Russia, China keep the ‘dragon in the fog’
by M. K. Bhadrakumar
08/07/2020
รัสเซียกับจีนเวลานี้กำลังมีลักษณะร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ ต่างวางตัวเป็น “มังกรในสายหมอก” โดยที่สำนวนอุปมาเปรียบเทียบนี้เป็นมโนทัศน์ในภาษาจีนซึ่งวาดภาพให้เห็นเพลเยอร์ที่เข้มแข็งรายหนึ่งกำลังอยู่ในพื้นที่ซึ่งคนอื่นๆ หยั่งรู้ไม่ถึง และเตรียมพร้อมสามารถเข้าโจมตีพวกปรปักษ์ของตนในขณะใดก็ได้จากแง่มุมที่เหนือความคาดคิด <
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน พูดระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ในวันพุธ (8 ก.ค.) กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/english/2020-07/08/c_139197664.htm) ว่า ปักกิ่ง “จะทำงานอย่างต่อเนื่อง” กับมอสโก ใน “การให้ความสนับสนุนอย่างหนักแน่นมั่นคง” แก่ความพยายามของกันและกัน ใน “การปฏิเสธการบ่อนทำลายและการก้าวก่ายแทรกแซงจากภายนอก” เพื่อที่จะ “สงวนรักษาอธิปไตย, ความมั่นคง, และสิทธิในการพัฒนา ของพวกตนแต่ละฝ่าย, รวมทั้งปกป้องผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกันของพวกตน”
นี่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการควบรวมก่อรูปขึ้นมาอย่างแข็งแรงของแผ่นแม่แบบแผ่นใหม่ในความเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับจีน ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ – เป็นการให้ความสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อผลักไสไล่ส่งการปฏิบัติการอย่างลับๆ ล่อๆ ของพวกหน่วยข่าวกรองตะวันตก ในการสั่นคลอนเสถียรภาพของสถานการณ์ภายในของประเทศทั้งสอง
ความผูกพันกันที่เสมือนกับเป็นพันธมิตรกันเช่นนี้ มีรากเหง้ามาจากความเป็นหุ้นส่วนกันทางเศรษฐกิจอันคึกคักมีชีวิตชีวา –การค้าระหว่างประเทศทั้งสองแตะระดับ 110,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.russia-briefing.com/news/russia-china-bilateral-trade-hit-us-110-billion-2019-china-buying.html/)-- และการร่วมมือกันตลอดจนการประสานงานกันอย่างเข้มข้นเร่งทวีขึ้นเรื่อยๆ ในปริมณฑลด้านนโยบายการต่างประเทศ ก็คืบหน้าไปแบบก้าวกระโดดก้าวใหญ่ เมื่อสองประเทศจับมือกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการเมืองของพวกตน ความสนใจของปักกิ่งที่จะประกาศเน้นย้ำเรื่องนี้เป็นสิ่งที่บอกกล่าวให้เห็นกันอย่างชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว
สีโทรศัพท์ไปพูดจากับปูตินครั้งนี้ ภายใต้ฉากหลังที่รัสเซียมีการลงประชามติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจีนก็มีการผ่านกฎหมายเพื่อรับประกันให้เกิดความมั่นคงในฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามความเข้าใจในเบื้องต้น สำนวนอุปมาเปรียบเทียบที่ว่า “มังกรในสายหมอก” (dragon in the fog) ดูจะเป็นลักษณะร่วมกันของทั้งคู่ในเวลานี้ วลีนี้เป็นมโนทัศน์ในภาษาจีนซึ่งวาดภาพให้เห็นเพลเยอร์ที่เข้มแข็งรายหนึ่งกำลังอยู่ในพื้นที่ซึ่งคนอื่นๆ หยั่งรู้ไม่ถึง และเตรียมพร้อมสามารถเข้าโจมตีพวกปรปักษ์ของตนในขณะใดก็ได้จากแง่มุมที่เหนือความคาดคิด
