โดนัลด์ ทรัมป์ ชื่นชอบมากที่จะเล่าเรื่องซึ่งเขายังคงเป็นฝ่ายมีชัยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ได้ในที่สุด ถึงแม้ทุกๆ คนต่างบอกกันว่าเขาจะไม่มีทางชนะได้หรอก ทว่ามาถึงตอนนี้เขาจำเป็นต้องสร้าง “อัศจรรย์” เช่นนั้นอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกที่ช่างสงสัยข้องใจ ยังคงผิดพลาดเป็นครั้งที่ 2 ในวันโหวตลงคะแนน 3 พฤศจิกายนนี้
ไม่ใช่คนที่ใครๆ ก็นิยมชมชอบ
พวกนักทำโพลสำรวจความคิดเห็นกำลังอยู่ในอาการผวามากกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน นี่ไม่ใช่เพียงแค่เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัจจัยตัวแปรมากมายเหลือเกินเท่านั้น
ฤดูเลือกตั้งปีนี้เร่งเครื่องเข้าเกียร์สูง ในช่วงเวลาเดียวกับที่โรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มต้นแพร่ลามอย่างรุนแรงไปทั่วสหรัฐอเมริกา โดยนับถึงตอนนั้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 170,000 คน และกำลังผลักดันเศรษฐกิจที่กำลังบูมก่อนหน้านี้ ให้หลุดขอบตกลงเหวลึก
ไม่เพียงเท่านั้น อเมริกายังมีระยะเวลายาวนานเป็นเดือนๆ ที่เกิดการประท้วงขนาดใหญ่โตเพื่อต่อต้านคัดค้านการเหยียดผิว ถือได้ว่าสหรัฐฯเผชิญกับกระแสความตระหนักรับรู้ครั้งประวัติศาสตร์ในเรื่องความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติผิวพรรณ และเรื่องพฤติกรรมโหดเหี้ยมของตำรวจ
และเนื่องจากความจำกัดสืบเนื่องจากโควิด-19 ผู้ท้าชิงอย่าง โจ ไบเดน จึงแทบไม่ได้ออกมาจากบ้านพักของเขาในรัฐเดลาแวร์เอาเลย
แต่แม้มีความพลิกผันขึ้นๆ ลงๆ กันแรงๆ เหล่านี้ ก็มีความเห็นพ้องกันอย่างกว้างขวางว่า ทรัมป์ไม่มีโอกาสเลยที่จะชนะคะแนนแบบป็อปปูลาร์โหวต (popular vote คะแนนที่นับจากเสียงโหวตของผู้ออกเสียงทุกๆ เสียง) ซึ่งนี่ก็เป็นอย่างเดียวกับเมื่อปี 2016 นั่นแหละ
ในเรื่องป็อปปูลาร์โหวตนั้น เฉพาะรัฐขนาดใหญ่ๆ ที่เป็นฐานเสียงอันมั่นคงของพรรคเดโมแครต อย่าง แคลิฟอร์เนีย และ นิวยอร์ก ก็มีคะแนนโหวตเหนือกว่าเป็นล้านๆ เสียงพร้อมมอบให้แก่ผู้สมัครของเดโมแครตอยู่แล้ว นอกจากนั้น ทรัมป์ยังถือเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมชมชอบน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยได้เรตติ้งการยอมรับผลงาน ติดแหง็กต่ำเตี้ยอย่างยาวนานในระดับ 40% เศษๆ
เดวิด บาร์เกอร์ (David Barker) อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) บอกว่า โอกาสที่ทรัมป์จะชนะป็อปปูลาร์โหวต “อาจจะอยู่ที่ 1 ต่อ 100” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ใครจะชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้นตัดสินกันด้วยจำนวนคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ซึ่งมาจากการโหวตของผู้ออกเสียงในแต่ละรัฐเป็นรายรัฐ ไม่ใช่จากจำนวนรวมของคะแนนเสียงทั้งหมดที่ได้จากผู้ออกเสียงทั่วทั้งประเทศ
อย่างเมื่อปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน ได้คะแนนเสียงจากทั่วประเทศมากกว่าทรัมป์เกือบๆ 3 ล้านเสียง ทว่าเธอยังคงเป็นฝ่ายแพ้ เนื่องจากได้คะแนนของคณผู้เลือกตั้งน้อยกว่าทรัมป์เยอะ นั่นคือมีแค่ 227 เสียง ขณะที่ทรัมป์ได้ไป 304 เสียง
ทรัมป์จะสามารถพลิกสถานการณ์ได้อีกครั้งไหม?
