xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.เบลารุสถูกคนงานโห่ขับไล่ ขณะการนัดหยุดงานประท้วงกำลังขยายตัว ถึงแม้กังวล‘รัสเซีย’ส่งทหารเข้าแทรกแซง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส (ขวา) กล่าวปราศรัยกับคนงานของโรงงาน “มินสก์ วีล แทร็กเตอร์ แพลนต์” ในกรุงมินสก์ เมื่อวันจันทร์ (17 ส.ค.) โดยมีรายงานข่าวว่า เขาถูกพวกคนงานโห่ขับไล่  ทั้งนี้เขายังกล่าวปรามาสกระแสสไตรก์นัดหยุดงานที่ฝ่ายค้านกำลังพยายามจุดขึ้นมาว่า จะมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อยเท่านั้น
เอพี/เอเจนซีส์ – คนงานพากันโห่และตะโกนขับไล่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์
ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส เมื่อวันจันทร์ (17 ส.ค.) ขณะที่เขาไปเยือนโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงมินสก์
ท่ามกลางกระแสการสไตรก์นัดหยุดงานที่แรงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั่วประเทศ ก่อเกิดเป็นแรงกดดันบีบคั้นผู้นำเผด็จการผู้นี้ให้ก้าวลงจากอำนาจที่เขาครอบครองมาตลอดระยะเวลา
26 ปี


ในวันจันทร์ (17) ซึ่งเป็นวันที่ 9 ที่มีผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะที่บริเวณจัตุรัสเอกราช กลางเมืองหลวงของประเทศ เพื่อคัดค้านผลอย่างเป็นทางการของการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่
9 สิงหาคมที่ออกมาว่า ลูคาเชนโกชนะได้เสียงถึง 80% แต่พวกผู้ประท้วงต่างบอกว่ามีการใช้กลโกงมากมาย ตัวผู้นำเบลารุสผู้นี้ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เดินทางมายังโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงมินสก์
เพื่อปราศรัยปลุกปลอบพวกผู้สนับสนุนของเขา
แต่ปรากฏว่าเขากลับเผชิญกับบรรดาคนงานผู้โกรธเกรี้ยว ซึ่งพากันตะโกนว่า “ออกไป”

ลูคาเชนโกบอกกับพวกคนงานว่า “ผมจะไม่มีวันยอมแพ้ต่อแรงกดดัน” จากคลิปวิดีโอที่มีผู้นำมาเผยแพร่ ผู้นำเบลารุสบอกกับพวกคนงานว่า
เขาจะไม่มีวันยอมทำตามเสียงเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ และขณะก้าวออกมาจากเวทีปราศรัย
เขากล่าวว่า “ขอบคุณ ผมได้พูดออกไปทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว คุณสามารถที่จะตะโกนว่า‘ออกไป’ ได้แล้ว”

ในคลิปวิดีโอ ยังได้ยินเสียงลูคาเชนโกพูดว่า “จนกว่าคุณก็จะฆ่าผมทิ้งนั่นแหละ
จะไม่มีการเลือกตั้งอะไรกันอีก”

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาดูเหมือนเขาจะเปลี่ยนใจ
โดยพูดใหม่ว่าเขาออาจจะยินดีส่งมอบอำนาจ ถ้าหากมีการจัดลงประชามติประชาชนทั่วประเทศในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“พวกคุณควรทำให้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ได้รับการยอมรับในการจัดลงประชามติ
และเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว
ถ้าหากคุณต้องการ ก็สามารถจัดทั้งการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้”
เขาบอก

ทว่าข้อเสนอเช่นนี้ของเขาซึ่งดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะซื้อเวลาท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นที่แยแสสนใจของพวกผู้ประท้วงหลายพันคน
ซึ่งยังคงเดินไปยังจัตุรัสเอกราชในตอนค่ำวันจันทร์ เพื่อผลักดันลูคาเชนโกให้ลาออกต่อไป

