สธ.แบ่งบริการผู้ป่วยนอก 3 โซน คลินิกทั่วไปเน้นโรคเรื้อรัง หากอาการดี พบหมอครั้งเว้นครั้งแบบออนไลน์ได้ มีช่องทางด่วนรับยาเมื่อมา รพ. คลินิกเสี่ยงสูง เน้นกลุ่มทางเดินหายใจ ต้องจัดนอกตัวอาคาร และคลินิกภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องเพิ่มระบบระบายอากาศ หรือทำห้องความดันบวก จ่อพัฒนาตามศักยภาพ รพ.
วันนี้ (18 มิ.ย.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงระบบการดูแลผู้ป่วยนอกวิถีใหม่ ว่า ที่ผ่านมา รพ.มีความแออัด ทำให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อได้ มีเวลาพบแพทย์น้อย รอคอยนาน แต่ระบบวิถีใหม่จะเน้นความปลอดภัย และเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้มีการคัดกรองตนเองและญาติก่อนมา รพ.ว่า มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 หรือไม่ เมื่อมาถึงจะมีจุดคัดกรอง เช่น อุณหภูมิ ประวัติ ความเสี่ยงต่างๆ และแยกจุดบริการเป็นโซนๆ นอกจากนี้ ที่ต้องปฏิบัติ คือ การสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเมื่อมา รพ. รวมถึงบุคลากรก็จะสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าด้วย ตามระดับความเสี่ยง มีการเว้นระยะห่าง 1 เมตร มีจุดล้างมืออย่างทั่วถึง และทำความสะอาดจุดเสี่ยงสัมผัสบ่อยขึ้น
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การบริการที่มีความใกล้ชิดกัน จะมีฉากพลาสติกหรืออะคริลิกกั้นเพื่อป้องกัน แยกโซนบริการตามความเสี่ยง ทั้งคลินิกทั่วไป คลินิกความเสี่ยงสูง คลินิกผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ มีการปรับระบบไหลเวียนอากาศและโครงสร้างทางกายภาพ ปรับมาสู่ระบบการจ่ายเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น การมารับบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยไม่ควรมีญาติมากับผู้ป่วยเกิน 2 คน เพื่อลดความแออัด ควรลงทะเบียน ตรวจสอบสิทธิ์ นัดเวลาตรวจออนไลน์ หากควบคุมโรคได้ดี ไม่ต้องมา รพ.บ่อย ก็ให้การรักษาทางไกลได้ หรือเติมยาโดยไม่ต้องพบแพทย์ เช่น ส่งยาทางไปรษณีย์ ร้านยาใกล้บ้าน หรือแบบไดรฟ์ทรู
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า การแยกโซนบริการตามความเสี่ยง แบ่งเป็น 1. คลินิกทั่วไป มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ รับเชื้อไม่สูง เช่น คลินิกโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การให้บริการจะแบ่งเป็นผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ควบคุมอาการดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่ต้องมา รพ.บ่อย อาจมาพบแพทย์ครั้งเว้นครั้ง โดยเลือกได้ว่าจะเป็นการพบแพทย์ทางไกลหรือไม่ และเลือกรับจัดส่งยาถึงบ้านได้ หรือหากมา รพ.โดยไม่ต้องพบแพทย์ ก็จะมีช่องทางด่วนพิเศษในการไปเติมยา 2) ควบคุมปานกลาง ดูแลตัวเองยังไม่ดีนัก ไม่ห่างจากเป้าหมายควบคุมโรคมาก มีภาวะแทรกซ้อน แต่ไม่รุนแรง พบแพทย์ครั้งเว้นครั้งได้ แต่ต้องมา รพ. รับยาทางช่องทางด่วนได้ ในรอบที่ไม่ต้องพบแพทย์ และ 3. ควบคุมไม่ดี มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ต้องมาที่ รพ.ทุกครั้ง ซึ่งการจัดบริการเช่นนี้ กลุ่มอาการดีมา รพ.น้อยลง ก็ลดความแออัดลดลง บุคลกรมีเวลาดูแลกลุ่มปานกลางและไม่ดีมากขึ้น
2. คลินิกความเสี่ยงสูง มีโอกาสแพร่เชื้อคนอื่นมากขึ้น เช่น คลินิกโรคทางเดินหายใจ มีโอกาสไอ จาม แพร่เชื้อได้ หรือหัตถการที่มีการฟุ้งกระจายของน้ำมูกน้ำลาย เช่น คลินิกทันตกรรม หู คอ จมูก ทั้งนี้ คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จะแยกโซนเป็นพิเศษไม่ปะปนกับคนไข้ทั่วไป ซึ่ง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน มีการจัดคลินิกดังกล่าวแล้ว หากทำได้ขอให้แยกออกไปอยู่นอกอาคาร มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากทำไม่ได้ ต้องจัดระบบระบายอากาศพิเศษ มีการหมุนเวียนอากาศเพียงพอป้องกันการติดเชื้อ กำหนดทางเดินทางเดียว จัดบริการแบบเบ็ดเสร็จรองรับการตรวจโรคอื่นด้วย บุคลากรมีความเสี่ยงสูงจะสวมชุดป้องกัน PPE และมีการแยกจุดในการเก็บตัวอย่างในโพรงจมูกเพื่อส่งตรวจ ทั้งพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่ปิด
3. คลินิกภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสรับเชื้อจากคนอื่นได้ง่าย เช่น คลินิกผู้ป่วยมะเร็งรับยากดภูมิ เปลี่ยนอวัยวะ ต้องจัดระบบระบายอากาศหมุนเวียนได้ดี อาจพิจารณาใช้เครื่องกรองอากาศ HEPA Filter หรือทำเป็นห้องความดันบวก (Positive Pressure) อากาศบริเวณนั้นจะดันออก อากาศบริเวณอื่นจะไม่เอาเชื้อโรคมาหา แต่ตรงนี้ลงทุนสูง อาจทำไม่ได้ทุก รพ. ทั้งหมดอาจไม่สามรถทำพร้อมกันหมดทุก รพ. แต่ก็ต้องปรับไปตามศักยภาพของ รพ.แต่ละแห่ง