xs
xsm
sm
md
lg

โหดได้โล่! 10 กิจกรรมจัดว่าเหี้ยม บนเส้นแบ่งระหว่างวิถี-ทารุณกรรมสัตว์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประเพณีล่าวาฬ-โลมา ที่หมู่เกาะแฟโรจนน้ำทะเลเป็นสีเลือด (ภาพ จากอินเตอร์เน็ต)
จากกรณีที่ประเทศไทยถูกกล่าวหาจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) ว่าใช้แรงงานลิงในเก็บมะพร้าว โดยอ้างว่าเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้ห้างสรรพสินค้าในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหลายแห่ง ต้องแบนสินค้าในกลุ่มมะพร้าวจากไทย จนกลายเป็นประเด็นร้อนแรง ซึ่งเคยเกิดขึ้นและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงทำความเข้าใจไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่าการนำลิงมาเก็บมะพร้าวนั้น เป็นเพียงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ด้วยกันมานาน และไม่ได้นำลิงมาทรมานแต่อย่างใด

นอกจากการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวที่เป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทยแล้ว เรามาดูกันว่าทั่วโลกเขามีวัฒนธรรมประเพณี หรือกิจกรรมใดบ้าง ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ในลักษณะคาบลูกคาบดอก บนเส้นแบ่งระหว่างวิถีความเชื่อกับการทารุณกรรมสัตว์ ที่บางกิจกรรมนั้นออกไปทางโหดผิดมนุษย์มนา ชนิดที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างอยากให้ยกเลิก แต่ก็ยังเคารพในการตัดสินใจของคนท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ


สำหรับ 10 กิจกรรมจัดว่าเหี้ยม บนเส้นแบ่งระหว่างวิถีกับทารุณกรรมสัตว์ ที่เราคัดสรรมา มีอะไรบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้

หมาลากเลื่อนบริการนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวนั่งรถลากเลื่อน โดยใช้สุนัขไซบีเรียนลากเลื่อนทั่วบริเวณรอบแม่น้ำซงฮวา
ในเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง ประเทศจีน ได้มีบริการให้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสประสบการณ์นั่งรถลากเลื่อนกลางหิมะ โดยใช้สุนัขไซบีเรียนลากเลื่อนทั่วบริเวณรอบแม่น้ำซงฮวา ซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ภาพสุนัขเหล่านั้นดูเหนื่อยล้าในช่วงฤดูหนาวของทุกปี และทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาถึงความเหมาะสมของเรื่องดังกล่าว ทั้งเจ้าของธุรกิจที่ทำเงินจากความเหน็ดเหนื่อยของสัตว์ และนักท่องเที่ยวที่หาความสุขบนความทุกข์ของสุนัขเหล่านั้น

หมูเก็บเห็ดทรัฟเฟิล


ใช้หมูตัวเมียเก็บเห็ดทรัฟเฟิล (ยูทูป FrenchTourisme)
เห็ดทรัฟเฟิล หนึ่งในวัตถุดิบทำอาหารที่ราคาแพง มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอิตาลี โดยเห็ดดังกล่าวสามารถหาได้เฉพาะในฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคม – ธันวาคม แทรกตัวอยู่ใต้พื้นดินประมาณ 5-20 ซม. ทำให้มนุษย์เราไม่ได้กลิ่นของเห็ด ต้องใช้จมูกพิเศษของสัตว์อย่างหมูตัวเมียเท่านั้นจึงจะได้กลิ่น และได้กลิ่นเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น ก่อนถูกนำมาทำเป็นอาหารอิตาเลียนชั้นเลิศหลากหลายเมนู

จับปลาด้วยนก วิถีชาวประมงโบราณ

จับปลาด้วยนก วิถีชาวประมงโบราณ ในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน (สำนักข่าวเอพี)
ในเมืองยงเจีย มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตการตกปลาของขาวประมงที่มีตั้งแต่โบราณ ที่ออกพายเรือไม้ไผ่พร้อมกับสัตว์เลี้ยงคู่ใจอย่างนกกาน้ำ ซึ่งคนที่นี่ใช้นกในการหาปลากันมานากว่า 1,300 ปีแล้ว โดยนกกาน้ำแต่ละตัวจะถูกรัดคอด้วยห่วงไว้อย่างหลวมๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มันเผลอกลืนปลาลงท้องไป หลังจากล่องเรืออยู่กลางแม่น้ำ ชาวประมงจะใช้ไม้เคาะที่เรือเพื่อเป็นสัญญาณให้เหล่านกน้อยเริ่มทำงาน นกทุกตัวจะต้องได้รับการฝึกเป็นเวลา 1 ปีก่อนจะมาทำงานนี้ได้

