xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘อินเดีย’ ขึ้นที่ 2 ของโลก-ติดเชื้อรายวันพุ่งเฉียดแสน ‘แอสตรา’ ระงับทดสอบวัคซีน บั่นทอนความหวังสู้โควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อินเดียกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ในเอเชีย โดยมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยใหม่วันละเกือบ 1 แสนคน
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยังไม่มีทีท่าจะหยุดคุกคามประชากรโลก ล่าสุด ‘อินเดีย’ พุ่งแซงบราซิลกลายเป็นชาติที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ขณะที่หลายชาติในยุโรปกลับมามีผู้ติดเชื้อใหม่มากพอๆ กับช่วงพีคของการระบาดระลอกแรก ส่วนวัคซีนต้านไวรัสของบริษัทยา ‘แอสตราเซเนกา’ ซึ่งถูกตั้งความหวังไว้มากที่สุดก็ต้องระงับการทดลองขั้นสุดท้ายชั่วคราว หลังพบผู้เข้าร่วมการทดลองมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง

โรคระบาดใหญ่จากไวรัสโคโรนาซึ่งอุบัติขึ้นในจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 27.7 ล้านคน และคร่าชีวิตประชากรไปแล้วกว่า 900,000 คน ตามข้อมูลในเช้าวันพฤหัสบดี (10 ก.ย.)

อินเดียซึ่งมีประชากร 1,300 ล้านคน กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดรุนแรงที่สุดของทวีปเอเชีย โดยจากข้อมูลเมื่อวันพุธที่ 9 ก.ย. ยอดผู้ป่วยสะสมแดนภารตะอยู่ที่ 4.37 ล้านคน เสียชีวิตราว 74,000 คน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ก็เพิ่มขึ้นถึง 89,706 คน และทำสถิติการเพิ่มรายวันสูงที่สุดในโลกมานานกว่า 1 เดือนแล้ว

แม้อัตราการเสียชีวิตในอินเดียจะค่อนข้างต่ำมาโดยตลอด แต่ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มเกิน 1,000 คนต่อเนื่องมานานถึง 8 วัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตราย

เศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากมาตรการจำกัดการเดินทางซึ่งบังคับใช้มาหลายเดือนทำให้รัฐบาลอินเดียยอมเสี่ยงที่จะเดินหน้าฟื้นฟูประเทศกลับสู่ภาวะปกติ แม้จะยังควบคุมโรคระบาดไม่ได้ก็ตาม

ระบบรถไฟใต้ดินในกรุงนิวเดลีซึ่งปิดไป 5 เดือน กลับมาให้บริการอีกในวันจันทร์ (7) ขณะที่อีก 12 เมืองในอินเดียก็เริ่มเปิดบริการรถไฟใต้ดินบางส่วน โดยผู้โดยสารจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ เช่น สวมหน้ากากอนามัย, เว้นระยะห่างทางสังคม และผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ

‘ทัชมาฮาล’ อนุสรณ์สถานแห่งความรักชื่อก้องโลกซึ่งถูกปิดไปนานกว่า 6 เดือน ก็เตรียมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 21 ก.ย. โดยรองผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวรัฐอุตตรประเทศ ยืนยันว่า จะดูแลให้ผู้มาเยือนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างจริงจัง




สหรัฐฯ ยังครองอันดับหนึ่งด้วยสถิติผู้ป่วยสะสมกว่า 6.35 ล้านคน เสียชีวิต 190,000 คนเศษ ทว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อใหม่เพียงราวๆ 28,500 คน ซึ่งถือว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยกว่า 60,000 ต่อวันในช่วงปลายเดือน ก.ค.

ศูนย์กลางการระบาดในอเมริกาเริ่มย้ายไปยังแถบมิดเวสต์ และรัฐทางตอนใต้ ส่วนในรัฐซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ขณะที่รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในระดับต่ำ

แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก อนุญาตให้ร้านอาหารหลายพันแห่งเปิดให้ประชาชนนั่งรับประทานภายในร้านได้ไม่เกิน 25% หลังวันที่ 30 ก.ย. โดยจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิและบันทึกข้อมูลการติดต่อของผู้เข้าใช้บริการ ขณะที่นครลอสแองเจลิสมีคำสั่งห้ามจัดปาร์ตีรวมคนนอกครอบครัวในช่วงเทศกาลฮาโลวีน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองความสำเร็จในการขจัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอย่างใหญ่โต ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (8) โดยมีการมอบรางวัลแก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีผลงานดีเด่นในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสมรณะที่คร่าชีวิตพลเมืองจีนไปกว่า 4,700 คน