ทรัมป์มักกล่าวอ้างอยู่บ่อยๆ ว่ามีโพลที่จัดทำแบบเป็นการส่วนตัวภายใน โดยโพลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นฝ่ายนำและจะชนะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง
“ตอนนี้เรากำลังนำอยู่ในโพลจำนวนมากจนกระทั่งพวกเขาปฏิเสธไม่ยอมนำออกมาเผยแพร่” ทรัมป์พูดเช่นนี้อีกเมื่อวันพฤหัสบดี 20 ส.ค.) ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คะแนนเฉลี่ยล่าสุดจากบรรดาโพลระดับชาติซึ่งทำกันอย่างเปิดเผย ที่รายงานโดยเว็บไซต์ fivethirtyeight.com นั้น ทรัมป์มีคะแนนตามหลังอยู่ที่ประมาณ 43% ขณะไบเดนอยู่ที่ 51%
ทางด้านโมเดลของนิตยสารอีโคโนมิสต์ ซึ่งมีการอัปเดตเป็นรายวัน เวลานี้ให้ ไบเดน มีโอกาส 88% ที่จะชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนทรัมป์มีอยู่แค่ 12% ในส่วนที่เป็นการคาดการณ์ผลคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง ก็ทำนายว่าไบเดนชนะแบบดินถล่มได้ไป 343 เสียง โดยทรัมป์มเพียง 195 ขณะที่ได้เพียง 270 เสียงก็คือชนะแล้ว
พวกชาวพรรครีพับลิกันยังคงพูดกันแบบมองโลกแง่สดใสว่า เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแรงในระยะ 2 เดือนข้างหน้านี้ รวมทั้งอาจจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ออกมาใช้กันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
หลายๆ คนพูดแบบขำๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ไบเดนจะก่อวินาศกรรมใส่ตัวเอง นักการเมืองวัยดึกผู้นี้เป็นที่เลื่องลือเรื่องการปล่อยไก่ทำอะไรผิดมารยาททางสังคมได้อย่างเหลือเชื่อมาก และจวบจนถึงเวลานี้ยังคงแทบไม่ได้ถูกเจาะจี้เจอคำถามยากๆ เอาเลยจากพวกสื่อมวลชน
ปัจจัยที่ทำนายทายทักได้ยากยิ่งกว่านี้อีก ได้แก่เรื่องการแทรกแซงจากภายนอก หรือที่เรียกกันว่า “เรื่องเซอร์ไพรซ์เดือนตุลาคม” อย่างเช่นเรื่องแผนอุบายของฝ่ายรัสเซียที่สั่นคลอนการรณรงค์หาเสียงของคลินตันในปี 2516 และเสนอความช่วยเหลือให้แก่ฝ่ายทรัมป์
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่ไม่สามารถช่วยให้ทรัมป์พลิกมาเป็นฝ่ายมีชัยได้หรอก นี่เป็นความเห็นของแอลเลน ลิชต์แมน (Allan Lichtman) อาจารย์ประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน ซึ่งโด่งดังจากวิธีการทำนายโดยใช้ “กุญแจ 13 ดอกไขเข้าสู่ทำเนียบขาว” (13 Keys to the White House) ที่สามารถทำนายว่าใครจะเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีได้อย่างถูกต้องทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา รวมทั้งเมื่อครั้งปี 2016 ด้วย
“ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาท่ามกลางท้องฟ้าที่สดใส คือสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ แต่มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำทำนายก่อนหน้านี้หรอก” ลิตช์แมน กล่าว โดยที่ “กุญแจต่างๆ” ซึ่งเขานำมาคิดคำนวณนั้น เป็นพวกข้อพิจารณาต่างๆ ทางการเมือง ไม่ใช่ผลโพล
