รอยเตอร์ – สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 13 จาก 15 ประเทศคัดค้านข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ให้นำมาตรการคว่ำบาตรนานาชาติกลับมาใช้กับอิหร่านอีกครั้งวานนี้ (21 ส.ค.) โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ หมดสิทธิ์ในการขอใช้กลไก ‘snapback’ ซึ่งเป็นกระบวนการตามข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่าน เนื่องจากเป็นฝ่ายถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ไปเมื่อ 2 ปีก่อน
ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เสนอให้ยูเอ็นเริ่มนับถอยหลัง 30 วันไปสู่การฟื้นคืนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งรวมถึงมาตรการปิดล้อมด้านอาวุธ (arms embargo) สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงชาติพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ อย่างอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เบลเยียม ตลอดจนรัสเซีย, จีน, เวียดนาม, ไนเจอร์, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, แอฟริกาใต้, อินโดนีเซีย, เอสโตเนีย และตูนิเซีย ก็ได้ร่างหนังสือคัดค้านอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรออกมาทันที
รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาอิหร่านว่าละเมิดเงื่อนไขแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) ที่ทำร่วมกับมหาอำนาจ 6 ชาติเมื่อปี 2015 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านแลกกับการผ่อนคลายคว่ำบาตรให้
ทรัมป์ วิจารณ์ข้อตกลงฉบับนี้ว่าเป็น “ดีลที่แย่ที่สุด” และประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวเมื่อปี 2018
นักการทูตยูเอ็นชี้ว่า รัสเซีย, จีน และอีกหลายประเทศคงไม่ยอมฟื้นบทลงโทษอิหร่านตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ขณะที่ พอมเพโอ ก็ขู่ย้ำกับมอสโกและปักกิ่งวานนี้ (21) ว่าสหรัฐฯ จะไม่นิ่งเฉยหากทั้ง 2 ชาติ ‘วีโต’ การนำมาตรการคว่ำบาตรยูเอ็นกลับมาใช้ใหม่
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ไม่รับญัตติของสหรัฐฯ ซึ่งเสนอให้ขยายมาตรการปิดล้อมด้านอาวุธต่ออิหร่าน โดยรัสเซียและจีนนั้นยกมือค้านเต็มประตู, 11 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกถาวรอย่างฝรั่งเศส, เยอรมนี และอังกฤษ งดออกเสียง ส่วนฝ่ายที่โหวต ‘เยส’ มีเพียงสหรัฐฯ กับสาธารณรัฐโดมินิกันเท่านั้น
สำหรับครั้งนี้ สาธารณรัฐโดมินิกันยังไม่ได้ยื่นหนังสือแจ้งไปยังคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นว่าจะมีจุดยืนอย่างไรต่อการใช้กลไก snapback
ภายใต้กระบวนการซึ่งสหรัฐฯ ยืนยันว่าได้เริ่มขึ้นแล้ว มาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นทั้งหมดต่ออิหร่านจะถูกนำกลับมาใช้ในเวลาเที่ยงคืน GMT ของวันที่ 19 ก.ย. หรือเพียงไม่กี่วันก่อนที่ ทรัมป์ จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติประจำปี
มติรับรองข้อตกลงนิวเคลียร์ของคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อปี 2015 ระบุเอาไว้ว่า หากไม่มีรัฐสมาชิกใดยื่นร่างญัตติเพื่อขอขยายมาตรการผ่อนคลายคว่ำบาตรภายใน 10 วันหลังจากที่มีการร้องเรียนเรื่องการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง (non-compliance complaint) ประธานคณะมนตรีความมั่นคงในเวลานั้นจะต้องเป็นผู้กระทำขั้นตอนดังกล่าวภายใน 20 วันที่เหลือ
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรมีสิทธิ์ที่จะวีโตร่างญัตตินี้
อย่างไรก็ตาม มติในปี 2015 ยังระบุไว้ด้วยว่า คณะมนตรีความมั่นคง “ต้องพิจารณาความเห็นของรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบด้วย” ซึ่งเท่าที่มีกระแสคัดค้านสหรัฐฯ อย่างล้นหลามนี้ นักการทูตยูเอ็นบางคนเชื่อว่าอินโดนีเซียและไนเจอร์ซึ่งเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงตามวาระในเดือน ส.ค. และ ก.ย. อาจจะไม่เสนอร่างญัตติเพื่อเข้าสู่การพิจารณาเลยก็เป็นได้
“เนื่องจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงส่วนใหญ่ลงความเห็นหนักแน่นว่า กระบวนการ snapback ยังไม่ได้ถูกริเริ่ม ในฐานะประธานพวกเขาจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอร่างญัตติขึ้นมา” นักการทูตผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งระบุ
พอมเพโอ และ ไบรอัน ฮุก ทูตพิเศษสหรัฐฯ สำหรับกิจการอิหร่าน ส่งสัญญาณว่าพวกเขาคาดหวังว่าอินโดนีเซียและไนเจอร์จะเสนอร่างญัตติเพื่อเข้าสู่การโหวต แต่สหรัฐฯ ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีก คืออาจจะเสนอร่างญัตติขึ้นมาเอง หรือไม่ก็ล็อบบี้ให้สาธารณรัฐโดมินิกันเป็นผู้เสนอ
สหรัฐฯ อ้างว่ามีสิทธิ์ใช้กลไก snapback ได้ เนื่องจากมติของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นว่าด้วยข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านยังคงระบุว่าสหรัฐฯ เป็นภาคีในข้อตกลงอยู่ อย่างไรก็ตาม อังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้ออกคำแถลงร่วมเมื่อวันพฤหัสบดี (20) ว่า “การตัดสินใจหรือการกระทำที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ หรือผลที่จะตามมา ย่อมไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมาย”