xs
xsm
sm
md
lg

โลกกำลังแตกออกเป็น ‘ค่ายโปรหัวเว่ย’ และ ‘ค่ายแอนตี้หัวเว่ย’

เผยแพร่:   โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

World splitting into pro and anti-Huawei camps
by Scott Foster
16/07/2020

การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ทำสงครามเทคโนโลยีโดยพุ่งเป้าเล่นงานหัวเว่ย อาจกลายเป็นการผลักดันให้บริษัทเทคจีนแห่งนี้ยิ่งเลยหน้าไปไกลยิ่งขึ้นในทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับ 5จี

โตเกียว - สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และในตอนนี้ก็อังกฤษด้วย [1] ต่างออกคำสั่งห้ามไม่ให้ หัวเว่ย เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายระบบ 5จี ของพวกตน แคนาดาก็ดูน่าจะเจริญรอยตาม ขณะที่นิวซีแลนด์กำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกันนี้เช่นกัน ส่วนที่สิงคโปร์ ผู้ให้บริการเครือข่ายเทเลคอมไร้สายรายใหญ่ที่สุด 2 ราย เพิ่งประกาศเลือกใช้อุปกรณ์จากอีริคสันและโนเกีย โดยไม่เลือกยักษ์ใหญ่เทคสัญชาติจีนรายนี้

เครือข่ายแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรอง “ไฟฟ์ อายส์” (Five Eyes) ที่ประกอบด้วย 5 ชาติซึ่งพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และอยู่ในวัฒนธรรมแองโกล-แซกซอน อันได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ บวกกับอีก 2 ชาติเอเชียที่เป็นพันธมิตรสำคัญของพวกเขา ต่างกำลังเคลื่อนไหวจับกลุ่มรวมตัวกันในประเด็นปัญหานี้

เวลาเดียวกันนั้น หลังจากการปะทะกันประปรายระหว่างกองทหารจีนกับกองทหารอินเดียในแถบเทือกเขาหิมาลัยซึ่งมีทหารอินเดียถูกสังหารไป 20 คน ทางการอินเดียก็ประกาศห้าม วีแชต, ติ๊กต็อก, และแอปพลิเคชั่นอินเทอร์เน็ตของจีนอื่นๆ อีก 57 แอปป์ โดยให้เหตุผลในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ในสภาพเช่นนี้ อุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ยจึงดูเหมือนจะต้องประสบกับชะตากรรมทำนองเดียวกันในอินเดีย

เวียดนามและไต้หวัน ซึ่งมีประเด็นปัญหาเฉพาะเจาะจงของพวกเขาเองกับประเทศจีน ต่างไม่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ย แต่ไทย, มาเลเซีย, และฟิลิปปินส์ ใช้ อินโดนีเซียนั้นยังไม่ได้เตรียมตัวที่จะนำเอาเทคโนโลยี 5จี มาใช้งาน สำหรับกัมพูชา ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจเลยว่ากำลังจะใช้หัวเว่ยและแซดทีอี

อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮาหมัด ของมาเลเซีย ไปพูดที่สโมสารผู้สื่อข่าวต่างประเทศของญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว โดยกล่าวว่า หัวเว่ย “สามารถที่จะสปายสอดแนมมากเท่าใดก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ เนื่องจากเรานั้นไม่มีความลับใดๆ”

เกาหลีใต้ ซึ่งทั้งเป็นผู้นำหน้าชาติใดในโลกในการนำเอาระบบ 5จี ออกมาให้บริการ และทั้งมีผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของตนเองอย่าง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จัดว่าเป็นกรณีที่พิเศษไม่เหมือนใคร เวลานี้หัวเว่ยเป็นผู้ซัปพลายอุปกรณ์ 5จี ที่ใช้กันในแดนโสมขาวในปริมาณไม่ถึง 10% โดยเป็นการซัปพลายอุปกรณ์ไปให้แก่ แอลจี ยูพลัส (LG U+) ผู้ให้บริการเทเลคอมรายเล็กที่สุดของประเทศนี้