“แม้กระทั่งถ้าหากเศรษฐกิจกลับมากระเตื้องดีขึ้น ก็ไม่น่าที่จะทำให้กุญแจดอกนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงไป เรานั้นกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีเลือกตั้ง และอัตราการเติบโตติดลบหนักมาก จนกระทั่งอีกสักไตรมาสหนึ่งก็ไม่น่าอย่างยิ่งที่จะสามารถพลิกผันคำทำนายได้” เขากล่าว
โรดแมป
พวก “นายพล” ในทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ มองดูแผนที่แล้วยังคงมองเห็นเส้นทางต่างๆ จำนวนหนึ่ง ทั้งนี้การเอาชนะคู่แข่งในเขตบางเขตหรือพื้นที่บางพื้นที่ ซึ่งมีผลสะเทือนรุนแรงจนสามารถทำให้เป็นผู้ชนะของรัฐและกวาดคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นๆ ไปทั้งหมด จะยังคงสามารถนำเอาคนของพวกเขาเข้านั่งในทำเนียบขาวอย่างปลอดภัยได้อีกสมัย
เฉพาะพวกรัฐที่ทรัมป์สบายใจได้ว่าปลอดภัยอยู่ในกำมือของเขาแน่ๆ รวมกันแล้วยังคงห่างไกลไม่เพียงพอที่จะได้เสียงคณะผู้เลือกตั้งถึง 270 เสียง ซึ่งจะต้องได้เพื่อเป็นผู้ชนะ
ดังนั้นมันจึงเป็นอย่างที่เคยเป็นมาแทบทุกครั้ง ในความเป็นจริงแล้ว การเลือกตั้งจะหดแคบลงมาเหลือเพียงแค่การพยายามเอาชนะใจผู้ออกเสียงในรัฐใหญ่จำนวนหยิบมือหนึ่งที่ยังอยู่ในอาการลังเลไม่ตัดสินใจจะเทคะแนนไปทางฝั่งไหน หรือที่เรียกกันว่ารัฐ “สวิง สเตท” (swing states) ตลอดจนอาจจะรวมไปถึงผู้ออกเสียงกลุ่มย่อมๆ ลงมากระจัดกระจายออกไป
“เราจำเป็นที่จะต้องชนะที่วิสคอนซิน หรือ มิชิแกน หรือไม่ก็เพนซิลเวเนีย เพื่อทึ่จะชนะเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง” บิลล์ สเตปียน ผู้จัดการทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์บอกกับพวกผู้สื่อข่าว
“ถ้าเราชนะรัฐใดรัฐหนึ่งใน 3 รัฐนี้ บวกกับรัฐอื่นๆ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เคยชนะในปี 2016 โจ ไบเดน ก็จะต้องอยู่ในห้องใต้ถุนของเขาต่อไปแน่นอน”
ด้านอาจารย์บาร์เกอร์มองว่า ทรัมป์จำเป็นจริงๆ ที่จะรักษารัฐสวิงสเตทที่เขาเคยได้ไว้เมื่อปี 2016 อันได้แก่ วิสคอนซิน, มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย, ฟลอริดา, นอร์ทแคโรไลนา, และโอไฮโอ
“เขาสามารถที่จะเสียรัฐพวกนี้ไปแห่งใดแห่งหนึ่ง มันจะยังไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่เสียถึง 2”
อย่างไรก็ดี ผลโพลหลายๆ เจ้าในเวลานี้ต่างแสดงว่า ไบเดนนำในทุกๆ สมรภูมิรัฐสวิงสเตทเหล่านี้ และกระทั่งมีคะแนนดีจนคุกคามทรัมป์ในหลายๆ ที่ เป็นต้นว่า เทกซัส ซึ่งทรัมป์เคยคว้าชัยชนะไปอย่างง่ายดายเมื่อปี 2016
เมื่อขอให้ลองพูดถึงภาพรวมของเส้นทางของทรัมป์ ในการฝ่าฟันผ่านดงกับระเบิด เพื่อคว้าคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง อาจารย์บาร์เกอร์ก็ตอบสั้นๆ ว่า “ตีบตันมาก”
(เก็บความจากเรื่อง Can Trump thread the electoral college needle again? It'll be tough ของสำนักข่าวเอเอฟพี)