(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Intel is making a mockery of reshoring
by David P. Goldman
25/07/2020
อินเทล บริษัทอเมริกันที่เคยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการทำชิป แถลงว่าอาจจะยุติการผลิตทั้งหมด และนำดีไซน์ชิปของบริษัท เอาต์ซอร์สออกไปให้พวกบริษัทเอเชียเป็นผู้ผลิต เรื่องนี้น่าจะมีผลต่อยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
บ็อบ สวอน (Bob Swan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทอินเทล บอกกับพวกนักวิเคราะห์หุ้นด้านอุตสาหกรรมเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ค.) ที่ผ่านมาว่า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.yahoo.com/news/intel-considers-once-heresy-not-013625863.html) อินเทลซึ่งเป็นอดีตผู้นำของอุตสาหกรรมนี้ในเรื่องการผลิตชิป อาจจะถอนตัวออกจากธุรกิจการทำเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดเลย โดยจะนำเอาดีไซน์ชิปของบริษัท เอาต์ซอร์สออกไปให้พวกบริษัทโรงงานทำชิปในไต้หวันและเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตออกมา
การประกาศที่ชวนช็อกของอินเทลคราวนี้ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความพยายามของสหรัฐฯที่จะนำเอาศักยภาพความสำเร็จทางอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หวนคืนกลับอเมริกา รวมทั้งความเคลื่อนไหวนี้ยังคงเกิดขึ้นมาทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กำลังล็อบบี้กันอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับการอุดหนุนจากจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯหากพวกตนหันกลับมาผลิตชิปกันในอเมริกา
เซมิคอนดักเตอร์นั้นถือเป็นวัสดุที่เป็นพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอล และการที่สหรัฐฯไม่สามารถที่จะชะลอไม่ให้โรงงานผลิตชิปซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ต้องทยอยปิดตัวไปเรื่อยๆ ถือเป็นข้อบกพร่องทางยุทธศาสตร์อันสำคัญในระดับสูงสุด
การแถลงด้วยน้ำเสียงลังเลของสวอนครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากการประกาศว่า ความพยายามของอินเทลที่จะผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับก้าวหน้ายอดเยี่ยมที่สุดในเวลานี้นั้น ได้ประสบปัญหาจนต้องเลื่อนช้าออกไป 1 ถึง 2 ปี แต่เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์เปอเรชั่น (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ใช้อักษรย่อว่า TSMC) และ ซัมซุง ก็น่าจะกำลังผลิตชิปขนาด 5 นาโนเมตรกันอยู่ ซึ่งก้าวหน้าไปไกลกว่าขนาด 7 นาโนเมตรทั้งในเรื่องความหนาแน่นของตัวทรานซิสเตอร์ซึ่งวางเรียงอยู่บนแผ่นชิป และเรื่องการใช้พลังงานที่ต่ำกว่า อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยี 10 นาโนเมตรของอินเทล เพิ่งสามารถเข้าสู่การผลิตได้ไม่นานมานี้ และก็อยู่ในสภาพล้าสมัยเสียแล้ว บริษัทซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมนี้ ปัจจุบันกลับขาดไร้ความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมที่จะทำให้ตนเองยังคงสามารถล้ำหน้าพวกคู่แข่งขันจากเอเชีย
ราคาหุ้นของอินเทลตกฮวบลงมาราว 17% ภายหลังสวอนกล่าวเตือนเรื่องอินเทลอาจ “จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปของบริษัทอื่นๆ” บริษัทอเมริกัน “เทกซัส อินสทรูเมนต์ส” (Texas Instruments) คือผู้ประดิษฐ์แผงวงจรรวม (integrated circuit) ขึ้นมาได้เมื่อปี 1958 จากนั้นอินเทลได้กลายเป็นโรงงานผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อปี 1992 ทว่าการผลิตชิปกำลังถูกโยกย้ายออกไปทางเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะไปที่ไต้หวัน และส่วนแบ่งของสหรัฐฯในการทำเซมิคอนดักเตอร์ของทั่วโลกได้ลดลงมาเหลือเพียงแค่ 12% เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ตามข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association)
สองวันก่อนการประกาศของสวอน สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯได้อนุมัติผ่านข้อแก้ไขกฎหมายรัฐบัญญัติให้อำนาจการป้องกันแห่งชาติ (National Defense Authorization Act) ซึ่งจะเปิดทางให้ใช้มาตรการอุดหนุนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แก่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยที่การแก้ไขคราวนี้ได้รับความสนับสนุนจากกลุ่ม ส.ส. ทั้งของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ออกประกาศฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ระบุว่า “สภาล่างของสหรัฐฯมีโอกาสในทางยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การผลิตและการวิจัยทางเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็น 2 ตัวขับดันที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับการเดินหน้าไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ, ความมั่นคงแห่งชาติ, และการมีสายโซ่อุปทานที่มีความหยุ่นตัวของสหรัฐฯ การออกเสียงลงมติในสภาวันนี้เป็นจังหวะก้าวเดินอันสำคัญยิ่งในทิศทางดำเนินที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่าในสภาล่างมีพลังสนับสนุนอันกว้างขวางจากทั้งสองพรรคการเมือง สำหรับการสร้างแรงจูงใจทางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการลงทุนด้านการวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ กันอย่างห้าวหาญ”