ขณะที่ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ซัปพลายอุปกรณ์ 5จี ให้ เอสเค เทเลคอม (SK Telecom) และ เคที (KT) 2 ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในเกาหลีใต้เกินกว่าครึ่งไปมาก นอกจากนั้นยังจัดส่งอุปกรณ์ 5จี ไปให้แก่ เคดีดีไอ (KDDI) ในญี่ปุ่น, เอทีที (ATT) เวอไรซอน (Verizon) และ สปรินต์ (Sprint) ในสหรัฐฯ, ตลอดจนลูกค้าในต่างประเทศรายอื่นๆ ซัมซุงยังมีกิจการในเมืองซีอาน ของจีน โดยเปิดโรงงานชิ้นส่วนชิป 2 แห่งที่ทำ NAND Boolean operator และ logic gate flash memories ซึ่งจัดส่งให้แก่หัวเว่ย

ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และเกาหลีใต้ ต่างไม่ได้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ต้องการเผชิญหน้ากับหัวเว่ย แต่กระนั้น สหรัฐฯยังคงพยายามรบเร้าเกาหลีใต้ให้กำจัดโละทิ้งอุปกรณ์หัวเว่ยออกไปให้หมด

หากโสมขาวยอมทำเช่นนั้นแล้ว เกือบเป็นการแน่นอนทีเดียวว่าจะถูกจีนตอบโต้แก้เผ็ด และด้วยเหตุนี้มันจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น จากการที่ อีริคสัน และโนเกีย ก็อยู่ในตลาดเกาหลีใต้แล้วเช่นเดียวกัน จึงดูเหมือนหัวเว่ยไม่มีศักยภาพที่จะเติบโตขยายตัวต่อไปอีกแดนโสมขาว

ทางด้านรัสเซียให้การต้อนรับ 5จี ของหัวเว่ยเป็นอันดี เช่นเดียวกับตุรกี, แอฟริกาใต้, เม็กซิโก, บราซิล และประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทว่าไม่ใช่เป็นการเชื้อเชิญให้เข้าไปอย่างมีเงื่อนไขเอื้ออำนวยพิเศษ หัวเว่ยยังมีการทำธุรกิจอย่างคึกคักในยูเครน ทว่าประเทศนี้ดูพรักพร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมการรณรงค์ที่นำโดยอเมริกันในการเขี่ยทิ้งไม่คบกับบริษัทเทคจีนแห่งนี้

สหภาพยุโรปซึ่งมี อีริคสัน และโนเกียที่จะต้องให้การปกป้องคุ้มครอง ยังไม่ได้มีมติห้ามใช้หัวเว่ย ทว่าก็ไม่น่าที่จะปล่อยให้หัวเว่ยเข้ามีฐานะครอบงำเครือข่าย 5จี ของพวกตน

ในปี 2019 ยอดขายของหัวเว่ยซึ่งครอบคลุมทั้งอุปกรณ์เครือข่าย, โทรศัพท์มือถือ, และผลิตอื่นๆ เมื่อแยกออกตามภูมิภาคต่างๆ จะเป็นดังนี้ จีน 59%, ยุโรป-ตะวันออกกลาง-แอฟริกา (Europe, Middle East & Africa ใช้อักษรย่อว่า EMEA) 24%, เอเชีย-แปซิฟิก 8%, และอเมริกาเหนือ-ใต้ 6%

เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น คือในปี 2014 สัดส่วนเมื่อแยกออกตามภูมิภาคเป็นดังนี้ จีน 38%, EMEA 35%, เอเชีย-แปซิฟิก 15%, และอเมริกาเหนือ-ใต้ 11%

ช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างต้นนี้ ยอดขายในต่างประเทศของหัวเว่ยเพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 2 เท่าตัว ขณะที่ยอดขายภายในประเทศสูงขึ้น 4.6 เท่า จากการสูญเสียตลาดอังกฤษ, ความเป็นไปได้อย่างมากที่จะสูญเสียตลาดอินเดีย, รวมทั้งการประสบกับทัศนคติต่อจีนที่กำลังเข้มงวดยิ่งขึ้นในยุโรปตะวันตก การขยายตัวในต่างประเทศของหัวเว่ยในระยะเวลาหลายๆ ปีจากนี้ไปอาจจะกลับมาอยู่ในอาการหดตัวก็เป็นได้

จีนคือตลาดแห่งใหญ่ที่สุดของ 5จี และก็เป็นตลาดที่มีความก้าวหน้ารวดเร็วที่สุด (นอกเหนือจากเกาหลีใต้แล้ว) ในเรื่อง 5จี เมื่อถึงสิ้นปี 2020 นี้ แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมหลายรายคาดหมายว่า ประเทศจีนจะเป็นสถานที่ซึ่งมีการติดตั้งสถานีฐาน 5จี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของทั่วโลก และมีผู้บอกรับใช้บริการ 5จีเป็นจำนวนมากกว่า 70% ของทั้งหมด

สถานีฐานในจีนเหล่านี้ส่วนข้างมากเลยจะซัปพลายโดยหัวเว่ย ขณะที่ส่วนที่เหลือแทบทั้งหมดจะซัปพลายโดย แซดทีอี

มองกันให้เห็นภาพรวมกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น อย่างที่ สเปงเกลอร์ (เดวิด พี. โกลด์แมน) ของเอเชียไทมส์ ได้ระบุเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “อีริคสันดูเหมือนจะได้ส่วนแบ่งในการสร้างระบบ 5จี ของประเทศจีนไปราว 10% ... ในแง่ของยอดขายแล้ว หากคำนวณกันเป็นตัวเลขกลมๆ มันจะเท่ากับ 100% ของตลาดอุปกรณ์ 5จี สหรัฐฯทีเดียว” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/07/ericsson-nokia-are-more-chinese-than-meets-the-eye/)

มีรายงานระบุว่า จีนมีสถานีฐาน 5จี จำนวนกว่า 250,000 แห่งที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในเวลานี้ และวางเป้าหมายจะเพิ่มให้เป็น 500,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งน่าจะทำให้มีบริการ 5จี ในเมืองสำคัญทุกๆ เมือง สำหรับเป้าหมายใหญ่เป้าหมายต่อไปคือสถานีฐาน 5 ล้านแห่ง

จีเอสเอ็มเอ (GSMA) สมาคมอุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายระดับโลก ประมาณการว่า จีนจะลงทุนเป็นจำนวนประมาณ 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเรื่องเครือขายไร้สายภายในปี 2025 โดยที่ 90%ของจำนวนนี้เป็นการใช้จ่ายเรื่อง 5จี เมื่อถึงเวลานั้น จำนวนผู้บอกรับบริการ 5จี ในจีน คาดหมายว่าจะสูงเกิน 800 ล้านราย

นอกเหนือจากการอัปเกรดการสื่อสารไร้สายธรรมดา และแอปพลิเคชั่นต่างๆ ของสมาร์ตโฟนแล้ว การเข้าถึง 5จี ได้อย่างกว้างขวาง ยังน่าจะทำให้สามารถสร้างความก้าวหน้าทันสมัยอย่างสำคัญขึ้นในบริการต่างๆ ทางออนไลน์ทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชน, ในการติดตามและการควบคุมระบบขนส่ง, และในระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม

สภาพเช่นนี้ยังจะเป็นความจริงขึ้นมาในญี่ปุ่นเช่นกัน โดยที่ในแดนอาทิตย์อุทัย เอ็นอีซี (NEC) และ พานาโซนิก (Panasonic) กำลังเริ่มเปิดตัวเครือข่ายไร้สาย 5จี ที่มีลักษณะสามารถดัดแปลงให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า และเป็นระบบปิด (ที่เชื่อว่าจะมีความปลอดภัย) ทั้งนี้เครือข่ายดังกล่าวนี้ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในระบบควบคุมการผลิตของพวกโรงงานที่เรียกกันว่า “โรงงานอัจฉริยะ” (smart factories)

การที่จีนกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีความประณีตซับซ้อนทางอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น (นอกจากเรื่อง 5จีแล้ว เวลานี้จึนยังเป็นประเทศที่มีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมกันอย่างใหญ่โตกว้างขวางที่สุดและมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย) น่าจะสามารถทดแทนชดเชยการที่จีนต้องสูญเสียฐานะของการเป็นประเทศค่าจ้างแรงงานต่ำซึ่งเหมาะสมแก่การทำงานโดยใช้มือนำเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

ในโลกตะวันตกนั้นมีความนิยมพูดกันจนเป็นแฟชั่นว่า สภาพเช่นนี้จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งล้าสมัย และยิ่งเพิ่มพูนปัญหาการว่างงานที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้เสมอไป

