คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
เมื่อวันก่อน เพื่อนนักเตะอาวุโสของผมมาบ่นให้ฟังว่า “เล่นบอลต้องไว้ใจกัน จ่ายตามช่อง ไม่ใช่จ่ายบอลตามชื่อ” ผมก็ว่า “นั่นแหละ ปัญหาของฟุตบอลในหมู่คนไทย ไม่ว่ายุคไหน หนุ่มหรือแก่ เล่นกันแค่พวกตนเอง 2-3 คน ที่เหลือแค่ตัวประกอบ” ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่ฟุตบอลสโมสรอาชีพหรือทีมชาติไทยแน่นอน เพราะสมัยนี้พัฒนาไปมากแล้ว แต่หมายถึงเกมฟุตบอลสมัครเล่นที่แพร่หลายนิยมเล่นเพื่อออกกำลังกายกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะทีมอาวุโส มันเป็นเช่นนี้เหมือนๆกันหมด สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนในชาติ ว่าทำไมการบริหารประเทศจึงตกอยู่ในกำมือของคนกลุ่มเล็กๆเสมอมา การรับฟังความเห็นและผลประโยชน์ของประชาชนทั่วประเทศถูกละเลย แต่กลับเป็นไปเพื่อตนเองและพวกพ้องก่อนอื่นใด
ฟุตบอลเป็นเกมที่แต่ละทีมประกอบด้วยผู้เล่น 11 คน แต่หากสังเกตให้ดี ลูกบอลจะไปอยู่กับคนเพียง 2-3 คนในทีมที่ส่งบอลให้กันเอง แม้จะมีช่องทาง มีโอกาสให้คนอื่นเห็นๆ ก็เมินซะดื้อๆ เพราะนักเตะประเภทนี้มั่นใจว่ารอจ่ายให้ เพื่อนซี้ ย่อมดีกว่าจ่ายบอลให้คนอื่นที่ตนไม่ให้ความไว้วางใจ นอกจากนั้น ตนมักจะได้บอลกลับคืนมาเล่นอีกด้วย เรียกว่าสนุกกันในวงแคบๆแค่นั้น ไม่แบ่งปันให้คนอื่นๆในทีมอย่างทั่วถึง
นักเตะบางคนแม้วัยเลย 40 ปีไปแล้ว ยังมัวเฝ้าไล่ล่าตามหาความฝันที่ขาดหายไปในวัยเด็ก ยังเพียรพยายามโชว์เก่ง โชว์สเต็พ ครองบอลอยู่นั่น ซึ่งบางครั้งบางจังหวะรีบจ่ายบอลให้เพื่อน เล่นแบบ วัน-ทัช ฟุตบอล อาจดีกว่า บางคนเคยเป็นนักเตะในระดับสูง เคยติดทีมชาติ เคยเล่นกับทีมสโมสร ทีมมหาวิทยาลัย หรือทีมโรงเรียน ก็ยังคิดอยู่เสมอว่า ตนมีฝีเท้าที่เหนือกว่าคนอื่นๆ ต้องเป็นผู้นำชั่วกาลนาน แต่ความจริง เมื่อวันเวลาผ่านไป พวกเขาอาจร่วงโรย ในวันนี้ ทักษะ ฝีเท้า ความเร็ว เรี่ยวแรง และความคิดอ่าน อาจด้อยกว่าคนที่ไม่เคยเล่นฟุตบอลในระดับสูงเท่ากับตนด้วยซ้ำ
บางคนแม้ยังมีฝีเท้าดีอยู่ก็ตาม แต่ในจิตใจขาดความคิดแบ่งปัน ในอีกมิติหนึ่ง ผมก็ยังเห็นว่า ฟุตบอลในวัยอาวุโสควรเล่นเพื่อให้ได้ออกกำลังกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่มุ่งเพียงเพื่อความเก่ง ความเป็นเลิศ เล่นที่ไหนต้องหวังชัยชนะไปหมด หากเป็นอย่างนั้น มันก็จะมีตัวชัวร์ขาประจำเพียงไม่กี่คน ในขณะที่คนอื่นได้แค่ยืนดูเขาเล่นอยู่ข้างสนาม ถึงแม้จะได้ลงไปวิ่งเล่นบ้าง ก็อาจจะไม่ได้สัมผัสบอลเลย ให้เขาเป็นแค่ตัวประกอบ แล้วพวกเขาจะเสียเวลามาทำไมกัน
ผมรู้สึกชื่นชม สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนตอ.) ที่มีวิธีการสรรหาคนมาเป็น คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ โดยผลัดเปลี่ยนไล่เรียงไปตามรุ่นต่างๆ ให้ดำรงตำแหน่งรุ่นละ 1 ปี ไม่มีการผูกขาดตะบี้ตะบันยึดครองสมาคมฯ ตลอดกาล ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีมาก เป็นการสอนให้เรารู้จักแบ่งปัน ปล่อยมือจากอำนาจและถ่ายทอดไปสู่รุ่นใหม่ๆ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะมีองค์กรไหนอีกที่ยึดถือวิธีการที่ดีเช่นนี้ เพราะเราจะเห็นแต่องค์กรที่ผู้คนต่างแย่งชิงเพื่อกุมบังเหียน หรือบางคนเมื่อได้ลิ้มรสของอำนาจแล้วยังเกิดเสพติดไม่เคยคิดปล่อยมือให้คนรุ่นใหม่ๆได้หมุนเวียนกันเข้ามาบริหารบ้าง
ทัศนคติของคนไทยที่ไม่เผื่อแผ่ แบ่งปัน ชอบชงเองกินเองและครอบครองผูกขาดกันในหมู่พวกพ้องไม่กี่คน มันแพร่กระจายไปในทุกๆวงการ นั่นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน เพียงแค่ประชาชนแสดงนโยบายเสนอตัวมาให้ประชาชนทั้งประเทศได้เลิอกเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ และประชาชนทั่วประเทศอีกนั่นแหละที่เลือกตัวแทนมาออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับทุกคน จึงดูยุ่งยาก ติดขัด พิกล พิการ อยู่ร่ำไป
เพราะเราดันมีกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คนที่ถือสิทธิ์ อำนาจ เหนือมนุษย์ บังคับ สั่งการทหาร ตำรวจ ข้าราชการ องคาพยพกระบวนการยุติธรรม ยึดครองอำนาจเป็นของตนในคราบประชาธิปไตยปลอมๆ คนพวกนี้ใช้กฎหมายที่มี และ ไม่มี เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องดื้อๆ เอาเปรียบ กดหัว ข่มขู่ประชาชนเจ้าของประเทศ จน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ต้องรวมพลังประท้วงกันทั่วประเทศเพื่อขับไล่ ซึ่งผมว่า มันก็ถูกของพวกเขาแล้ว เพราะประเทศไทยก็เป็นสนามบอลของพวกเขาเต็มๆ จะให้แค่ยืนดูพวกเขาเล่นกันเองได้ยังไง ผมเชื่อว่า ปัญหาดังกล่าวมันก็มีต้นรากมาจากวัฒนธรรม “จ่ายบอลตามชื่อ ไม่ยอมจ่ายบอลตามช่อง” นี่แหละครับ