xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ จับตา! พบจีนเล็งวางที่มั่นด้านการทหารในไทยและอีกหลายชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพจากรอยเตอร์)
นิกเกอิเอเชียนรีวิว - จีนกำลังหาทางวางโครงข่ายโลจิสติกส์ ที่อาจครอบคลุมทั่วมหาสมุทรอินเดีย กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในรายงานประจำปีด้านแสนยานุภาพด้านการทหารของปักกิ่งที่นำเสนอต่อสภาคองเกรสเมื่อวันอังคาร (1 ก.ย.)

ในรายงาน "พัฒนาการด้านการทหารและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน 2020" จำนวน 200 หน้า ระบุว่า "จีนดูเหมือนจะพิจารณา พม่า, ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, ศรีลังกา รวมถึงประเทศอื่นๆในแอฟริกาและเอเชียกลาง ในฐานะที่ตั้งของฐานโลจิสติกส์ด้านการทหาร"

รายงานบอกด้วยว่าจีนได้ทำการทาบทามในยังนามิเบีย, วานูอาตูและหมู่เกาะโซโลมอนไปแล้ว

"ถือเป็นครั้งแรกที่ข้อสังเกตลักษณะนี้ปรากฏในรายงานประจำปี" แซค คูเปอร์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยอเมริกดัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งมีสำนักงานในวอชิงตัน ให้ความเห็น "รายงานใหม่นี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความปรารถนาของจีน ในความเคลื่อนไหวระดับโลก"

วอชิงตันเชื่อว่าความทะเยอทะยานของจีนต่อการขยายแสนยานุภาพด้านการทหารทั่วมหาสมุทรอินเดีย มีบ่อเกิดจากครั้งที่จีนเปิดฐานทัพถาวรในต่างแดนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในจิบูตี เมื่อปี 2017
จนถึงตอนนี้ที่มั่นในจิบูตี ยังเป็นเพียงฐานทัพในต่างแดนเพียงแห่งเดียวของจีน โดยที่ปักกิ่งระบุว่ามันเป็นเพียงฐานทัพสนับสนุน เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ทั้งในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภารกิจคุ้มกัน

รายงานของเพนตากอนระบุว่าการปรากฎตัวของกองทัพจีนในจิบูตี ช่วยมอบศักยภาพสนับสนุนภารกิจตอบโต้ทางทหารต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆนานา ที่อาจส่งผลกระทบการลงทุนของปักกิ่งและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ทั้งนี้มีพลเมืองจีนอยู่ในทวีปแอฟริการาวๆ 1 ล้านคนและตะวันออกกลางประมาณ 500,00 คน

สหรัฐฯยังเชื่อด้วยว่ากัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงลับๆกับปักกิ่ง สำหรับเปิดทางให้กองทัพจีนใช้ฐานทัพเรือแห่งหนึ่งของพวกเขาเป็นฐาน แม้ต่อหน้าสาธารณะนั้นทั้งสองประเทศจะปฏิเสธก็ตาม

การลงทุนของจีนในท่าเรือพลเรือนต่างๆทั่วมหาสมุทรอินเดีย ได้รับการขนานนามว่าเป็น ยุทธศาสตร์ "เส้นรอยต่อสร้อยไข่มุก" มีจุดมุ่งหมายขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนให้ครอบคลุมท่าเรือสำคัญๆในมหาสมุทรอินเดีย ที่วันหนึ่งอาจถูกใช้งานโดยกองทัพเรือของจีน แม้ปักกิ่งไม่ยอมรับว่ายุทธศสตร์ดังกล่าวมีอยู่จริง แต่พวกนักเคราะห์มองว่ามันเป็นความพยายามปิดล้อม อินเดีย ชาติที่อาจก้าวขึ้นมาเป็นคู่ปรับ

เพนตากอนระบุในรายงานว่าพัฒนาการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจีนมีความพยายามโดยตรงมากขึ้นในการวางรากฐานด้านการทหารในต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่าในรายงานเดียวกัน เพนตากอนคาดหมายว่าจีนจะมีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงทศวรรษหน้า จากระดับต่ำราวๆ 200 หัวรบในปัจจุบัน และกำลังใกล้มีขีดความสามารถในการโจมตีทางนิวเคลียร์ทั้งทางบก อากาศและทะเล แสนยานุภาพที่เรียกว่าไตรแอด (triad)

การออกมาเปิดเผยครั้งมีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯคุกรุ่นมานานหลายเดือน โดยวอชิงตันมีปัญหากับแนวทางรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีนและความเคลื่อนไหวจำกัดเสรีภาพในฮ่องกง รวมถึงประเด็นการค้า ทั้งนี้ท่าทีของอเมริกามีความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ หวังได้รับชัยชนะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยในศึกเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน

อีกหนึ่งบ่อเกิดแห่งความตึงเครียดก็คือไต้หวัน ด้วยจีนยกระดับความเคลื่อนไหวด้านการทหารรอบๆเกาะประชาธิปไตยที่ทางจีนอ้างว่าเป็นดินแดนอำนาจอธิปไตยของพวกเขา โดยส่งฝูงบินรบและเรือรบทำการซ้อมรบใกล้ๆไต้หวัน

รายงานของเพนตากอน บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารปี 2019 ระบุว่ากองทัพจีนยังคงเดินหน้าเสริมความพร้อมของพวกเขาเอง เพื่อขัดขวางการประกาศเอกราชของไต้หวัน และจะทำการรุกรานถ้ามีความจำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น