เป็นต้นว่าญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำระดับท็อปของโลกในเรื่องหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติในโรงงาน แต่ก็มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดด้วยเมื่อเทียบกับพวกชาติอุตสาหกรรมด้วยกัน สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ระบบอัตโนมัติคือผู้สร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาการมีกำลังแรงงานลดน้อยลงไปเรื่อยๆ –อันเป็นปัญหาทางประชากรซึ่งจีนก็ประสบอยู่

หากดูกันออกไปข้างหน้าสัก 10 ปี ย่อมถือเป็นความรอบคอบมองการณ์ไกลทีเดียว ถ้าเราจะคิดคำนึงวาดภาพถึงโลกซึ่งจีนจะมีความคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่มุมเช่นนี้ เพียงแต่จะมีขนาดใหญ่โตกว่ากันมากมายนัก

สหรัฐฯกำลังพยายามที่จะหยุดยั้งเรื่องนี้ด้วยการตัดขาดไม่ให้หัวเว่ยและประเทศจีนเข้าถึงชิ้นส่วนต่างๆ และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีอเมริกัน การกระทำเช่นนี้อาจจะมีผลกระทบในระยะสั้น แต่มันก็กำลังสร้างแรงจูงใจให้แก่จีนเรียบร้อยแล้วสำหรับการกระจายตัวเพิ่มทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อให้หลุดออกมาจากการต้องพึ่งพาอาศัยคู่แข่งของตน และดำเนินการพัฒนาสมรรถนะด้านต่างๆ ด้วยตนเอง

ด้วยเหตุนี้ มันย่อมเป็นความรอบคอบมองการณ์ไกลที่จะคิดคำนึงวาดภาพถึงโลกที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเทคโนโลยีต่างๆ ของยุโรป, ของญี่ปุ่น, ของเกาหลี –และก็ของจีน เข้าแทนที่พวกซึ่งก่อนหน้านี้หัวเว่ยต้องซื้อหาจากอเมริกา

สกอตต์ ฟอสเตอร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Stealth Japan ทำงานเป็นนักวิเคราะห์อยู่ที่ ไลต์สตรีม รีเสิร์ช (Lightstream Research) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

หมายเหตุผู้แปล

[1] อังกฤษเพิ่งร่วมวงการสั่ง “แบน” หัวเว่ยไม่ให้เข้าร่วมการสร้างระบบ 5จี ของตนเมื่อเร็วๆ นี้เอง โดยที่สื่อมวลชนหลายรายนำโดย ดิ ออบเซอร์เวอร์ (The Observer) ต่างรายงานว่า ทางการอังกฤษได้บอกกับหัวเว่ยว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ต้องทำเช่นนี้ก็เนื่องจากแรงบีบคั้นกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องนี้จึงทำให้มองกันว่าหากทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้ คดีนี้ก็ยังมีโอกาสจะพลิกกลับ

ทั้งนี้ผู้แปลขอเก็บความรายงานข่าวเรื่องนี้ของ ดิ ออบเซอร์เวอร์ เป็นบางส่วน มาเสนอเพิ่มเติมเอาไว้ในที่นี้:


‘อังกฤษ’บอก‘หัวเว่ย’ว่า ถูก‘ทรัมป์’กดดันจึงต้องแบน‘บริษัทจีน’ไม่ให้ร่วมสร้างเครือข่าย 5จี
โดย ดิ ออบเซอร์เวอร์

Pressure from Trump led to 5G ban, Britain tells Huawei
by The Observer
18/07/2020

ก่อนที่จะออกคำสั่งห้ามไม่ให้หัวเว่ยเข้าร่วมสร้างเครือข่ายเทเลคอม 5 จีของอังกฤษ ทางรัฐบาลอังกฤษได้แจ้งเป็นการส่วนตัวกับยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีนรายนี้ว่า ที่ตนเองต้องทำเช่นนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุผล “ทางภูมิรัฐศาสตร์” ภายหลังถูกกดดันหนักจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตามรายงานของ ดิ ออบเซอร์เวอร์ หนังสือพิมพ์วันอาทิตย์ในเครือของ เดอะ การ์เดียน

