รอยเตอร์ - พรรคกิจประชาชน (People's Action Party) พรรครัฐบาลของสิงคโปร์ ยังรักษาอำนาจไว้ได้อย่างสบายๆในศึกเลือกตั้งวันศุกร์ (3 ก.ค.) แต่พบคะแนนโหวตลดลงและฝ่ายค้านอยู่บนเส้นทางของการคว้าเก้าอี้มากสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่พอใจกับการรับมือวิกฤตไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของรัฐบาล
หลังจากครองอำนาจมาตั้งแต่สิงคโปร์ประกาศเอกราชในปี 1965 พรรคกิจประชาชนได้รับคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามันอาจเป็นชัยชนะครั้งสุดท้ายของนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ก่อนที่เขาจะเกษียณตนเองในฐานะผู้นำของประเทศ
ระหว่างการนับคะแนนที่ยังไม่แล้วเสร็จในช่วงเช้ามืดวันเสาร (11 ก.ค.) ดูเหมือนพรรคพรรคกิจประชาชนคว้าเก้าอี้มาครองได้แน่นอนแล้ว 74 ที่นั่ง จากทั้งหมด 93 ที่นั่ง หรือเกิน 2 ใน 3 ของเสียงข้างมากในรัฐสภา และกำลังมีคะแนนนำอยู่ในอีก 18 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาพบว่าคะแนนได้แกว่งไปสู่พรรคแแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลัก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยพวกเขาคว้าเก้าอี้ได้แล้วแน่ๆ 1 ที่นั่ง และอยู่บนเส้นทางของการคว้าเก้าอี้ได้เพิ่มเติมอีก 9 ที่นั่ง ในขณะที่คะแนนดิบ (popular vote) ของพรรคกิจประชาชน ลดลงอย่างมากจากระดับ 70% ของปี 2015
หากว่าพรรคแรงงานสร้างประวัติศาสตร์คว้าเก้าอี้ได้ถึง 10 ที่นั่ง มันจะกลายเป็นครั้งแรกที่มีสมาชิกฝ่ายค้านปรากฏตัวในรัฐสภาสิงคโปร์ เกิน 10%
คะแนนนิยมที่เปลี่ยนไปแม้แต่เพียงเล็กน้อยของพรรคกิจประชาชน อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายครั้งใหญ่ และในขณะที่ประเทศแห่งนี้คุมเข้มสื่อมวลชน และมีกฎระเบียบต่างๆ ที่จำกัดเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออก รวมถึงอุปสรรคอื่นๆ ที่มีต่อฝ่ายค้าน เหล่าผู้สนับสนุนของฝ่ายค้านจึงหยิบยกผลคะแนนในเบื้องต้น เป็นหลักชัยที่แสดงให้เห็นถึงเข้มแข็งของพวกเขา
ท้องถนนในเขตที่เป็นป้อมปราการของฝ่ายค้าน เต็มไปด้วยผู้สนับสนุนที่พากันออกมาบีบแตร, ส่งเสียงเชียร์และโบกธงของพรรค โดยดูเหมือนแทบไม่ใส่ใจต่อกฎระเบียบเว้นระยะห่างทางสังคมแม้แต่น้อย
“ผลการเลือกตั้งเกินความคาดหมายแม้กระทั่งคนในพรรคฝ่ายค้านบางส่วน” ลก โฮ ยอง ผู้เขียนหนังสือ First Wave หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของฝ่ายค้านสิงคโปร์ “ดูเหมือนว่าผู้มีสิทธิออกเสียงแสดงความผิดหวังต่อพรรคกิจประชาชน ที่จัดการเลือกตั้งทั่วท่ามกลางโรคระบาดใหญ่”
คะแนนเสียงที่เกิน 2 ใน 3 ของพรรคกิจประชาชน เปิดทางให้พวกเขามีอิสระในการผ่านกฎหมายและแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้พวกแกนนำพรรคจะต้องเผชิญแรงกดดันมากขึ้นให้จัดการกับภาวะเสียงสนับสนุนเสื่อมถอย
ลี เซียนลุง ลูกชายของ ลี กวนยู ผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อหวังอาณัติใหม่สำหรับนำพาประเทศฝ่าวิกฤตสาธารณสุข ที่กำลังทุบตีเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้
สิงคโปร์ ไม่ใช่ชาติแรกที่จัดการเลือกตั้งท่ามกลางโรคระบาดใหญ่ ก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้และเซอร์เบีย ก็จัดเลือกตั้งเช่นกัน แต่ในสิงคโปร์ บรรดาพรรคฝ่ายค้านพยายามผลักดันให้เลื่อนออกไป โดยบอกว่ามันอันตายแก่ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงและเป็นอุปสรรคต่อการณรงค์หาเสียง
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นชาติที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และเบื้องต้นได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางต่อความพยายามรับมือกับโรคระบาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การระบาดหมู่ในหอพักแรงงานต่างด้าวในเวลาต่อมา ได้บดบังความสำเร็จของพวกเขาในเบื้องต้น กดดันให้รัฐบาลต้องปิดโรงเรียนและธุรกิจต่างๆ นานขึ้น
ลี ซึ่งครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2004 คว้าชัยชนะในเขตของตนเองอย่างสบายๆ แต่ในขณะที่ผู้นำวัย 68 ปีรายนี้ ส่งสัญญาณถึงเจตนารมณ์ปลีกตัวจากอำนาจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้ช่วยและว่าที่ผูุ้สืบทอดของเขา อย่าง เฮง สวีเกียต กลับมีคะแนนที่เหวี่ยงไปมา