ล่าแมวน้ำในแคนาดา


เทศกาลล่าแมวน้ำของแคนาดา
ในระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมนั้น เป็นเทศกาลล่าแมวน้ำของแคนาดา ซึ่งทางการแคนาดาอนุญาตให้ล่าได้แบบเชิงพาณิชย์และถูกกฎหมาย เพื่อทำเป็นเสื้อโค้ทขนสัตว์ให้ชาวอเมริกันและชาวยุโรปใส่ ปัจจุบันการล่าแมวน้ำลดลง เหลือราวปีละ 35,000 ตัว เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคลดน้อยลงจากกระแสการต่อต้านความรุนแรงและวิธีฆ่าแมวน้ำที่ดูโหดร้ายในความรู้สึกของคนทั่วไป

ล่าวาฬวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

ล่าวาฬวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้กลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้งในรอบ 30 ปี หลังจากที่ได้ถอนตัวจากคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) โดยกำหนดโควต้าสำหรับการล่าวาฬในครึ่งปีที่ 227 ตัว ซึ่งลดทอนจากปีก่อนทั้งหมด 637 โดยเหตุผลสำคัญที่ญี่ปุ่นอ้างว่าต้องเดินหน้าล่าวาฬคือ ในอดีตชาวญี่ปุ่นไม่นิยมกินเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ เนื้อวาฬจึงเป็นอาหารโปรตีนในยุคที่แร้นแค้น เพราะวาฬมีขนาดใหญ่ ผู้คนจำนวนมากสามารถกินได้ และยังได้ไขวาฬและผลพลอยได้อื่น ๆ จากการล่าวาฬด้วย ญี่ปุ่นอ้างว่าวัฒนธรรมล่าวาฬเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

ล่าวาฬ-โลมา ประเพณีสืบทอดนับร้อยปี ที่หมู่เกาะแฟโร

ชาวประมงที่หมู่เกาะแฟโร ออกล่าวาฬ-โลมา จำนวนนับร้อยตัวมาฆ่าริมชายหาดจนน้ำทะเลเป็นสีเลือด
ชาวประมงจำนวนหลายสิบคนในเมือง Torshavn หนึ่งในเมืองของหมู่เกาะแฟโร ของรัฐปกครองตัวเองภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก จะออกล่าวาฬและโลมาในช่วงระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. ของทุกปี เพื่อตระเตรียมเสบียงไว้รองรับกับฤดูหนาวอันเย็นยะเยือกที่กำลังคืบคลานเข้ามาซึ่งเป็นประเพณีที่มีมานานนับร้อยปีตั้งแต่ยุคของชาวไวกิ้งหลงเหลืออยู่

โดยพวกเขาจะออกล่าวาฬและโลมาจำนวนนับร้อยตัวมาฆ่าริมชายหาดจนน้ำทะเลเป็นสีเลือด ก่อนที่จะนำเนื้อวาฬและโลมาไปใช้ทำอาหาร โดยการล่าวาฬ-โลมานี้ถือ ซึ่งแต่ละปีจะมีการล่าวาฬและโลมานับพันตัว โดยสัตว์เหล่านี้จะถูกมาใช้ประโยชน์ทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ กระดูก และน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าซื้อขายหลักของเกาะแห่งนี้

สู้วัวกระทิง สเปน มีชื่อเสียงทั่วโลก

สู้วัวกระทิง วัฒนธรรมที่ชาวสเปนภูมิใจและสืบทอดมายาวนาน
การสู้วัวกระทิง เป็นรูปแบบการต่อสู้ ศิลปะ การกีฬา วัฒนธรรมที่ชาวสเปนภูมิใจและสืบทอดมายาวนานตั้งแต่ยุคโรมัน เดิมนั้นเป็นกีฬาของชนชั้นสูง จนกระทั่งมาถึงสมัยหนึ่งได้มีการสั่งห้ามไม่ให้ชนชั้นสูงจัดการแข่งขันกีฬาชนิดนี้อีก แต่คนสามัญธรรมดารับเอากีฬานี้มาเล่นเสียเอง ปัจจุบันกีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และจัดเทศกาลสู้วัวนี้ในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนตุลาคม ขณะที่หลายคนมองว่า มันเป็นกีฬาที่ป่าเถื่อนและโหดร้าย ที่มักจบลงด้วยการตายของวัวกระทิง

