xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์เตือน ‘โควิด-19’ อาจส่งผลทำลาย ‘สมอง’ และระบบประสาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานบ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจเข้าไปทำลายสมอง และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาทขั้นรุนแรง เช่น การอักเสบ, การป่วยเป็นโรคจิต (psychosis) และภาวะเพ้อคลั่ง (delirium) เป็นต้น

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London - UCL) ได้ทำการศึกษาเคสผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 43 ราย ที่มีอาการทางสมอง ตั้งแต่สมองทำงานผิดปกติชั่วคราว เรื่อยไปจนถึงโรคหลอดเลือดสมอง (stroke), เส้นประสาทถูกทำลาย และความผิดปกติที่รุนแรงอื่นๆ ซึ่งเป็นการยืนยันผลวิจัยที่มีมาก่อนหน้านี้ว่าโควิด-19 อาจทำให้สมองเสียหาย

“เราจะพบผู้ป่วยจำนวนมากที่สมองถูกทำลายเพราะโควิด-19 เหมือนอย่างโรค Encephalitis Lethargica ที่เคยระบาดเมื่อช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 หรือไม่นั้น ยังต้องรอดูกันต่อไป” ไมเคิล ซานดี จากสถาบันประสาทวิทยาแห่ง UCL ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้วิจัย ระบุ

แม้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจที่สร้างความเสียหายต่อปอดเป็นหลัก แต่นักประสาทวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสมองหลายคนเริ่มพบหลักฐานบ่งชี้ถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อสมองที่น่ากังวล

“สิ่งที่ผมกังวลก็คือ เรามีคนหลายล้านคนที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในตอนนี้ และในอีก 1 ปีข้างหน้า เราจะมีคนที่หายป่วยจากโรคนี้ราวๆ 10 ล้านคน ซึ่งหากคนเหล่านี้มีความบกพร่องทางการรับรู้ มันจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา” เอเดรียน โอเวน นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นในแคนาดา ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

งานวิจัยของ UCL ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Brain ระบุว่า ผู้ป่วย 9 คน ที่มีอาการสมองอักเสบถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค acute disseminated encephalomyelitis (ADEM) ซึ่งโดยปกติมักจะพบในเด็ก และอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส

ทีมวิจัยระบุว่า โดยปกติพวกเขาจะพบผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรค ADEM ประมาณ 1 รายต่อเดือน ที่คลินิกพิเศษในกรุงลอนดอน แต่ค่าเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1 รายต่อสัปดาห์ในระยะเวลาที่ทำการศึกษา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล

“เนื่องจาก โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแค่ไม่กี่เดือน เราจึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามันจะก่อผลเสียในระยะยาวอย่างไรบ้าง” รอสส์ เพเทอร์สัน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยระบุ “แพทย์จำเป็นต้องทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบประสาท เพราะการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยให้ผลลัพธ์ในการรักษาดีขึ้นได้”

โอเวน ชี้ว่า หลักฐานที่ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและเก็บข้อมูลในระดับสากล เพื่อประเมินว่า ผลกระทบต่อระบบประสาทและสภาพจิตของผู้ป่วยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมากน้อยเพียงใด ซึ่งตัวเขาเองก็ได้เริ่มโครงการวิจัยนานาชาติผ่านทางเว็บไซต์ covidbrainstudy.com โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามาลงทะเบียนรับการทดสอบระดับความสามารถทางสติปัญญา (cognitive tests) เพื่อดูว่าการทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่หลังจากที่ได้รับเชื้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น