เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีอิบรอฮิม บูบาคาร์ เคตา ของมาลี แถลงในตอนก่อนสว่างของเช้าวันพุธ (19 ส.ค.) ว่าตนยอมลาออกจากตำแหน่งเพื่อหลีกเลี่ยง “การนองเลือด” ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเขาถูกกำลังทหารจับกุมตัวในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจอย่างฉับพลัน ทางด้านพวกผู้นำรัฐประหารก็ออกมาให้สัญญาจะจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นแรมเดือนในประเทศอ่อนแอเปราะบางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้
รัฐบาลของประธานาธิบดีเคตา ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ มาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ทั้งการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน, การทุจริตคอร์รัปชัน และการก่อความไม่สงบอย่างโหดเหี้ยมของกองกำลังอิสลามิสต์ญิฮาด ที่กล่าวอ้างความรับผิดชอบในการสังหารชีวิตผู้คนไปหลายพันคนแล้ว
กองทหารกบฏได้คุมตัวเคตา พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีบูบู ซิสเซ เอาไว้ในตอนบ่ายวันอังคาร (18) จากนั้นก็ขับรถนำทั้งคู่ไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่งในเมืองกาตี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองหลวงบามาโก ที่ทหารกบฏได้เข้ายึดเอาไว้ตั้งแต่ตอนเช้าวันเดียวกัน
มีรายงานว่าฝูงชนที่ชุมนุมรวมตัวกันอยู่บริเวณใจกลางเมืองหลวงเพื่อเรียกร้องให้เคตาลาออก ต่างออกอาการยินดีและส่งเสียงเชียร์ขณะกองทหารกบฏเดินทางตรงไปยังทำเนียบที่พักอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี เพื่อควบคุมตัวประมุขประเทศวัย 75 ปีผู้นี้
ต่อมา ในเวลาหลังเที่ยงคืนย่างเข้าวันพุธไม่นานนัก เคตาได้ปรากฏตัวในการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ของรัฐ โดยมีสีหน้าท่าทางเงียบสงบ เพื่อประกาศการยุบเลิกคณะรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้เขากล่าวว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากลาออกโดยให้มีผลบังคับในทันที
“ถ้าหากการตัดสินใจเช่นนี้สามารถสร้างความชื่นชมยินดีให้แก่ส่วนประกอบบางส่วนในฝ่ายทหารของเรา และควรจะได้ยุติการเข้ามาแทรกแซงของพวกเขาแล้ว ผมจะมีทางเลือกอะไรจริงๆ ล่ะ?” เขากล่าว
“(ผมจำเป็นต้อง) ยอมรับเรื่องนี้ เพราะผมไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดใดๆ”
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เคตายังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายคาตีหรือเปล่า โดยสถานที่แห่งนี้ได้เคยเป็นที่พลิกผันชะตากรรมของเขามาครั้งหนึ่งแล้ว นั่นคือเป็นสถานที่ของการก่อการยึดอำนาจรัฐเมื่อปี 2012 ซึ่งทำให้เขาได้ขึ้นมาครองอำนาจ
ทางฝ่ายคณะผู้นำรัฐประหารได้ออกมาปรากฏตัวทางทีวีในอีกหลายชั่วโมงต่อมา โดยให้สัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใน “ระยะเวลาที่สมเหตุสมผล”
รองผู้บัญชาการของกองทัพอากาศมาลี อิสมาเอล วากี แถลงว่าเขากับเพื่อนนายทหารของเขา “ได้ตัดสินใจที่จะเข้าแบกรับความรับผิดชอบต่อหน้าประชาชนและต่อหน้าประวัติศาสตร์”
ทางพวกประเทศเพื่อนบ้านของมาลี ต่างออกมาเตือนว่าไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผ่านอำนาจใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่การรัฐประหารยึดอำนาจกำลังดำเนินอยู่ในวันอังคาร
ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐในแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ได้ออกคำแถลงประณามการยึดอำนาจครั้งนี้ พร้อมกับประกาศจะปิดชายแดนติดต่อกับมาลีทั้งทางบกและทางอากาศ รวมทั้งผลักดันให้ใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตร “พวกพยายามก่อการยึดอำนาจทั้งหมดรวมทั้งหุ้นส่วนและผู้สมคบร่วมมือกับพวกเขา”
ประชาคมที่ประกอบด้วยสมาชิก 15 ชาติรวมทั้งมาลีด้วยแห่งนี้ แถลงด้วยว่าจะระงับไม่ให้มาลีมีส่วนร่วมในองค์กรตัดสินใจต่างๆ ภายใน ECOWAS
ด้านเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียเรส ก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวเคตาและซิสเซทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ขณะที่พวกนักการทูตในนิวยอร์กเผยว่าคณะมนตรีความมั่นคงยูอ็นจะจัดการหารือฉุกเฉินเรื่องมาลีในวันพุธ (19)
ส่วนสหรัฐฯ และฝรั่งเศสต่างฝ่ายต่างออกคำแถลงของตน มีเนื้อหาแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับแสดงท่าทีต่อต้านการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
มาลีซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางราชการ เวลานี้มีฐานะเป็นจุดรวมศูนย์สำคัญที่สุดในความพยายามซึ่งนำโดยฝรั่งเศสเพื่อขับไล่กองกำลังอิสลามิสต์ญิฮาดในเขตซาเฮล และพวกประเทศเพื่อนบ้านต่างมีความปรารถนาที่จะเห็นประเทศนี้สามารถหลีกเลี่ยงไม่ถลำลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายได้ ทั้งนี้เขตซาเฮลหมายถึงพื้นที่แนวขวางแคบๆ ซึ่งทอดยาวตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกผ่านทะเลทรายสะฮารา ไปจรดทะเลแดง เป็นแนวเขตสมมุติที่ตัดแบ่งทวีปแอฟริกาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเหนือและส่วนใต้
เวลานี้ดินแดนผืนใหญ่หลายๆ ผืนของมาลี อยู่นอกการควบคุมของรัฐบาลแล้วด้วยซ้ำไป ขณะที่ประเทศนี้กำลังต่อสู้ดิ้นรนหนักเพื่อรับมือกับการก่อความไม่สงบของกองกำลังอิสลามิสต์ ซึ่งปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2012
พวกนักวิเคราะห์มองว่า ความล้มเหลวในการยุติความขัดแย้งนี้ เป็นเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงความหงุดหงิดไม่พอใจต่อการปกครองของเคตา
ความตึงเครียดทางการเมืองในมาลีได้ปะทุรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนเมษายน หลังจากรัฐบาลจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้เลื่อนช้ามานาน โดยปรากฏว่าผลการเลือกตั้งยังคงเป็นที่โต้แย้งถกเถียงกันอยู่