เอเอฟพี/บีบีซี - นักวิจัยด้านประชากรเตือนในผลการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่ในวันพุธ(15ก.ค.) ให้ประเทศต่างๆทั่วโลกรับมือกับอัตราเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงจนน่าตกใจ ด้วยประมาณการว่าประชากรโลกจะลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2100 อันเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
ผลการศึกษาของคณะวิจัยนานาชาติที่รายงานในวารสารการแพทย์เดอะแลนเซต ระบุว่าในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 21 ประเทศต่างๆ 183 จาก 195 ชาติ จะมีการทดแทนของประชากร ต่ำกว่าระดับการทดแทนที่จำเป็นสำหรับรักษาจำนวนประชากรไว้ในระดับเดิม
จากการคำนวณนี้ นักวิจัยคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นไปถึง 9,700 ล้านคนในราวปี 2064 หรืออีก 44 ปีข้างหน้า จากนั้นจะลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21
มากกว่า 20 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สเปน อิตาลี โปรตุเกส เกาหลีใต้ โปแลนด์ และประเทศไทย จะมีประชากรลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ส่วนจีนจะมีจำนวนประชากรลดลงเกือบครึ่ง จากระดับ 1,400 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือ 730 ล้านคนในอีก 80 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกันแถบแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เป็น 3,000 ล้านคน โดยไนจีเรียเพียงประเทศเดียวจะมีการขยายตัวของประชากรเกือบ 800 ล้านคนในปี 2100 โดยจะรองแค่อินเดียที่จะมีประชากร 1,100 ล้านคน
คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานและผู้อำนวยการสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน(IHME) บอกกับเอเอฟพีว่าการคาดการณ์ที่ออกมาถือเป็นข่าวดีสำหรับสิ่งแวดล้อม เพราะระบบการผลิตอาหารจะมีความเครียดน้อยลง การปล่อยคาร์บอนจะลดลง รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของเขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราที่จะเพิ่มขึ้น เพราะประเทศนอกแอฟริกาส่วนใหญ่จะมีกำลังคนลดลง
ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลก งานวิจัยประมาณการว่าจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจะมีจำนวนลดลงมากกว่า 40% จาก 681 ล้านคนในปี 2017 เหลือ 401 ล้านคนในปี 2100 ส่วนอีกด้านหนึ่ง ณ ขณะนั้น ประชากรราว 2,370 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก จะมีอายุเกิน 65 ปี นอกจากนี้แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ประชากรโลกที่มีอายุเกิน 80 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 866 ล้านคน จากระดับ 140 ล้านคนในปัจจุบัน
การลดลงอย่างมากในจำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยทำงาน จะเป็นความท้าทายใหญ่หลวงในหลายประเทศ "สังคมจะประสบปัญหาในการเติบโต เนื่องด้วยมีคนทำงานน้อยลงและมีผู้เสียภาษีน้อยลง" สเตน เอมิล โวลล์เซ็ต ศาตราจารย์จากสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุ
ยกตัวอย่างเช่น จำนวนคนในวัยทำงานของจีน จะลดลงจากระดับ 950 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียงราวๆ 350 ล้านคนในช่วงสิ้นศตรรษที่ 21 หรือลดลงถึง 62% เช่นเดียวกับในอินเดีย คาดหมายว่าจะลดลงอย่างมากจากระดับ 762 ลานคน เหลือ 578 ล้านคน
รายงานประมาณการด้วยว่าในปี 2050 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ แต่จะหล่นกลับมารั้งอันดับ 2 ของโลกในปี 2100 ส่วนจีดีพีของอินเดีย จะก้าวขึ้นมารั้งอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนีและสหราชอาณาจักร จะยังรักษาสถานะ 10 ชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกเอาไว้ได้
ในรายงานคาดหมายว่า บราซิล จะหล่นจากอันดับ 8 ในปัจจุบันไปรั้งอันดับ 13 ของโลก ส่วนรัสเซีย ตกจากอันดับ 10 ไปอยู่อันดับ 14 เช่นเดียวกับมหาอำนาจเก่าอย่าง อิตาลีและสเปน ที่ดิ่งจากท็อป 15 ของโลกในปัจจุบัน ไปรั้งอันดับ 25 และ 28 ตามลำดับ
นอกจากนี้แล้วในรายงานยังประมาณการด้วยว่า อินโดนีเซีย จะก้าวมาเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 12 ของโลก ส่วน ไนจีเรีย ที่ครองอันดับ 28 ในปัจจุบัน จะทะยานสู่อันดับ 10