สำนวนอุปมาเปรียบเทียบนี้ถูกนำเอามาใช้เมื่อเร็วๆ นี้โดยนักวิเคราะห์การเมืองชาวรัสเซีย อเล็กซีย์ เชสนาคอฟ (Alexey Chesnakov) ผู้ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยคนหนึ่งของวังเครมลินมาก่อน เชสนาคอฟกำลังสรุปสาระสำคัญของการลงประชามติในรัสเซีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://interfax.com/newsroom/top-stories/69190/) ซึ่งจะเปิดทางให้ปูตินสามารถที่จะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยละ 6 ปีได้อีก 2 สมัย โดยระบุว่า ประธานาธิบดีปูติน “ต้องการที่จะเป็น ‘มังกรในสายหมอก’ ต่อไปอีก จวบจนกระทั่งสิ้นสุดวาระการเป็นประธานาธิบดีของตน”
เชสนาคอฟอธิบายว่า โอกาสความเป็นไปได้อย่างชัดเจนที่ปูตินจะคงอยู่ในอำนาจต่อไปภายหลังปี 2024 ยังจะเป็นการส่งสัญญาณอันไม่ผิดพลาดไปถึงประชาคมระหว่างประเทศว่า ผู้นำรัสเซียผู้นี้มีความมั่นอกมั่นใจในการกุมบังเหียนกิจการต่างๆ ในประเทศของเขาไปอย่างน้อยที่สุดก็ในรอบทศวรรษหน้า
ในเรื่องกฎหมายฮ่องกง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ HTTPS://WWW.BBC.COM/NEWS/WORLD-ASIA-CHINA-53330650) ก็เช่นเดียวกัน แนวคิดนำคือการเป็น “มังกรในสายหมอก” กฎหมายใหม่นี้มุ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความสามัคคีเป็นเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีน ความผิดทางอาญา 4 ประเภทที่วางกรอบครอบคลุมเอาไว้โดยกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน, การบ่อนทำลายอำนาจรัฐ, กิจกรรมแบบผู้ก่อการร้าย, และการสมคบคิดกับกลุ่มพลังต่างประเทศและกลุ่มพลังภายนอกที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ โดยสาระสำคัญแล้ว กฎกมายฉบับนี้จะทำให้พวกข่าวกรองฝ่ายตะวันตกอยู่ในสภาพต้องคอยคาดเดาเอาไว้จะถูกเล่นงานเมื่อใด
ข้อโต้แย้งสำคัญที่สุดของพวกนักวิชาการทางกฎหมายของฝ่ายตะวันตกก็คือว่า กฎหมายใหม่นี้สร้างความอ่อนแอให้แก่หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ทว่าสิ่งที่มีความขัดแย้งระหว่างกันเองอยู่ในที่นี้ ก็คือ ขณะที่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายตะวันตกให้น้ำหนักเน้นไปถึงส่วนของ “สองระบบ” นั้น ปักกิ่งกลับประเมินว่าเป็นส่วนของ “หนึ่งประเทศ” ต่างหากที่กำลังอ่อนปวกเปียกลงอย่างน่าตื่นตกใจในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้สืบเนื่องจากความปั่นป่วนวุ่นวายในฮ่องกง
ปักกิ่งมีทางเลือกอยู่ 2 ทางในการทำให้เกิดความประสานสอดคล้องเพิ่มขึ้นมาให้มากๆ –ได้แก่การใช้กำลังเพื่อฉุดรั้งแนวความคิดว่าด้วย “สองระบบ” ไม่ให้ถูกระชากออกไปไกลสุดกู่ หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ การเสริมความเข้มแข็งให้แก่ส่วน “หนึ่งประเทศ” ด้วยการจัดหาหมุดตรึงต่างๆ ทางด้านความมั่นคงขึ้นมา ปักกิ่งได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางหลังภายหลังดำเนินการขบคิดพิจารณาอย่างมากมาย
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ปักกิ่งต้องการที่จะรักษาฮ่องกงให้ยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย ขณะที่เวลาเดียวกันนั้นก็จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความมั่นคงและเสถียรภาพของนครแห่งนี้ แน่นอนทีเดียว การเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายของพวกสำนักงานข่าวกรองฝ่ายตะวันตก –ที่มีบทบาทมากกว่าเพื่อนก็คือข่าวกรองอังกฤษ, ออสเตรเลีย, และอเมริกัน— เพื่อเติมเชื้อเพลิงให้แก่การประท้วงในฮ่องกงนั่นเองที่ก่อรูปให้เกิดบริบทเช่นนี้ขึ้นมา