ช่วงไม่กี่วันก่อนการประกาศที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอยู่มากของรัฐบาลอังกฤษเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือด รวมทั้งมีการสื่อสารกันอย่างเป็นความลับระหว่างพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษและของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของอังกฤษฝ่ายหนึ่ง กับพวกผู้บริหารของหัวเว่ยอีกฝ่ายหนึ่ง

จากส่วนหนึ่งของการติดต่อกันในระดับสูงเบื้องหลังฉากเหล่านี้ หัวเว่ยได้รับแจ้งว่าเรื่องภูมิรัฐศาสตร์นี่แหละเป็นปัจจัยหนึ่ง นอกจากนั้นบริษัทยังได้ถูกทำให้บังเกิดความประทับใจขึ้นมาด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจมีการทบทวนการตัดสินเรื่องนี้กันใหม่ในอนาคต บางทีอาจจะเมื่อทรัมป์ล้มเหลวไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง และจุดยืนต่อต้านจีนในวอชิงตันมีการผ่อนคลายลง

หลังจากทราบการตัดสินใจของอังกฤษในวันที่ 14 ก.ค.แล้ว พวกผู้บริหารระดับอาวุโสของหัวเว่ยได้ออกมากล่าวในที่สาธารณะ โดยแสดงความหวังว่ารัฐบาลอังกฤษจะทบทวนเรื่องนี้ โดยดูเหมือนอยู่ในอาการรู้สึกใจชื้นขึ้นสืบเนื่องจากผลของการติดต่อกันหลังฉาก

การยอมรับกันเป็นการภายในของรัฐบาลอังกฤษเช่นนี้ แตกต่างจากท่าทีซึ่งดูดีขึงขังในการแถลงต่อสาธารณชนของรัฐมนตรีหลายๆ คน ที่ต่างบอกว่า หัวเว่ยถูกสั่งแบน เนื่องจากมีความกังวลใหม่ๆ ทางด้านความมั่นคง ซึ่งหยิบยกเสนอขึ้นมาโดย ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Centre ใช้อักษรย่อว่า NCSC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ GCHQ

โอลิเวอร์ ดาวเดน (Oliver Dowden) รัฐมนตรีช่วยทางด้านดิจิตอล, วัฒนธรรม, สื่อ, และกีฬา (Secretary of State for Digital, Culture, Media and Sport) ของอังกฤษ แถลงในสภาสามัญชน (สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ) ว่า จากมาตรการแซงก์ชั่นใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งห้ามการขายชิ้นส่วนที่ผลิตโดยสหรัฐฯให้แก่ทางหัวเว่ยนั้น หมายความว่าบริษัทจีนแห่งนี้จะต้องไปซื้อหาชิ้นส่วนเหล่านี้จากแหล่งอื่นๆ และเรื่องนี้ทำให้ความสมดุลในเรื่องความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัย เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

“มาตรการใหม่ๆ ของสหรัฐฯ เป็นการจำกัดความสามารถของหัวเว่ยในการผลิตพวกผลิตภัณฑ์สำคัญต่างๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ หรือซอฟต์แวร์สหรัฐฯ” เขากล่าว และพูดต่อไปว่า ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ได้ทบทวนผลต่อเนื่องของเรื่องนี้

“NCSC ตอนนี้ได้รายงานมาที่รัฐมนตรีว่า พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงผลการประเมินความมั่นคงปลอดภัยของพวกเขาอย่างสำคัญ ในเรื่องการใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในเครือข่าย 5จี ของอังกฤษ โดยเมื่อคำนึงถึงความไม่ไม่แน่นอนที่มาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯก่อให้เกิดขึ้นต่อสายโซ่อุปทานของหัวเว่ย อังกฤษจึงไม่สามารถมีความมั่นใจได้อีกต่อไปว่าตนเองจะสามารถรับรองเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ยในอนาคต” ซึ่งจะถูกกระทบกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงในระเบียบกฎเกณฑ์ของสหรัฐฯ

ความเคลื่อนไหวในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ เป็นการเลี้ยวกลับจากการตัดสินใจครั้งก่อนของรัฐบาลอังกฤษเมื่อเดือนมกราคม โดยที่ในตอนนั้นรัฐบาลประกาศว่า สามารถใช้เครือข่าย 5จี ใหม่ของบริษัทเทคจีนรายนี้ได้ ในระดับจำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น