ประเพณีต้อนม้าป่า สเปน

ประเพณีราปา ดาส เบสตาส ตีตราด้วยเหล็กร้อนลงบนตัวม้าเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ
นอกจากประเพณีสู้วัวกระทิงของประเทศสเปน ยังมีอีกหนึ่งประเพณี “ราปา ดาส เบสตาส” (Rapa das Bestas) โดยชาวเมืองชาวแคว้นกาลิเซีย จะต้อนม้าป่าจากเทือกเขาซาบูเซโด มาตัดขนตกแต่งให้สะอาด ก่อนมาตีตราด้วยเหล็กร้อนลงบนตัวม้าเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ จากนั้นจะปล่อยกลับคืนสู่ภูเขา ซึ่งประเพณีดังกล่าวเริ่มขึ้นนานกว่า 400 ปี โดยชาวกาลิเซียจะต้อนและจัดการม้าป่าเพื่อนำมาใช้งาน ต่อมาวิวัฒนาการกลายเป็นประเพณีเพื่อความสนุกสนานมากว่าจะนำม้ามาใช้งานจริง

ประเพณีชนสุนัข อัฟกานิสถาน

ประเพณีชนสุนัขในอัฟกานิสถาน ถูกนำกลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้ง (สำนักข่าวเอพี)
ปัจจุบันประเพณีชนสุนัขในอัฟกานิสถาน ถูกนำกลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มตาลีบันได้ทำการประกาศแบนกีฬาต่อสู้สุนัขไปแล้ว โดยประเพณีดังกล่าวเจ้าของสุนัขต่างพาสุนัขของตนเองมาเข้าร่วมการต่อสู้เป็นประจำทุกสัปดาห์ในเขต Paghman เมือง Kabul ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม โดยการแข่งขันจะจบลงเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมวิ่งหนีไป หรือถูกทำให้หมดสภาพ ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลเป็นการตอบแทน

เทศกาลกระทิงไฟในสเปน

เทศกาลกระทิงไฟ สืบต่อมายาวนานหลายศตวรรษ (สำนักข่าวเอเอฟพี)
เมืองเมดินาเซลี จังหวัดโซเรีย ประเทศสเปน จัดเทศกาลกระทิงไฟ หรือที่เรียกกันว่า เทศกาล Toro Jubilo ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีการสืบต่อมายาวนานหลายศตวรรษ โดยนำกระทิงถูกมัดติดกับท่อนไม้และจุดไฟรอบหัว ก่อนผู้ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้กล้า” จะลงไปหลอกล่อให้มันวิ่งไล่ขวิดจนหมดแรง กินเวลากว่า 45 นาที จากนั้นเพชฆาตก็จะลากเจ้ากระทิงในพิธีไปชำแหละ แจกเนื้อให้แก่ผู้กล้าที่กล้าลงไปดวลกับมันได้กิน

นอกจาก 10 ประเพณี-กิจกรรม ที่จัดว่าเหี้ยมต่อสัตว์ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมการนำสัตว์มาแข่งขันอื่น ๆ อีก อาทิ การแข่งวิ่งสุนัขเกรย์ฮาวด์ ในประเทศอังกฤษ ที่มีมาตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2469 และต่อมาเป็นที่แพร่หลายในหลากหลายประเทศ รวมถึงกิจกรรมที่เข้าข่ายทารุณสัตว์ในบ้านเรา ซึ่งไม่ถูกใจคนรักสัตว์เป็นอย่างยิ่ง อย่างเช่น วัวชน ชนไก่ กัดปลา เป็นต้น

อย่างไรก็ดีแม้ว่าประเพณี-กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่ยกมาให้ทุกคนได้รู้จักนั้น ล้วนมาจากความเชื่อที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของท้องถิ่นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ถือเป็นวิถีทางวัฒนธรรมที่เราควรให้ความเคารพกัน เพราะในแต่ละเชื้อชาติก็มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย

เช่นเดียวกับการใช้ลิงเก็บมะพร้าวที่ถือเป็นหนึ่งในวิถีไทย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องใช้ความสามารถอย่างมาก ในการฝึกลิงที่ซนและดื้อให้อยู่ในโอวาท โดยผู้ฝึกนั้นต่างก็รักลิงเหมือนลูกเลี้ยงและดูแลลิงอย่างดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ PETA หรือว่า ส.ส. และนักวิชาการบางคนในประเทศนี้อาจไม่ (ยอม) เข้าใจ

กำลังโหลดความคิดเห็น