เอเอฟพี – รัฐบาลภูฏานเลิกบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่เป็นการชั่วคราว โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นแม้การสูบบุหรี่จะถือเป็นบาปในประเทศซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และมีกฎหมายคุมเข้มยาสูบมาตั้งแต่ปี 1729
รัฐเล็กๆ กลางเทือกเขาหิมาลัยซึ่งมีประชากรราว 750,000 คนห้ามการผลิต, จำหน่าย, และแจกจ่ายบุหรี่ตั้งแต่ปี 2010 แต่ยังอนุญาตให้ผู้สูบบุหรี่สามารถนำเข้ายาสูบได้ในปริมาณจำกัด และต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมาก ซึ่งกฎเหล็กนี้มีส่วนทำให้ตลาดมืดค้าบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามาจากอินเดียเฟื่องฟู
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลภูฏานสั่งปิดพรมแดนกับอินเดียเมื่อช่วงต้นปีนี้เพื่อสกัดการเข้ามาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลให้ราคายาสูบที่ลักลอบขายกันอยู่แพงขึ้นถึง 4 เท่าตัว ขณะที่ผู้ค้าบางคนก็ยังพยายามลักลอบนำเข้าไปขายอยู่
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. เจ้าหน้าที่ชาวภูฏานซึ่งดูแลเรื่องสินค้านำเข้าจากอินเดียมีผลตรวจไวรัสโคโรนาเป็นบวกที่เมืองพุนต์โชลิง (Phuentsholing) ซึ่งกรณีนี้มีส่วนทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โลเตย์ เชอริง ต้องทบทวนนโยบายเสียใหม่
รัฐบาลภูฏานประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามจำหน่ายบุหรี่ที่ใช้มานาน 10 ปี เพื่อลดความต้องการบุหรี่ที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในทางทฤษฎีเชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อข้ามพรมแดนได้
การผ่อนคลายกฎซึ่งมีผลชั่วคราวนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถหาซื้อบุหรี่ได้จากร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีของรัฐบาล และทำให้บุหรี่ถูกจัดลงบัญชีสินค้าจำเป็นในช่วงที่ประเทศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์
รัฐบาลภูฏานยังให้เหตุผลด้วยว่า การห้ามคนติดบุหรี่ไม่ให้สูบบุหรี่ทั้งที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านตลอดเวลานั้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาภายในครอบครัวได้
“นี่ไม่ใช่เวลาที่จะบำบัดรักษาคน หรือบังคับให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” นายกฯ ภูฏานซึ่งยังคงยึดอาชีพเป็นแพทย์รักษาคนไข้ในช่วงวันหยุด ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น