สิงคโปร์เตรียมเดินหน้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจาก นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 มิ.ย.) จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสุ่มเสี่ยงในช่วงที่ประเทศยังคงเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับผู้นำรุ่นถัดไปที่จะมารับไม้ต่อจากนายกฯ ลี ซึ่งประกาศเจตนารมณ์ก้าวลงจากตำแหน่งในอีกไม่ช้า
รัฐบาลสิงคโปร์ได้เตรียมมาตรการป้องกันที่เข้มงวดเพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 ระหว่างที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงคะแนน โดยจะต้องมีการสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือยาง ขณะเข้าไปในหน่วยเลือกตั้ง ส่วนกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ก็คาดว่าจะถูกห้าม
พรรคฝ่ายค้านออกมาตำหนินายกฯ ที่จัดเลือกตั้งในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ โดยมองว่าจะทำให้พลเมืองสิงคโปร์สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคร้ายโดยไม่จำเป็น ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน วิจารณ์มานานแล้วว่า กระบวนการเลือกตั้งสิงคโปร์โอนเอียงเข้าข้างพรรครัฐบาล และหากไม่สามารถรณรงค์หาเสียงแบบลงพื้นที่ใกล้ชิดก็จะทำให้พรรคการเมืองเล็กๆ ยิ่งเสียเปรียบ
สิงคโปร์เคยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติว่า มีระบบตรวจหาเชื้อและติดตามบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพสูง ทว่าสุดท้ายก็มาตกม้าตายเมื่อพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหอพัก ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัดนับหมื่นๆ คน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มควบคุมได้อีกครั้ง ทำให้รัฐบาลตัดสินใจผ่อนปรนข้อจำกัดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และล่าสุด นายกฯ ลี ได้ตัดสินใจยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 10 ก.ค. นี้
ลี ได้ชี้แจงผ่านสื่อโทรทัศน์ว่า การเลือกตั้งจะช่วยเคลียร์ปัญหายุ่งยาก และเป็นการขออาณัติใหม่จากประชาชน ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการตัดสินใจในเรื่องสำคัญอื่นๆ ต่อไป
“การเลือกตั้งคราวนี้จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่มาตรการพิเศษที่เราจะนำมาใช้ป้องกันโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องสถานการณ์โรคระบาดและประเด็นสำคัญอื่นๆ เป็นเดิมพัน”
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้กัดเซาะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ซึ่งพึ่งพาการค้าและมีความเปราะบางต่อปัจจัยภายนอกมากเป็นพิเศษ โดยรัฐบาลยอมรับว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจจะหดตัวถึง 7% ซึ่งนับว่าแรงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นในปี 1965
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า พรรคกิจประชาชน (People's Action Party - PAP) ของนายกฯ ลี ซึ่งมี ส.ส. 82 จากทั้งหมด 88 ที่นั่งในสภา และผูกขาดอำนาจบริหารมานานกว่าครึ่งศตวรรษตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับอำนาจปกครองตนเองจากอังกฤษในปี 1959 จะคว้าชัยชนะได้อีกสมัยอย่างแน่นอน แต่การจัดเลือกตั้งในภาวะโรคระบาดก็นับว่ามีความเสี่ยงสูง และไม่แน่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือทำลายฐานเสียงของรัฐบาลเอง
ยูจีน ตัน นักวิเคราะห์การเมืองจาก Singapore Management University ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า โควิด-19 อาจกลายเป็นผลดีหรือผลเสียต่อพรรค PAP ก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง เพราะแม้ว่าในอดีตชาวสิงคโปร์จะเลือก PAP เป็นรัฐบาลต่อเนื่องหลายสมัย เนื่องจากมั่นใจในคณะผู้บริหารที่นำพาประเทศผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่โควิด-19 นั้นแตกต่างจากวิกฤตการณ์ในอดีตที่มักเป็นแค่ปัญหาระยะสั้น
ในขณะที่รัฐบาล ลี พยายามชูความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 แต่ก็ไม่วายถูกวิจารณ์ว่าละเลยสวัสดิภาพแรงงานต่างด้าว จนเป็นเหตุให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้
สิงคโปร์มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 42,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในภาคก่อสร้าง หรืองานซ่อมบำรุง ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 26 ราย
พรรค PAP ของ ลี เคยได้ป๊อปปูลาร์โหวตสูงถึง 70% ในศึกเลือกตั้งปี 2015 และจนถึงตอนนี้นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าฝ่ายค้านมีโอกาสน้อยมากที่จะพลิกมาเป็นฝ่ายชนะ
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีนัยสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นการปูทางส่งมอบอำนาจจากสมาชิกตระกูล ลี ผู้ก่อตั้งประเทศไปยังผู้นำพรรค PAP รุ่นถัดไป
ลี เซียนลุง ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของนาย ลี กวนยู ผู้ก่อตั้งรัฐสิงคโปร์สมัยใหม่ ยอมรับว่า มีแผนสละเก้าอี้หลังการเลือกตั้งผ่านไปสักระยะหนึ่ง และเตรียมส่งไม้ต่อให้แก่ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งผู้สังเกตการณ์คาดเดาว่าน่าจะเป็นนาย เฮง สวี เกียต (Heng Swee Keat) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ลี เซียนหยาง ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของนายกฯ สิงคโปร์ ก็ประกาศเมื่อวันพุธ (24) ว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (PSP) ที่นำโดยนาย ตัน เชง บ็อก (Tan Cheng Bock) เป็นที่เรียบร้อย ในความเคลื่อนไหวที่สะท้อนความบาดหมางร้าวลึกระหว่างพี่น้องตระกูลลี อันมีมูลเหตุมาจากเรื่องมรดกบ้านพักอายุนับร้อยปีของครอบครัว และเป็นความท้าทายล่าสุดที่รัฐบาลสิงคโปร์ต้องเผชิญก่อนจะถึงศึกเลือกตั้งในเดือน ก.ค.
ลี เซียนหยาง และ ลี เว่ยหลิง กล่าวหาพี่ชายคนโตของพวกเขาว่าลุแก่อำนาจ และขัดคำสั่งบิดาซึ่งได้สั่งเสียลูกๆ ให้รื้อบ้านทิ้ง เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิด “ลัทธิบูชาบุคคล” ขึ้นหลังจากที่ตนลาโลกไปแล้ว ทว่า นายกฯ ลี กลับไม่ทำตามคำสั่ง ซึ่งทำให้น้องๆ มองว่าเขากำลังเอาสมบัติของพ่อมาแสวงหาผลประโยชน์
“ผมตัดสินใจเข้าร่วมพรรค เพราะคิดว่า ตัน มีความตั้งใจจะทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศสิงคโปร์และพลเมืองสิงคโปร์ เขารักประเทศนี้ และได้รวบรวมสมัครพรรคพวกอีกหลายคนที่มีแนวคิดตรงกัน” ลี เซียนหยาง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยไม่ยืนยันว่าจะลงสมัคร ส.ส. ด้วยหรือไม่
ผู้สังเกตการณ์มองว่าพรรค PSP ของ ตัน ที่เพิ่งจะก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วคงไม่สามารถล้มยักษ์ใหญ่ PAP ที่ผูกขาดอำนาจปกครองมานานหลายสิบปีได้ แต่การได้ ลี เซียนหยาง มาเป็นสมาชิก บวกกับบารมีของ ตัน ซึ่งก็เคยเป็น ส.ส. พรรค PAP มาก่อน น่าจะช่วยเรียกคะแนนนิยมมาจากกลุ่มฐานเสียงของรัฐบาลได้บางส่วน