ฮ่องกงนั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานในการเป็นฐานพักพิงเตรียมตัวสำหรับการออกปฏิบัติการ ของพวกสำนักงานข่าวกรองฝ่ายตะวันตกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้การปฏิบัติการอย่างลับๆ ล่อๆ จากฮ่องกงของพวกสำนักงานข่าวกรองตะวันตก ทั้งในช่วงก่อน, ระหว่าง, และภายหลังเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในประเทศจีน ได้มีผู้เขียนเอาไว้มากแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ HTTPS://WWW.NEWSWEEK.COM/STILL-WING-175592)
ในกรณีของรัสเซียก็เช่นเดียวกัน กิจกรรมต่างๆ ทางด้านข่าวกรองของฝ่ายตะวันตกกำลังแสดงให้เห็นสัญญาณของการมุ่งมั่นผลักดันอย่างเต็มที่อีกคำรบหนึ่ง เพื่อให้ฉากทัศน์ภาพสถานการณ์แบบที่วังเครมลินต้องย่างก้าวเข้าสู่ยุค “หลังปูติน” (post-Putin) กลายเป็นความจริงขึ้นมา ตามการคาดคำนวณของฝ่ายตะวันตกนั้น ถ้าหากปูตินเกิดต้องก้าวลงจากอำนาจในปี 2024 แล้ว ในไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้ไปเขาก็จะต้องตกอยู่ในสภาพการเป็นผู้นำ “เป็ดง่อย” (lame duck)
เหมือนๆ กับในฮ่องกง พวกข่าวกรองฝ่ายตะวันตกได้พัฒนาเครือข่ายต่างๆ อย่างกว้างขวางขึ้นภายในรัสเซีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ HTTP://WWW.XINHUANET.COM/ENGLISH/2020-06/10/C_139129482.HTM) และโดยอาศัยเครือข่ายเหล่านี้เอง มันก็มีความเป็นไปได้อย่างชนิดคุ้มค่า ที่จะเติมเชื้อเพลิงทำให้บังเกิดความไม่สงบขึ้นมาในแดนหมี่ขาว ถ้าหากภาวะความไม่แน่นอนชัดเจนทางการเมืองเกิดการรวมตัวเข้ากับความทุกข์ยากเดือดร้อนทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ฝ่ายต่อต้านข่าวกรองของรัสเซียมีความตระหนักรับรู้เป็นอย่างดีถึงอันตรายเช่นนี้
ปูตินเฉลียวฉลาดกว่าและสามารถใช้สติปัญญาเอาชนะแผนการเล่นของฝ่ายตะวันตกที่มุ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของรัสเซีย จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้เป็นการเปิดทางให้เขาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก 2 สมัยๆ ละ 6 ปี และเขามีเจตนาที่จะทำให้ทุกๆ ฝ่ายต้องระวังคาดเดากันไปเรื่อยๆ ว่าเขาจะมาไม้ไหน การทำให้พวกปรปักษ์ฝ่ายตะวันตกต้องระวังคาดเดากันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งจีนวาดหวังที่จะได้รับเช่นเดียวกัน จากการออกกฎหมายความมั่นคงมาใช้ในฮ่องกง
ด้วยเหตุนี้ ภายในกฎหมายใหม่ฉบับนี้ พวกข่าวกรองฝ่ายตะวันตกที่กำลังปฏิบัติการจากนครแห่งนี้จึงต้องอยู่ใต้การเฝ้าตรวจสอบระแวดระวังของปักกิ่งโดยตรง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ HTTPS://WWW.BBC.COM/NEWS/WORLD-ASIA-CHINA-53330650) การกะเกณฑ์การมองหาคนเข้ามาเป็นสายลับท้องถิ่น, การวางแผนและการออกปฏิบัติการภายในจีน, หรือการยุยงให้เกิดความไม่สงบในฮ่องกงเพื่อทำให้จีนอ่อนแอลง – การปฏิบัติการลับๆ ล่อๆ ทำนองนี้จะกลายเป็นเรื่องเสี่ยงและยากลำบากเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเหลือเกินสำหรับหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ, อังกฤษ, และออสเตรเลีย มีจุดที่น่าสนใจมากว่า สีได้ใช้ถ้อยคำว่า “การบ่อนทำลายและการแทรกแซงก้าวก่ายจากภายนอก” ในการสนทนาของเขากับปูตินในวันพุธ (8 ก.ค.)
