เอเจนซีส์ – ในการขึ้นให้การทางออนไลน์ต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเมื่อวานนี้(29 ก.ค)ของซีอีโอใหญ่บริษัทไฮเทคชื่อดัง เฟซบุ๊ก แอมะซอน กูเกิล และแอปเปิล ถูกอนุคณะกรรมาธิการด้านต่อต้านการผูกขาด(antitrust)ประจำสภาล่างสหรัฐฯจวกถึงการเป็นผู้มีอิทธิพลต่อโลกออนไลน์ ทำทั้งเซ็นเซอร์การเมือง แพร่กระจายเฟคนิวส์และดับเครื่องยนต์ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เอบีซีนิวส์ สื่อสหรัฐฯรายงานเมื่อวานนี้(29 ก.ค)ว่า ในการขึ้นให้การครั้งประวัติศาสตร์นานร่วม 5 ชั่วโมงเกิดขึ้นวันพุธ(29) ผู้บริหาร 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯได้แก่ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก จากเฟซบุ๊ก เจฟฟ์ เบโซส จากแอมะซอน ทิม คุ๊ก จากแอปเปิล และ ซันดาร์ พิชัย(Sundar Pichai) จากแอลฟาเบธซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล เป็นปรากฎตัวผ่านทางออนไลน์ของการให้ปากคำ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมาธิการด้านการต่อต้านการผูกขาดของสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯกำลังอยู่ระหว่างการสอบต่อการแข่งขันในตลาดดิจิทัลที่ใช้เวลาสอบสวนนาน 1 ปี สามารถรวบรวมหลักฐานได้ถึง 1.3 ล้านชิ้นและทำการสอบปากคำหลายร้อยชั่วโมง
สื่อสหรัฐฯชี้ว่า การตั้งคำถามเป็นไปตามแนวทางของพรรค ขณะที่สมาชิกพรรครีพับลิกันใช้เวลาตั้งคำถามกับซีอีโอบ.ใหญ่เหล่านี้ถึงสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้มองว่าเป็นความพยายามในการที่จะปิดปากเสียงจากกลุ่มการเมืองคอนเซอร์เวตีฟบนโลกออนไลน์
ซึ่งสส.รัฐฟลอริดาจากพรรครีพับลิกัน เกร็ก สตูบ(Greg Steube) ได้กล่าวหาพิชัยว่า กูเกิลพยายามกดขี่เว็บไซต์การเมืองปีกขวาอเมริกาเนื่องมาจากว่าเขาไม่สามารถหาหาพบบทความอิงการเมืองปีกขวามที่ต้องการได้ และจากเหตุผลที่ตัวเขาไม่ได้รับอีเมลหลังจากได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
ด้าน ส.ส จิม จอร์แดน (Jim Jordan) ออกมากล่าวหาว่า “กูเกิล” ช่วยเหลืออดีตผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯพรรคเดโมแครต ฮิลลารี คลินตัน เมื่อปี 2016 และเรียกร้องให้ซีอีโอแต่ละคนให้คำปฎิญาณว่าจะไม่ช่วย โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งปี 2020
ส่วนคำถามที่มาจากสมาชิกพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นผูกขาดตลาดของตัวเอง และแสดงความวิตกต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และปัญหาการผูกขาดอื่นๆ
โดย ส.ส พรรคเดโมแครต เจอร์โรลด์ แนดเลอร์(Jerrold Nadler) ได้ตั้งประเด็นคำถามการมีอิทธิพลต่อโลกสื่อสารมวลชนของเฟซบุ๊กและกูเกิล โดยเขากล่าวว่า “อุตสาหกรรมข่าวสารและสื่อสารมวลชนในประเทศนี้กำลังตกลงอย่างอิสระทางเศรษฐกิจ” และเสริมต่อว่า “นักข่าวหลายหมื่นคนถูกให้ออกจากงานเมื่อไม่กี่ปีมานี้”
แนดเลอร์กล่าวอีกว่า เหตุผลที่การสื่อสารมวลชนตกอย่างอิสระเป็นเพราะเฟซบุ๊กและกูเกิลถือครองส่วนแบ่งรายได้โฆษณาดิจิทัลไว้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเขาชี้ว่า “ถึงแม่ว่าบริษัทสื่อต่างๆจะผลิตคอนเทนต์ที่มีสาระและคุณค่า แต่เป็นกูเกิลและเฟซบุ๊กทำกำไรจากคอนเทนต์เหล่านั้น”
บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ออกมาปกป้องการทำธุรกิจของตัวเองว่าไม่ได้ใช้อิทธิพลเพื่อการผูกขาด ทำธรุกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างจริงจัง และยังช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อย
โดยทิม คุ๊กออกมาปกป้องว่า แอปเปิลไม่ได้ทำการผูกขาดการตลาดหรือมีอิทธิพลเหนือตลาดในตลาดใดๆที่แอปเปิลทำตลาดอยู่รวมไปถึง ไอโฟน และเขากล่าวไปถึง แอป สโตร์ โดยชี้ว่า ผู้พัฒนาเป็นผู้ได้เงิน 100% ของเงินที่พวกเขาทำได้ คุกสรุปว่า ตัวเขานั้นสนับสนุนต่อการแข่งขันที่ถือเป็นคุณค่าสูงสุดที่จะทำให้เกิดการคิดค้นใหม่ๆขึ้นมา
ด้านพิชัยออกมาปกป้อง โฆษณากูเกิลและเครื่องมือต่างๆว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก โดยเขาอ่านแถลงการณ์เปิดที่เตรียมมาจากที่บ้านว่า “เกือบ 1 ใน 3 ของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กกล่าวว่า หากปราศจากเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ พวกเขาคงจะต้องปิดตัวธุรกิจหรือบางส่วนลงระหว่างวิกฤตโควิด-19”
นอกจากนี้เขายังถูกตั้งคำถามการที่กูเกิลซื้อกิจการยูทูบซึ่งมีประเด็นสงสัยที่กูเกิลยอมจ่ายมากกว่า 30 เท่าของราคาครั้งแรก
ขณะที่เบโซสถูกอนุกรรมาธิการสหรัฐฯตั้งคำถามในประเด็นใช้วิกฤตโควิด-19ในการทำให้สินค้าตัวเองขายได้มากขึ้น โดย ส.ส พรรคเดโมแครต แมรี สแกนลอน(Mary Scanlon) ตั้งคำถามว่า “เมื่อเกิดวิกฤต(โรคระบาดขึ้น) ทางแอมะซอนประกาศว่า จะทำการขนส่งล่าช้าในส่วนสินค้าที่ไม่ใช่ปัจจัย” และ สแกนลอนได้กล่าวหาเบโซสในการใช้นโยบายอย่างเลือกปฎิบัติ โดยชี้ไปถึง สินค้าที่ผลิตโดยบริษัทเองคือ ระบบสตรีมมิงทีวีออนไลน์ Fire TV ลำโพงขยายเสียงอัจฉริยะ Echo และ ระบบกล้องทีวีวงจรปิดติดประตูหน้าบ้าน Ring Doorbell เหตุใดจึงสามารถได้รับอภิสิทธิ์ได้รับการส่งเป็นสินค้าปัจจัยเช่นกัน เบโซสยอมรับว่า “จุดมุ่งหมายของเราคือการจำกัดสินค้าปัจจัย แต่ผมแน่ใจว่าพวกเราทำได้ไม่สมบูรณ์นัก”
และเบโซสยังต้องตอบคำถามต่อประเด็นที่แอมะซอนเป็นยักษ์ใหญ่ผูกขาดอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่พบว่า แอมะซอนมีสัดส่วนการขายบนตลาดอีคอมเมิร์ซถึง 75% ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่มีทางเลือกนอกจากที่จะต้องยอมเข้าร่วม แต่เบโซสตอบกลับมาว่า “ผมเชื่อว่ามีทางเลือกแต่ แอมะซอนถือว่าดีที่สุด”
ซึ่งในการขึ้นให้การมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับยาไฮดร็อกซีโคลโรควิน(hydroxychloroquine) ที่มีรายงานว่าทวิตเตอร์ของบุตรชายประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ถูกสั่งระงับช่วงเวลาหนึ่งเนื่องมาจากมีการโพสต์เกี่ยวกับยาตัวนี้ และทำให้ซักเคอร์เบิร์ก ต้องออกมาตอบคำถามนี้แทนทวิตเตอร์ซึ่งผู้บริหารไม่ได้มาเข้าร่วมการให้การ โดยเขากล่าวว่า “ผมคิดว่าคุณคงกำลังกล่าวไปถึงเหตุการณ์บนทวิตเตอร์ ซึ่งผมคงจะไม่ได้ตอบได้ดีมากนัก แต่ผมสามารถกล่าวถึงนโยบายของพวกเราได้”
“พวกเรามีนโยบายห้ามคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาที่ส่งผลเป็นอันตรายทันที และการที่กล่าวชี้ไปว่ามีผลพิสูจน์การรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “ยังไม่มี” ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นใช้เพื่อ(เป็นการรักษา)และส่งผลในทางลบ ดังนั้นพวกเราจึงต้องถอดออก”