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนว่ายังคงไม่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่อินเทล ซึ่งเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาที่จะต้องใช้เพื่อไปสู่ความสำเร็จในการผลิตชิปเจเนอเรชั่นหน้า กับมาตรการการอุดหนุนของรัฐบาลสหรัฐฯที่อาจจะได้รับแล้ว ได้ตัดสินใจว่าการเอาต์ซอสซ์คือเส้นทางที่จะประสบแรงต้านทานน้อยที่สุด
การนำเอาอุตสาหกรรมอเมริกัน “หวนกลับมาอยู่บนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา” (Reshoring) สามารถเรียกความสนับสนุนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเปิดโปงให้เห็นถึงจุดอ่อนความไม่มั่นคงของสายโซ่อุปทานสหรัฐฯ และมีพวกคลังสมองในวอชิงตันจำนวนหนึ่งเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยข้อเสนอต่างๆ หนึ่งในนั้นคือของกลุ่ม “อเมริกัน คอมแพสส์” (American Compass) ซึ่งตัวผมมีส่วนเข้าร่วมจัดทำข้อเสนอของกลุ่มนี้ด้วย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://americancompass.org/in-focus/moving-the-chains/) เซมิคอนดักเตอร์คือเรื่องที่มีความสำคัญระดับสูงสุด สำหรับการนำพาการผลิตให้หวนกลับคืนสู่แผ่นดินสหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเซมิคอนดักเตอร์เป็นสิ่งที่สามารถแอบจัดวางสร้าง “ประตูหลัง” ซี่งไม่สามารถตรวจสอบค้นพบได้ ในท่ามกลางตัวทรานซิสเตอร์เป็นพันๆ ล้านตัวซึ่งวางบนแผ่นชิปขนาดเท่าหัวแม่มือ อย่างที่ผมได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือของผมเรื่อง “You Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World” (https://www.amazon.com/dp/B08CQ8W6SH/ref=dp-kindle-redirect?_encoding=UTF8&btkr=1) การที่ทำให้มีความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้นั้น จำเป็นต้องมีการผลิตขึ้นเองภายในประเทศ โดยมีการวางมาตรการทางด้านความปลอดภัยแบบระแวดระวังไว้ก่อนอย่างถูกต้องเหมาะสม
ชิปซิลิคอนมีความสำคัญสำหรับพวกมหาอำนาจทางการทหารแห่งคริสต์ทศวรรษที่ 21 พอๆ กับที่เหล็กกล้าเคยมีความสำคัญสำหรับกองทัพต่างๆ ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 พวกอาวุธอัจฉริยะทั้งหลายต่างต้องพึ่งพาอาศัยชิปที่มีความมั่นคงปลอดภัย และประเทศหนึ่งๆ ที่ไม่สามารถทำเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองได้ ย่อมอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกับมหาอำนาจแห่งยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งไม่สามารถหล่อปืนใหญ่ของตนเองได้ “การนำพาการผลิตหวนกลับคืนสู่แผ่นดินสหรัฐอเมริกา” จะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปเลย ถ้าหากปราศจากแผ่นซิลิคอนด้วย
ความเรียกร้องต้องการในทางวิศวกรรมของการผลิตชิปสมัยใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ชวนให้ท้อแท้ใจ และเดิมพันที่ต้องทุ่มวางลงไปก็สูงลิ่ว ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์เปอเรชั่น ซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลก ใช้จ่ายเงินทองไปกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่บรรดาโรงงานผลิตที่ก้าวหน้าลำสมัยที่สุดของบริษัท ในปัจจุบัน ณ อัตราความเร็วของนวัตกรรมเวลานี้ คาดหมายกันว่าโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ๆ ขณะนี้ จะกลายเป็นโรงงานล้าสมัยไปภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น ความสำเร็จทางการพาณิชย์ของผู้ผลิตชิปจึงขึ้นอยู่กับเรื่องการสร้างโรงงานได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ด้วยความรวดเร็ว และการมีอัตราความผิดพลาดต่ำ ทั้งนี้กระบวนการผลิตชิปมีขั้นตอนกระบวนวิธีสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย 10 ขั้นตอนกระบวนวิธี แต่ละขั้นตอนต่างเรียกร้องต้องการโซลูชั่นทางวิศวกรรมที่เฉพาะเจาะจงเป็นหลายสิบโซลูชั่น
มีที่ทางเผื่อเอาไว้สำหรับความล้มเหลวอยู่ไม่มากนัก เมื่อพิจารณาถึงความท้าทายต่างๆ ในทางวิศวกรรมของการผลิตชิปซึ่งมีความอดทนต่อความผิดพลาดอย่างน้อยนิดจนเหมือนกับเป็นไปไม่ได้ และอัตราการเสื่อมราคาอย่างรวดเร็วของพวกโรงงานผลิตแห่งใหม่ๆ ไต้หวันกับเกาหลีใต้ได้ดำเนินการลงทุนทั้งด้านเงินทุนเชิงกายภาพและด้านเงินทุนมนุษย์ไปเรียบร้อยแล้วเพื่อความสำเร็จในกิจการนี้ โดยที่ได้รับการอุดหนุนจากมหาศาลจากรัฐบาลของพวกเขา จีนก็กำลังดำเนินโปรแกรมที่จัดทำขึ้นมาอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างโรงงานการผลิตภายในประเทศของตนเอง และมีรายงานว่าได้ระดมว่าจ้างพวกวิศวกรการผลิตของไต้หวันเอาไว้ระหว่าง 10% ถึง 20% เพื่อให้มาทำงานที่แผ่นดินใหญ่
อินเทล แชมเปี้ยนแห่งชาติในแวดวงนี้ที่กำลังอยู่ในวัยแก่เฒ่าของอเมริกา ไม่ได้มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะแข่งขันกับพวกบริษัทเอเชียอีกแล้ว –แม้กระทั่งเมื่อรัฐสภาสหรัฐฯดูท่าเห็นดีเห็นงามกับการให้ความอุดหนุนต่างๆ สำหรับการผลิตชิปขึ้นมาภายในประเทศก็ตามที