ปักกิ่งกับมอสโกต่างส่งเสียงแสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันในความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในด้านความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้า ลี่เจียน (Zhao Lijian) แถลงเอาไว้ดังนี้:
“เรารับทราบเรื่องที่การลงประชามติระดับชาติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในปฏิทินทางการเมืองของรัสเซีย กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น ผลลัพธ์ที่ออกมาซึ่งเผยแพร่โดยคณะกรรมการกลางการเลือกตั้ง (Central Elections Commission) สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจเลือกของประชาชนชาวรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียเป็นชาติเพื่อนบ้านซึ่งเป็นมิตร และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในการร่วมมือประสานงานกันเพื่อก้าวหน้าสู่ยุคใหม่ จีนจะให้ความเคารพเสมอในเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างอิสระที่เลือกโดยประชาชนชาวรัสเซีย และสนับสนุนความพยายามของรัสเซียในการทำให้เกิดเสถียรภาพอย่างคงทนถาวรจริงๆ ขึ้นมา ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม
“เราพร้อมแล้วที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายรัสเซียเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามฉันทามติซึ่งบรรลุโดยประมุขแห่งรัฐของพวกเราทั้งสอง, หยั่งรากลงลึกในเรื่องการประสานงานทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในปริมณฑลต่างๆ หลากหลาย, และนำเอาผลประโยชน์ที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีกมาสู่ประชาชนของพวกเราทั้งสอง”
วันเดียวกันนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) กล่าวในกรุงมอสโกว่า “เรารับทราบถึงการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายว่าด้วยการรับประกันความมั่นคงแห่งชาติในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ตามมติการตัดสินใจของคณะกรรมการประจำ (Standing Committee) แห่งสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน (National People’s Congress of China)
“ภายในบริบทนี้ เราใคร่ขอย้ำยืนยันอีกครั้งว่าจุดยืนในทางหลักการของรัสเซียเกี่ยวกับสถานการณ์ในฮ่องกงนั้นยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีน และพิจารณาว่าประเด็นปัญหาทุกๆ อย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับฮ่องกงนั้นเป็นกิจการภายในของจีน เราคัดค้านความพยายามใดๆ ก็ตามของพวกอำนาจภายนอกที่เข้าแทรกแซงก้าวก่ายในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลส่วนกลางกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของสาธารณรัฐประชาชนจีน”
ความร่วมมือกันระหว่างพวกหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัสเซียและของจีนในแวดวงของความมั่นคงภายในนั้น จะสามารถงอกเงยเติบโตขึ้นได้ก็ต้องมาจากการมีความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับสูงของผู้นำระดับสูงสุดเท่านั้น มีความเคลื่อนไหวที่ต้องถือว่าสำคัญประการหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ได้แก่ การที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เก ริบคอฟ (Sergei Ryabkov) แสดงท่าทีเย็นชาไม่เอาด้วยกับคำเชื้อเชิญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ปูตินเข้าร่วมในการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 ในสหรัฐฯ โดยเขาระบุว่า นี่เป็นแนวความคิดที่ “ผิดพลาด”
มอสโกมีเหตุผลความชอบธรรมอยู่เป็นจำนวนมากมาย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ HTTPS://TASS.COM/POLITICS/1176147) ที่จะวางตัวเองให้ออกห่างจากคำเชื้อเชิญของทรัมป์ แต่สิ่งที่ริบคอฟเลือกนำมาใช้อธิบายนั้นเป็นการมุ่งแสดงท่าทีที่ชัดเจนเอามากๆ เขากล่าวว่า “แนวความคิดของสิ่งที่เรียกกันว่า การประชุมซัมมิต จี7 ขยายวงนั้น เป็นความผิดพลาด เนื่องจากมันไม่ได้เป็นที่ชัดเจนสำหรับเราว่าเหล่าผู้ที่ริเริ่มจัดทำแผนการการประชุมดังกล่าวนี้ขึ้นมานั้น พิจารณาปัจจัยเรื่องจีนกันอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อปราศจากจีน มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหารือกันถึงประเด็นปัญหาอันแน่นอนใดๆ ในโลกยุคใหม่นี้”
กล่าวโดยสรุปก็คือ ริบคอฟปฏิเสธความเคลื่อนไหวของวอชิงตันที่จะให้ช่วยกันโดดเดี่ยวจีน พวกที่ปรึกษาของทรัมป์นั้นไร้เดียงสานักที่ประเมินว่าสามารถทำให้มอสโกติดเบ็ดและเข้าร่วมในยุทธศาสตร์การปิดล้อมต่อต้านจีนของฝ่ายวอชิงตัน โดยที่ริบคอฟแสดงการดูหมิ่นดูแคลนของวังเครมลินต่อแนวความคิดนี้อย่างเปิดเผย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ HTTPS://TASS.COM/POLITICS/1174803)
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/russia-china-keep-the-dragon-in-the-fog/)
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก