รอยเตอร์/mgrออนไลน์ - ครูฝึกสอนลิงเก็บมะพร้าวจากภาคใต้ของไทย ออกมาโต้องค์การต่อต้านทารุณกรรมสัตว์พีต้า (PETA) อังกฤษ ในวันเสาร์ (11 ก.ค.) ว่า มีลิงเป็นจำนวนเล็กน้อยเก็บมะพร้าวในส่วนสำหรับการส่งออก ชี้ต่อส่วนมากเป็นการใช้แรงงานคนใช้ไม้สอย
รอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (11 ก.ค.) ว่า นิรันดร์ วงศ์วานิช ครูฝึกลิงเก็บมะพร้าวและชาวสวนมะพร้าว วัย 52 ปี จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกมาโต้องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์พีต้า (PETA) ของอังกฤษ ที่ส่งผลทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษพากันแบนสินค้า และทำให้คู่หมั้นของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ออกมาร่วมหัวขบวนต่อต้านสินค้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย
รอยเตอร์รายงานว่า คุณนิรันดร์ ได้เปิดเผยว่า มีลิงเป็นจำนวนน้อยที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเก็บมะพร้าวสำหรับการส่งนอก และในส่วนนั้นส่วนมากจะเป็นการใช้แรงงานคนที่ใช้ไม้สอยเก็บเท่านั้น
เขาเปิดเผยต่อว่า มีสวนในภาคใต้เพียงไม่กี่แห่งที่จะใช้ลิงเก็บมะพร้าวต้นสูงๆ โดยปฏิเสธข้อหาการทารุณสัตว์จากพีต้าอังกฤษโดยสิ้นเชิง
“ไม่เป็นความจริงในส่วนนั้น ผมทำงานกับลิงมากว่า 30 ปี...ผมมีความผูกพันกับพวกมัน” คุณนิรันดร์ เปิดเผยกับรอยเตอร์ และชี้ว่า เขาฝึกลิงจำนวนราว 6-7 ตัว/ปี
รอยเตอร์ชี้ว่า หลังจากที่พีต้าประสบความสำเร็จในการทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่อังกฤษส่วนใหญ่หยุดการนำเข้าผลิตภัณฑ์สินค้ามะพร้าวจากไทยได้สำเร็จ และยังแถลงว่า มีร้านค้าในสหรัฐฯและเยอรมนีให้ความสนใจร่วมด้วย คู่หมั้นของจอห์นสัน ที่มีบุตรชายคนแรกด้วยกันช่วงโควิด-19 ระบาด แครี ไซมอนด์ส (Carrie Symonds) ได้ออกมาแถลงสนับสนุนให่ห้างร้านอื่นๆ ทำตาม ซึ่งพีต้าอังกฤษกล่าวว่า ทางองค์การเชื่อโดยบริสุทธ์ใจว่า มะพร้าวทุกลูกที่ออกมาจากไทยนั้น ถูกเก็บโดยแรงงานลิงเท่านั้น
แต่ทว่า รัฐบาลไทยได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยชี้ว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้นเกือบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว
ผู้ช่วยรัฐมนตรีการเกษตร มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ออกมาชี้แจงว่า ไทยมีผู้ปลูกมะพร้าวทั้งหมดราว 200,000 ราย ที่มีจำนวนมากเกือบทั้งหมดจะใช้แต่แรงงานคน และเครื่องจักรในการเก็บผลผลิต
เธอกล่าวอย่างชัดเจนว่า “ต่อให้ลิงทั้งป่าก็ไม่สามารถเพียงพอต่อทั้งอุตสาหกรรมได้”
แต่อย่างไรก็ตาม ในวันเสาร์ (11) พีต้าภาคพื้นเอเชียออกแถลงการณ์โต้รัฐบาลไทย มีใจความว่า “ความพยายามของภาคอุตสาหกรรมในการเบี่ยงเบนปัญหาด้วยการนับจำนวนสวนและลิง...นั้นเป็นเพียงแค่การแสดงให้โลกรู้ว่าพวกเขากำลังปฏิบัติเช่นเดิมด้วยการยังคงล่ามลิงไว้” เจ้าหน้าที่พีต้า นิราลี ชาฮ์ (Nirali Shah) กล่าว
รอยเตอร์รายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ไทยสามารถผลิตมะพร้าวได้มากกว่า 806,000 ลูก จากพื้นที่ 1,243.7 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ไทยส่งออกกระทิมีมูลค่ารวม 12.3 พันล้านบาท หรือราว 396 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง 8% ของทั้งหมดส่งให้อังกฤษ
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในเวลานี้ กำลังเป็นที่ยอดฮิตในโลกตะวันตก ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ชื่อดัง นำนมมะพร้าว (coconut milk) มาเป็นทางเลือกแทนกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถทานนมวัว หรือไม่ต้องการนมถั่วเหลืองได้ และในเวลานี้มีการนำนมมะพร้าวซึ่งเป็นกะทิแบบเจือจางผสมกับน้ำมะพร้าวเป็นโยเกิร์ตในต่างแดน และในหลายเมนูยังถึงขั้นใช้นมมะพร้าวดื่มแทนนมหรือแนะนำให้ลูกที่ยังเล็กดื่มแทนนมไปเลย หรือการใส่นมมะพร้าวในปริมาณที่มากผสมกับซีเรียลอาหารเช้า สำหรับการรับประทานก่อนไปโรงเรียนหรือทำงาน ซึ่งในเวลานี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหากดื่มน้ำกะทิแบบเจือจางในปริมาณมากแทนนมแบบชาวตะวันตกนี้จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร