เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันพุธ (19 ส.ค.) ว่า ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างปรเทศ จะใช้กลไกอันเป็นที่ถกเถียงหนึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายรือฟื้นมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติที่เคยกำหนดเล่นงานอิหร่าน โหมกระพือความไม่ลงรอยกับบรรดาพันธมิตรยุโรป ซึ่งอาจก่อผลกระทบใหญ่หลวงต่อข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
พอมเพโอ จะเดินทางไปยังนิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (20 ส.ค.) เพื่อแจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทราบว่าสหรัฐฯ จะใช้กลไกลที่เรียกว่า snapback เพื่อให้สหประชาชาติฟื้นมาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้ต่ออิหร่านก่อนเกิดข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ในขณะที่อังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนี้
“มันคือ snapback มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติใดๆ” ทรัมป์บอกกับพวกผู้สื่อข่าว แม้มาตรการนี้ไม่เคยถูกใช้มาก่อนก็ตาม
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ประสบกับความพ่ายแพ้อย่างน่าละอายในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากล้มเหลวในการรวบรวมเสียงสนับสนุนสำหรับมติหนึ่ง ที่พวกเขาต้องการขยายมาตรการปิดล้อมทางอาวุธที่กำหนดเล่นงานอิหร่าน
snapback มีเป้าหมายคือรื้อฟื้นทุกมาตรการคว่ำบาตรนานาชาติที่เคยกำหนดเล่นงานอิหร่านที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนหนึ่งในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำไว้กับเหล่ามหาอำนาจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันเตหะรานจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งมันก็คุกคามข้อตกลงนิวเคลียร์ประวัติศาสตร์ ที่สหรัฐฯ, จีน, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, อังกฤษและเยอรมนี ลงนามร่วมกับอิหร่านในปี 2015
ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลง ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (JCPOA) ในปี 2018 และกลับมาบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่กำหนดเล่นงานอิหร่านอีกรอบ ส่วนหนึ่งในแผนรณรงค์กดดันขั้นสูงสุดต่ออิหร่าน
แม้ว่าถอนตัวออกไปแล้ว แต่อเมริกาอ้างว่า ในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงดั้งเดิม พวกเขามีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวในการรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติที่กำหนดเล่นงานอิหร่าน
ทั้งนี้ ในมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2015 ที่ให้การรับรองข้อตกลงดังกล่าวที่เจรจาโดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระบุเอาไว้ว่ารัฐผู้เข้าร่วมมีสิทธิ์คืนสถานะมาตรการคว่ำบาตรเพียงฝ่ายเดียว หากว่าอิหร่านล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างมีนัยสำคัญ
กระบวนการ snapback คือข้อเสนอที่จะนำไปสู่การคืนสถานะมาตรการคว่ำบาตรหลังผ่านพ้น 30 วัน หากในระหว่างนั้น รัสเซีย หรือ จีน ไม่ใช้สิทธิ์วีโต้
ในส่วนของมหาอำนาจยุโรปในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเองก็โต้แย้งคำกล่าวอ้างทางกฎหมายของสหรัฐฯ และเกรงว่าการหวนกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอีกรอบ จะทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์พังครืน ในขณะที่พวกเขากำลังดิ้นรนอย่างหนักในความพยายามปกป้องข้อตกลงนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีเพียงสาธารณรัฐโดมิริกันเท่านั้นที่เข้าร่วมสหรัฐฯ สนับสนุนเสียงเรียกร้องของอเมริกาต่อการขยายมาตรการปิดล้อมทางอาวุธที่กำหนดเล่นงานอิหร่าน ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 18 ตุลาคม
มาตรการปิดล้อมทางอาวุธจะหมดอายุลงภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลง JCPOA และแม้บรรดาประเทศยุโรปได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการหมดอายุของมาตรการปิดล้อมทางอาวุธ แต่ประเด็นหลักที่พวกเขาให้ความสำคัญคือการพิทักษ์ข้อตกลงนิวเคลียร์
การลงมติจะเผยให้เห็นว่าสหรัฐฯจะถูกโดดเดี่ยวมากน้อยแค่ไหนในประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน ณ เวทีสหประชาชาติ ในขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า snapback เสี่ยงฉุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้าสู่วิกฤต