รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันพฤหัสบดี(9ก.ค.) เปิดเผยว่ากำลังตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนแนวทางขององค์กรในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และแนวทางตอบสนองต่อวิกฤตของรัฐบาลทั่วโลก
คำแถลงนี้มีขึ้นหลังพวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากรัฐบาลสหรัฐฯของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกล่าวหาองค์การอนามัยโลกว่าลำเอียงเข้าข้างจีน และหลังจากสหรัฐฯแจ้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร(7ก.ค.) ขอถอนตัวออกจากหน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ กระบวนการซึ่งจะใช้เวลา 1 ปี
เทดรอส แอดฮานอม เกรเบเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า เฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย ตอบรับเป็นประธานคณะกรรมการแล้ว
"ระดับความรุนแรงของโรคระบาดใหญ่นี้ ซึ่งส่งผลกระทบเกือบทุกคนบนโลก ชัดเจนว่าควรมีการประเมินในระดับพอๆกัน และเป็นการประเมินอย่างเที่ยงตรง" เขากล่าวระหว่างประชุมทางไกลกับตัวแทนของรัฐสมาชิก 194 ชาติขององค์การอนามัยโลก
ประธานร่วมจะเป็นคนเลือกสมาชิกคนอื่นๆในคณะกรรมการ และจากนั้นทางคณะกรรมการจะนำเสนอรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบทบทวน ต่อที่ประชุมประจำปีของบรรดารัฐมนตรีสาธารณสุขในเดือนพฤศจิกายนและนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐสมาชิกขององค์การอนามัยโลกลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์รับข้อเสนอของทางสหภาพยุโรปที่เรียกร้องให้มีการประเมินการรับมือโรคระบาดของนานาชาติอย่างอิสระและครอบคลุมรอบด้าน
ระหว่างการแถลงในวันพฤหัสบดี(9ก.ค.) คลาร์ก บอกว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
จอห์นสัน เซอร์ลีฟ อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย ซึ่งเคยเผชิญวิกฤตอีโบลา ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในแอฟริกาตะวันตก ระหว่างปี 2014 ถึง 2016 บอกว่าเธอตั้งตาคอยสำหรับ "ทุกทุกอย่างที่เราทำได้" เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆของโรคระบาดใหญ่
จากการนับของรอยเตอร์ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมากกว่า 12 ล้านคนทั่วโลกและในนั้นเสียชีวิต 548,429 คน
ไอโลนา คิกบุช ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขโลกและอดีตหัวหน้าฝ่ายสื่อสารมวลชนขององค์การอนามัยโลก บอกกับรอยเตอร์เมื่อวันพุธ(8ก.ค.) ว่าการทบทวนใดๆจำเป็นต้องมีความน่าเชื่อถือ