ทั้งนี้การชุมนุมในคืนวันจันทร์ (17) เกิดขึ้น 1
วันภายหลังการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่โตเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในวันอาทิตย์
ซึ่งมีผู้คนออกมาเข้าร่วมกว่า 1 แสนคน

บรรดาคนงานถือแผ่นป้ายเขียนว่า “ออกไป” ขณะเดินขบวนเมื่อวันจันทร์ (17 ส.ค.) โดยมุ่งไปสู่โรงงาน “มินสก์ วีล แทร็กเตอร์ แพลนต์” ซึ่งประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ไปกล่าวปราศรัย

ผู้คนช่วยกันถือธงชาติเบลารุสเก่า ระหว่างการชุมนุมประท้วงของฝ่ายค้านในกรุงมินสก์ เมื่อวันจันทร์ (17 ส.ค.)
ระหว่างการปราศรัยที่โรงงานในมินสก์ตอนกลางวันวันจันทร์นั้น
ลูคาเชนโกยังกล่าวว่าพวกที่ตั้งใจจะสไตรก์นัดหยุดงาน สามารถที่จะออกไปได้ตามที่พวกเขาต้องการ
แต่เขาเสริมว่าการประท้วงกำลังทำลายเศรษฐกิจของชาติ และบอกด้วยว่าประเทศจะพังครืนถ้าเขาลงจากตำแหน่ง

“พวกคุณบางคนอาจมีความรู้สึกประทับใจว่ารัฐบาลไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้ว
มันพังครืนลงไปแล้ว
แต่รัฐบาลนี้จะไม่มีวันล้มหรอก พวกคุณรู้จักผมดีอยู่แล้ว” ประธานาธิบดีวัย 65
ปีที่เคยเป็นผู้จัดการของฟาร์มรัฐแห่งหนึ่งตะโกนก้อง

ขณะที่เขาพูด
พวกคนงานที่สไตรก์นัดหยุดงานจำนวนกว่า 5,000 คนจากโรงงานแทร็กเตอร์ “มินสก์ แทร็กเตอร์
แพลนต์” ก็เดินขบวนไปตามถนนสายต่างๆ ในเมืองหลวง เป็นการเข้าร่วมกับโรงงานแห่งต่างๆ
ในความควบคุมของรัฐจำนวนมากขึ้นทุกทีตลอดประเทศซึ่งมีประชากร 9.5 ล้านคนแห่งนี้
ซึ่งกำลังพากันผละงาน

พวกคนงานเหมืองในโรงงานโปแตชขนาดมหึมาซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโวลิกอร์สก์
ก็บอกกันว่าพวกเขากำลังเข้าร่วมการสไตรก์ โรงงานขนาดยักษ์ที่มีชื่อว่า “เบลารุสคาลี” แห่งนี้เป็นผู้ผลิตปุ๋ยโปแตชจำนวนราว
1 ใน 5 ของทั่วโลก และเป็นผู้สร้างรายรับระดับท็อปให้แก่ประเทศชาติ

การสไตรก์เหล่านี้มีขึ้นหลังจากทางการใช้วิธีทารุณโหดเหี้ยมในการเข้าสลายการชุมนุมเดินขบวนอย่างสันติภายหลังการเลือกตั้งที่ปะทุขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โดยใช้ทั้งกระสุนยาง, แก๊สน้ำตา, ไม้กระบอง, และระเบิดแสงแฟลช (สตัน บอมบ์) ที่ทำให้เกิดอาการเหมือนตาบอดไปชั่วขณะ ทั้งนี้มีผู้คนราว 7,000 คนถูกตำรวจปราบจลาจลควบคุมตัว
จำนวนมากร้องเรียนว่าถูกซ้อมอย่างไร้ความปรานี
โดยที่มีผู้ประท้วง 1 คนเสียชีวิต และอีกหลายร้อยได้รับบาดเจ็บ

พวกผู้ประท้วงและนัดหยุดงาน
เรียกร้องให้ลูคาเชนโกออกไป และเปิดทางให้ สเวตลานา ติคฮานอฟสกายา ผู้สมัครของฝ่ายค้านในการเลือกตั้งต้นเดือนนี้
เข้าครองอำนาจแทน