สี ระบุว่า การที่จีนได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วในสงครามกับเชื้อไวรัสถือเป็นบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และจีนยังเป็นประเทศแรกที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในขณะที่ทั่วโลกยังคงซวนเซ

สหรัฐฯ และออสเตรเลียวิจารณ์มาตรการตอบสนองโรคระบาดของจีน โดยหาว่าปักกิ่งนั้นมีเจตนาปกปิดต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และความรุนแรงของมัน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนถ่ายภาพร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ดีเด่น ซึ่งได้รับรางวัลในพิธีฉลองชัยชนะปราบโควิด-19 ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ย.
สี กล่าวเหน็บแนมพวกที่ตั้งข้อสงสัยในจีนว่า ความเห็นแก่ตัว, การปัดความรับผิดชอบ และการกระทำที่สร้างความสับสนอาจทำให้เกิดความเสียหายไม่เฉพาะกับประเทศนั้นๆ แต่รวมถึงนานาชาติ และย้ำว่าการที่จีนมีมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเปิดเผย โปร่งใส รวดเร็ว และเด็ดขาด ทำให้สามารถรักษาชีวิตผู้คนทั่วโลกได้นับสิบล้าน

ผู้นำจีนได้เอ่ยย้ำถึงความช่วยเหลือที่ปักกิ่งได้มอบให้แก่ประเทศต่างๆ อันได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ 209,000 เครื่อง, ชุดป้องกันไวรัส 1,400 ล้านชุด และหน้ากากอนามัย 151,500 ล้านชิ้น อีกทั้งยังส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยเหลือและแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญให้แก่ประเทศเหล่านั้นด้วย

ปักกิ่งยังอวดความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และได้นำวัคซีนที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Sinovac Biotech และ Sinopharm ออกมาโชว์เป็นครั้งแรกในงานมหกรรมการค้าที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้ โดยวัคซีนของจีนนั้นเป็นหนึ่งในกว่า 10 ตัวทั่วโลกที่เริ่มเข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้ภายในปลายปี

ผู้แทนจาก Sinovac บอกกับเอเอฟพีว่า โรงงานผลิตวัคซีนแห่งหนึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีกำลังการผลิตวัคซีนได้มากถึง 300 ล้านโดสต่อปี

เจ้าหน้าที่อิเหนาสวมชุดป้องกันไวรัสเดินแบกโลงศพไปตามท้องถนนในกรุงจาการ์ตา เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคยับยั้งการระบาดของโควิด-19

หน่วยงานท้องถิ่นกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียลงโทษผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะด้วยการให้ลงไปนอนในโลงศพจำลอง
สถานการณ์ในยุโรปกลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ สั่งเพิ่มมาตรการคุมเข้มโควิด-19 และเตรียมจำกัดการรวมตัวเกินกว่า 6 คนทั่วประเทศในสัปดาห์หน้า หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อในเมืองผู้ดีกลับมาพุ่งสูงจนเป็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว

ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในอังกฤษเพิ่มขึ้นในระดับเกือบ 3,000 คนต่อเนื่องมานานหลายวัน ซึ่งทำให้สำนักนายกรัฐมนตรีตัดสินใจประกาศ “มาตรการเร่งด่วน” เพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 ก.ย. รัฐบาลจะห้ามการรวมกลุ่มเกินกว่า 6 คนทั่วประเทศ ทั้งในสถานที่ปิดและภายนอกอาคาร โดยยกเว้นเฉพาะสถานศึกษา, สถานที่ทำงาน, งานแต่งงาน, งานศพ และการแข่งขันกีฬาเป็นทีม โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับระหว่าง 100-3,200 ปอนด์

แมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้งในเมืองผู้ดีก็คือการปาร์ตีสังสรรค์ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-30 ปีเศษ ซึ่งแม้ว่าคนอายุน้อยมักไม่มีอาการป่วยที่รุนแรง แต่ก็อาจนำเชื้อไวรัสไปแพร่ให้แก่บุคคลใกล้ชิดที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ปู่ย่าตายาย เป็นต้น

