรัมป์ ดูเหมือนจะเชียร์ออราเคิลอยู่ไม่น้อย เนื่องจาก แลร์รี แอลลิสัน ประธานออราเคิล เป็นหนึ่งในผู้นำบริษัทเทคโนโลยีเพียงไม่กี่รายที่ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ โดยเมื่อเดือน ก.พ. เขาได้ใช้คฤหาสน์ของตนในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นสถานที่จัดงานระดมทุนเพื่อหาเงินบริจาคให้แก่ทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ อีกทั้งออราเคิลยังว่าจ้างอดีตผู้ช่วยระดับท็อปคนหนึ่งของรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ มาทำงานด้วย ขณะที่ ซาฟราน แคตซ์ ซีอีโอของออราเคิล ก็เคยอยู่ในทีมงานรับมอบตำแหน่งของ
ทรัมป์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าออราเคิล "ใกล้เต็มที" ที่จะบรรลุข้อตกลงกลายเป็น "ผู้มอบเทคโนโลยีที่ไว้วางใจได้" แก่แอปพลิเคชัน TikTok แถมยังยกย่องออราเคิลว่าเป็น “บริษัทที่ยิ่งใหญ่” ที่น่าจะสามารถจัดการปัญหาความมั่นคงนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งในวันพุธ (16) ว่ายังไม่พร้อมที่จะเห็นชอบข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างออราเคิลกับไบต์แดนซ์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ไบต์แดนซ์จะยังคงถือหุ้นใหญ่ใน TikTok ในขณะที่ออราเคิลเป็นเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
"เราไม่ชอบความคิดนั้นเลย ผมบอกกับคุณได้เลยว่า ผมไม่ชอบ" ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว "ตราบใดที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ มันจำเป็นต้องดี 100% และผมไม่ได้เตรียมการลงนามอนุมัติใดๆ ผมจำเป็นจะต้องเห็นข้อตกลงก่อน"
ทรัมป์ ยังยอมรับด้วยว่าเพิ่งจะได้รับคำแนะนำจากทีมกฎหมายว่าการขอส่วนแบ่งจากข้อตกลงซื้อขาย TikTok นั้นอาจเป็นไปไม่ได้ "ผมต้องการเห็นเงินก้อนใหญ่เข้าสู่รัฐบาลสหรัฐฯ เพราะเราทำให้มันเป็นไปได้ แต่ทนายความบอกกับผมว่า มันไม่มีหนทางทำแบบนั้น เพราะไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน"
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องข้อตกลงซื้อขาย TikTok ในอเมริกาเมื่อวันจันทร์ (14) เพียงแต่บอกว่า TikTok กำลังถูกต้อนให้จนมุม และถูกขู่ให้ต้องขายกิจการในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์ “สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และปราศจากการแบ่งแยกกีดกันให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนและดำเนินกิจการในอเมริกา”
แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า รัฐบาลปักกิ่งยอมที่จะให้ TikTok ปิดตัวในอเมริกาดีกว่าถูกสหรัฐฯ ปล้นทรัพย์สินทางปัญญาหรือบังคับขายกิจการ ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์อ่อนแอให้กับทั้งไบต์แดนซ์และจีน
พอล ทริโอโล นักวิเคราะห์ของยูเรเซีย ตั้งข้อสังเกตว่า หากไบต์แดนซ์สามารถดึงออราเคิลมาเป็นพันธมิตร โดยที่ตนเองยังคงเป็นเจ้าของ TikTok อยู่ ก็เท่ากับว่าไม่ได้มีการขายกิจการให้บริษัทอเมริกันอย่างที่ ทรัมป์ เรียกร้อง ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่จีนพอรับได้ ขณะที่ พอล แฮสเวลล์ หุ้นส่วนบริษัทกฎหมาย พินเซนต์ เมสันส์ ในฮ่องกงชี้ว่า ต่อให้สหรัฐฯ ยอมอนุมัติดีลระหว่างไบต์แดนซ์กับออราเคิล ก็ยังต้องจับตามองต่อไปว่าทั้งสองบริษัทจะหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการส่งออกของจีนได้หรือไม่
ผลสำรวจระดับชาติโดยรอยเตอร์/อิปซอสเมื่อเดือน ส.ค. พบว่าชาวอเมริกัน 40% สนับสนุนให้ ทรัมป์ สั่งแบน TikTok หากไม่ยอมขายกิจการให้บริษัทอเมริกัน โดยกลุ่มฐานเสียงรีพับลิกันสนับสนุนมาตรการแบนถึง 69% แม้จะมีเพียง 32% เท่านั้นที่ยอมรับว่าคุ้นเคยกับแอปฯ นี้
ทำเนียบขาวได้ยกระดับความพยายามกวาดล้างสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “แอปฯ จีนที่ไม่น่าไว้วางใจ” ให้หมดไปจากเครือข่ายดิจิทัลในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจาก TikTok แล้ว ทรัมป์ ก็ยังออกคำสั่งห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับ เทนเซ็นต์ โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นเจ้าของแอปฯ WeChat ด้วย