ผู้คนช่วยกันถือภาพเหมือนของ สเวตลานา ติคฮอฟสกายา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝ่ายค้าน ระหว่างการชุมนุมเดินขบวนของฝ่ายค้านเมื่อวันจันทร์ (17 ส.ค.) ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงมินสก์
ผู้คนเหล่านี้ยังแสดงความกังวล
เรื่องที่ประธานาธิบดีเผด็จการของเบลรุสได้พูดคุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์
ปูติน แห่งรัสเซียถึง 2 ครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยมองกันว่านี่อาจเป็นความพยายามในการดึงเอาประเทศเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ผู้นี้ส่งกองทหารเข้ามาช่วยเหลืออุ้มชูตัวเอง

ลูคาเชนโกเป็นผู้เปิดเผยเรื่องพูดโทรศัพท์กับปูตินนี้
รวมทั้งบอกว่าผู้นำรัสเซียกล่าวกับเขาว่ารัสเซียเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะให้ความสนับสนุนในกรณีที่เขาเรียกว่ามีการรุกรานของต่างชาติ
โดยที่ลูคาเชนโกอ้างว่าพวกชาติสมาชิกองค์การนาโต้กำลังรวบรวมกำลังทหารเอาไว้ที่ชายแดนติดต่อกับเบลารุส ถึงแม้ทางนาโต้ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างแข็งขัน

พวกเจ้าหน้าที่ของลิทัวเนีย ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นรัฐสมาชิกนาโต้รายหนึ่ง
รวมทั้งเป็นสถานที่ซึ่ง ติคฮานอฟสกายา เดินทางไปลี้ภัยภายหลังออกมาประกาศว่าเธอต่างหากเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งคราวนี้ พากันชี้ไปที่การซ้อมรบซึ่งเบลารุสจัดขึ้นมาอย่างกะทันหันบริเวณชายแดนติดต่อกับลิทัวเนียและโปแลนด์เมื่อวันจันทร์
(17) และเตือนว่ามีสัญญาณน่าเป็นห้วงหลายประการว่ารัสเซียอาจจะกำลังวางแผนใช้สถานการณ์นี้เพื่อเข้าเทคโอเวอร์เบลารุส

ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ คลาสคอฟสกี้
นักเวิคราะห์การเมืองอิสระที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงมินสก์ ให้ความเห็นว่า การสนทนาระหว่างลูคาเชนโกกับปูตินอาจเป็นการสะท้อนถึงการที่วังเครมลินกำลังพิจารณาจะให้ความสนับสนุนผู้นำเบลารุส
เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เขายินยอมให้เบลารุนรวมเข้ากับรัสเซียในรูปแบบสมาพันธรัฐอย่างหลวมๆ
ทั้งนี้ลูคาเชนโกได้เคยลงนามในข้อตกลงเช่นนี้เอาไว้เมื่อราว 20 ปีก่อน ทว่าหลายปีหลังๆ มานี้ได้แสดงท่าทีต่อต้านไม่เอาด้วยแล้ว

สำหรับท่าทีของสหรัฐฯเกี่ยวกับเรื่องเบลารุส เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ถูกผู้สื่อข่าวสอบถามขณะออกจากทำเนียบในวันจันทร์(17) เขากล่าวว่า
สถานการณ์ที่นั่น “แย่มาก” และ “เรากำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด”

ด้านสหภาพยุโรป
ชาร์ลส์ มิเชล
ประธานของคณะมนตรียุโรป ที่เป็นองค์กรของบรรดาผู้นำชาติสมาชิกอียู แถลงว่า ทางผู้นำรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปจะจัดการประชุมซัมมิตฉุกเฉินขึ้นในวันพุธ
(19) เพื่อหารือถึงสถานการณ์ในเบลารุส

ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์
(14) บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูได้ออกคำแถลงร่วมย้ำว่า การเลือกตั้งที่เบลารุสไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีและอย่างยุติธรรม
และมีลงมติให้เริ่มจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่สมควรถูกแซงก์ชั่นจากความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น