ทางด้านฝรั่งเศสพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มกว่า 6,500 คนในวันพุธ (9) และเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้รัฐบาลได้ประกาศให้ 7 ภูมิภาคซึ่งครอบคลุมเมืองใหญ่ๆ เช่น ลีลล์ (Lille), สตราสบูร์ก (Strasbourg) และ ดิฌง (Dijon) เป็นพื้นที่เฝ้าระวังระดับสูง หลังพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเวลานี้มี 28 จังหวัด (departments) จากทั้งหมด 101 จังหวัดของฝรั่งเศสถูกประกาศเป็น “พื้นที่สีแดง” ซึ่งทางการสามารถใช้มาตรการคุมเข้มเป็นพิเศษเพื่อชะลอการแพร่ระบาดได้หากมีความจำเป็น

ฝรั่งเศสมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเกือบ 9,000 คนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (4) และเวลานี้ทางการปารีสได้ออกกฎให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

สเปนซึ่งเคยควบคุมการระบาดได้เป็นส่วนใหญ่กลับมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากผ่อนคลายมาตรการจำกัดเข้มงวดต่างๆ ไปเมื่อปลายเดือน มิ.ย. และกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปตะวันตกที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 500,000 คนเมื่อวันจันทร์ (7)

ผู้ปกครองชาวสเปนบางส่วนที่รู้สึกกังวลกับสถานการณ์โรคระบาดปฏิเสธที่จะให้ลูกกลับเข้าชั้นเรียนในปีการศึกษาใหม่ แม้จะถูกทางการขู่ลงโทษก็ตาม

อิสราเอลเริ่มใช้มาตรการ “ปิดเมืองยามค่ำคืน” ใน 40 เมืองทั่วประเทศซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงสุด รวมถึงสั่งปิดสถานศึกษาและจำกัดการรวมตัวของประชาชนตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. โดยจากการรวบรวมข้อมูลของเอเอฟพีพบว่าอิสราเอลมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อหัวประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของโลก สูงยิ่งกว่าบราซิลและสหรัฐอเมริกาเสียอีก

ฟิลิปปินส์ยังคงรั้งอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 240,000 คน ตามมาด้วยอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมีผู้ป่วยราว 203,000 คน และ 57,000 คนตามลำดับ

นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียเตือนพลเมืองอิเหนาให้มีมาตรการป้องกันตนเองอย่างเข้มข้นต่อไป เพราะจากโมเดลการศึกษาพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซียอาจจะพุ่งถึง 500,000 คน ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่วัคซีนต้านโควิด ‘Merah-Putih’ ซึ่งอินโดนีเซียพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อใช้งานได้ภายในช่วงกลางปี 2021

รัฐบาลมาเลเซียประกาศห้ามพลเมืองจากชาติที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกินกว่า 150,000 คนเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ, อินเดีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมาเลเซียพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 100 คนในวันอังคาร (8) นับเป็นสถิติผู้ป่วยใหม่สูงสุดในวันเดียวนับตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ก่อนที่ตัวเลขจะลดลงเหลือเพียง 24 รายในวันพุธ (9) ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงอยู่ที่ 128 ราย

ความหวังของโลกที่จะมีวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ในเร็ววันต้องมีอันสะดุด เมื่อ แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษ ประกาศระงับการทดลองวัคซีนซึ่งบริษัทร่วมพัฒนากับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด หลังพบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงและไม่สามารถอธิบายได้ในผู้เข้าร่วมทดสอบรายหนึ่ง

วัคซีน AZD1222 ของแอสตราเซเนกาอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายในสหรัฐฯ, อังกฤษ, บราซิล และแอฟริกาใต้ และบริษัทยังมีแผนทำการทดลองในญี่ปุ่นและรัสเซีย เพื่อให้ได้จำนวนผู้เข้าร่วมทดสอบทั่วโลกถึง 50,000 คน

วัคซีนตัวนี้ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า เป็นทางเลือกที่มีความหวังสูงสุดและพัฒนาไปได้ไกลที่สุดในปัจจุบัน และแอสตราเซเนกาเองก็ได้ทำข้อตกลงผลิตวัคซีนป้อนรัฐบาลทั่วโลกรวมกว่า 3,000 ล้านโดส มากยิ่งกว่าโครงการพัฒนาวัคซีนใดๆ

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนจะใช้กระบวนการ ‘ฟาสต์แทร็ก’ เพื่ออนุมัติวัคซีนตัวหนึ่งก่อนศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. ขณะที่ผู้พัฒนาวัคซีนชั้นนำทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ต่างยืนยันว่า จะปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ และไม่สยบยอมต่อแรงกดดันทางการเมืองซึ่งต้องการเร่งรัดให้มีวัคซีนออกสู่ท้องตลาดโดยเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น