xs
xsm
sm
md
lg

“มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่” โครงการดีๆ เพื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพราะบุหรี่นั้นมีสารพิษ และเป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งของคนสูบและผู้อื่น สสส. ร่วมเดินหน้าโครงการ “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ 100%” ขยายผลสำเร็จ 164 สถาบันอุดมศึกษา พร้อมป้องกันไม่ให้เกิด “นักสูบหน้าใหม่” ชู ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หนึ่งต้นแบบ “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่”

จากข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ในเยาวชนปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เยาวชนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น  อายุเริ่มสูบน้อยลง โดยกลุ่มอายุ 19-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จากร้อยละ 20.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 20.4 ในปี 2560

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ให้ข้อมูลว่า เหตุปัจจัยประการหนึ่งซึ่งทำให้จำนวนนักสูบรุ่นเยาว์เพิ่มมากขึ้น ก็เนื่องมาจากอุตสาหกรรมยาสูบที่ใช้กลยุทธ์ทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่ผลสำรวจการศึกษาตลาดในธุรกิจยาสูบ พบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ร้อยละ 45 มีจำนวนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 30.5

นพ.คำนวณ   อึ้งชูศักดิ์
“เยาวชนทุก 5 คน จะมีสูบบุหรี่อยู่ 1 คน ต่างกับกลุ่มอายุอื่นๆ ที่มีแนวโน้มลดลง แต่กลุ่มเยาวชนไม่ลดลงและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วยและที่สำคัญ เยาวชนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเริ่มต้นสูบบุหรี่ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษา โดยอุตสาหกรรมยาสูบมักทำการตลาดส่งเสริมการขายและโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงเยาวชนง่าย และเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า  บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่บุหรี่ มันคือตัวช่วยเลิก แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นความเข้าใจผิดๆ ที่จะทำให้คนติดบุหรี่ไฟฟ้า และต่อไปก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะใช้บุหรี่จริง”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข้อมูลเชิงสถิติที่กังวล ก็ใช่ว่าจะไม่มีความหวังแต่อย่างใด เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สสส.ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและสังคม ได้ริเริ่มและดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาและภาคีเครือข่าย เพื่อลดปัญหานักสูบหน้าใหม่ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมแล้ว 164 แห่ง และมีแผนที่ขยายไปให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกมหาวิทยาลัยที่มีทั้งหมดราว 250 สถาบัน


จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กล่าวด้วยความยินดีว่าเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง เพราะโดยปรัชญาของทุกมหาวิทยาลัย คือ ต้องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม และทุกมหาวิทยาลัยก็ตระหนักดีว่า  บัณฑิตจะต้องมีสุขภาพที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะฉะนั้น สสส. จึงมีความรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งซึ่งได้ช่วยสนับสนุนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น

“ในปี 2564 สสส. เตรียมยกระดับโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้เท่าทันเรื่องผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่มากขึ้น ส่งเสริมการจัดตั้งระบบคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู ผู้ต้องการเลิกบุหรี่ให้ต่อเนื่อง พร้อมขยายการทำงานไปยังมหาวิทยาลัยที่ไม่มีหลักสูตรทางการแพทย์มากขึ้น เช่น  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ และในอนาคต เราอาจจะขยายจากเรื่องมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพทั้งหมด รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ”

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ จ.สมุทรปราการ นับเป็นหนึ่งต้นแบบความสำเร็จที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากบุคลากรและนักศึกษา ซึ่งให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามการจัดพื้นที่ปลอดควันบุหรี่

รศ.ดร.อุไรพรรณ    เจนวาณิชยานนท์
ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ “รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์” กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่  โดยกำหนดให้อาคารทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ จัดโซนสูบบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ผ่านแกนนำนักศึกษา และให้บริการคลินิกฟ้าใส  เพื่อช่วยบุคลากร เจ้าหน้าที่ นักศึกษาที่ต้องการเลิกบุหรี่ให้เลิกสูบได้สำเร็จ โดยให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และส่งต่อเข้าสู่ระบบการบริการสุขภาพในกรณีที่มีปัญหากระทบต่อสุขภาพ หรือเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ โดยดึงแกนนำนักศึกษาเข้าร่วมช่วยบำบัดรุ่นพี่รุ่นน้องให้เลิกบุหรี่อย่างเต็มใจและเป็นระบบ

“ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ ‘มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่’ กับ สสส. นักศึกษาของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบมากถึงร้อยละ 90 โดยพบปริมาณก้นบุหรี่ในห้องน้ำลดลงมาก มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง ช่วยกันสานพลังชวนกัน ลด ละ เลิก บุหรี่มากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านการบังคับ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการทำกิจกรรม สร้างหลักสูตร และการออกแบบพื้นที่ห้ามสูบและสูบชัดเจน จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น” รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ กล่าวย้ำถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่า เป้าหมายการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ 100%” ยังต้องเดินทางต่อไปอีก
แต่สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ ต้องยอมรับว่า โครงการดังกล่าวนี้ได้เดินทางมาไกลมากแล้ว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน แต่เพื่อลูกหลานเยาวชนจะได้เติบโตไปอย่างมีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่มีคุณภาพให้กับสังคมส่วนรวมต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น