(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
India paying price for Modi’s myopic China strategy
by Bhim Bhurtel
17/06/2020
จากการเพิกเฉยละเลยบทเรียนจากสงครามจีน-อินเดียปี 1962 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ก็ได้นำประเทศของเขาก้าวเดินไปบนถนนสู่ความวิบัติอีกคำรบหนึ่ง
“ผู้ที่ไม่ยอมจดจำอดีตย่อมถูกลงโทษด้วยการซ้ำรอยมันอีก” นี่เป็นถ้อยคำอันมีชื่อเสียงของ จอร์จ ซันตายานา (George Santayana) นักปรัชญาชาวสเปน [1] ซึ่งส่งเสียงก้องกังวานขึ้นมาเมื่อเราพิจารณาดูนโยบายใหม่ในเรื่องจีนของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ทั้งนี้โมดีดูเหมือนไม่ค่อยอยากจดจำความผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่เกิดจากการขาดการไตร่ตรอง ซึ่งประเทศของเขาได้เคยกระทำไว้ในสงครามจีน-อินเดียเมื่อปี 1962 (1962 Sino-Indian war)
โมดีถูกลิขิตเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องซ้ำรอยความผิดพลาดที่กระทำโดยนายกรัฐมนตรี ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ของอินเดียในตอนนั้นในเรื่องยุทธศาสตร์ว่าด้วยจีนของเขา เนื่องจากเนห์รูพึ่งพาอาศัยมากเกินไปกับคำแนะนำของ วี เค กฤษณะ เมนอน (V K Krishna Menon) ผู้ช่วยทางด้านยุทธศาสตร์ของเขาซึ่งเป็นคนที่ฝักใฝ่รัสเซีย สำหรับโมดีก็พึ่งพาอาศัย สุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีต่างประเทศของเขา ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่ออย่างกระตือรือร้นว่าการจับมือเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯเป็นหนทางดีเยี่ยมที่สุดในการเต็มเติมผลประโยชน์ต่างๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ของอินเดีย
โมดีได้หันเหเบี่ยงเบนประเพณีและบรรทัดฐานจำนวนมากของนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของอินเดียในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2019 ทั้งนี้เพื่อรับประกันว่าเขาจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปเป็นสมัยที่ 2 เขาใช้กิจการต่างประเทศมาเป็นเครื่องมือในการดึงดูดความนิยมของผู้ออกเสียง เขาใช้ลัทธิชาตินิยมทางดินแดน (territorial nationalism) มาเป็นวาระการหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยการฉกฉวยใช้ประโยชน์จากเหตุโจมตีอย่างหี้ยมโหดที่ปุลวามา (Pulwama) และสั่งการให้ตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินถล่มโจมตีทางอากาศใส่เมืองบาลากอต (Balakot) ในปากีสถาน โดยอ้างว่าเป็นปฏิบัติการที่สัมฤทธ์ผลด้วยความแม่นยำสูง ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งคราวนั้น โมดียังคุยด้วยว่าจะยึดเอาดินแดนแคว้นแคชเมียร์ส่วนที่ปากีสถานปกครองอยู่กลับคืนมาอยู่ในปกครองของอินเดียอีกด้วย
ถึงแม้ประสบความล้มเหลวทุกๆ ด้านในกิจการภายในประเทศ แต่โมดีก็ประสบความสำเร็จในการขยายชื่อเสียงความนิยมของเขาด้วยนโยบายการต่างประเทศ เขาประสบความสำเร็จในการปกปิดความล้มเหลวของนโยบายภายในประเทศของเขาจากพวกผู้ออกเสียง ด้วยการสร้างความประทับใจให้ผู้มีสิทธิโหวตทั้งหลายมองเห็นว่าเขามีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าผู้นำของชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ, ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน, ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย, และคนอื่นๆ อีก
ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ไม่ว่าสินค้าและบริการใดๆ ก็ตามที่เสนอเข้าสู่ตลาด พวกผู้บริโภคสินค้าและบริการเหล่านั้นก็จะต้องเป็นผู้จ่ายมูลค่าของมัน ซึ่งหมายความว่าไม่มีใครสามารถได้อะไรบางอย่างไปโดยไม่เสียอะไรเลย ทฤษฎีนี้ถูกสรุปเอาไว้อย่างดีด้วยคำคมซึ่งมีชื่อเสียงที่ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” (There ain’t no such thing as a free lunch.) [2] คติพจน์นี้ยังได้รับความเชื่อถือปฏิบัติตามอย่างมากมายพอๆ กันจากผู้ศึกษาและผู้รู้ผู้ปฏิบัติทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและทางด้านยุทธศาสตร์
การสวมกอดและการจับมือทุกๆ ครั้งกับผู้นำของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่รายหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับราคาที่เฉพาะเจาะจงทั้งสิ้น ราคาดังกล่าวเหล่านี้บางครั้งยังแสดงออกในรูปของตัวเงินจริงๆ ด้วยซ้ำ โมดีจ่ายด้วยราคา 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับระบบเพื่อการป้องกันขีปนาวุธ เอส-400 (S-400 missile defense system) จากการโอบกอดและจับมือกับปูติน ขณะที่กับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสนั้น มันคือ 30,000 ล้านดอลลาร์สำหรับดีลซื้อเครื่องบินรบ ราฟาล (Rafale) ค่าใช้จ่ายพวกนี้เป็นค่าใช้จ่ายทางการเงินอย่างเปิดเผยชัดเจน ยังไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายทางยุทธศาสตร์ที่มาพร้อมๆ กับการสวมกอดปูตินและมาครงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยิ่งสำหรับกรณีของ ทรัมป์ และ สี ด้วยแล้ว โมดีจำเป็นต้องจ่ายราคาทางยุทธศาสตร์สูงลิ่วทีเดียว
ตัวอย่างเช่น โมดีจัดงาน “เฮาดี้ โมดี!” (Howdy, Modi!) [3] อย่างเอิกเกริกใหญ่โตที่เมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2019 โดยมีผู้คนเชื้อสายอินเดียราว 50,000 คนจากทั่วทั้งอเมริกาเดินทางมาชุมนุมกัน ปรากฏว่าการที่ทรัมป์เข้าร่วมด้วยกลายเป็นจุดศูนย์กลางแห่งมนตร์ดึงดูดของงานนี้ และเขาใช้เวลาอยู่ที่นั่นกับโมดีราว 1 ชั่วโมง
ในทำนองเดียวกัน ทรัมป์ได้เข้าร่วมในงานที่มีผู้คนประมาณ 125,000 คนมาชุมนุมกันในสนามแข่งขันคริกเกตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ในรัฐคุชราต ของอินเดียเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ปีนี้ โมดีได้แสดงให้เห็นว่าระหว่างตัวเขากับทรัมป์มีความผูกพันกันอย่างเปี่ยมล้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก [4] และประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้ก็ใช้วาระนี้กล่าวคำปราศรัยโดยวาดภาพนายกรัฐมนตรีอินเดียคนนี้ว่าเป็น “ผู้นำที่โดดเด่น ... และเป็นบุรุษที่ผมมีความภาคภูมิใจที่จะเรียกว่าเป็นเพื่อนแท้ของผม”
แต่การที่ทรัมป์เข้าร่วมในงานเหล่านี้ และการกล่าวคำยกย่องนับถือให้แก่โมดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำให้ฟรีๆ โมดีจำเป็นที่จะต้องจ่ายด้วยการเล่นไปในบทบาทของพันธมิตรและเพื่อนผู้ไว้วางใจได้ของสหรัฐฯในทางยุทธศาสตร์
ทรัมป์เป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้หรือ ?
เอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯที่เผยแพร่ออกมาล่าที่สุด ระบุว่า สหรัฐฯยังคงยึดมั่นอยู่กับ “นโยบายจีนเดียว” และเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่าสหรัฐฯไม่ได้แสวงหาทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในจีน อย่างไรก็ดี โมดีได้ส่งสมาชิกรัฐสภา 2 คนไปเข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแบบเสมือนจริงของประธานาธิบดีไต้หวัน
ตอนที่เกิดการเผชิญหน้ากันทางการทหารระหว่างอินเดียกับจีนในดินแดนลาดัก (Ladakh) คราวนี้ ทั้งตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้เอง หรือเหล่าชาติเพื่อนมิตรและชาติพันธมิตรของอินเดีย ซึ่งรวมถึงในกลุ่มประเทศ “คว็อด” (Quad countries ประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอินเดีย -ผู้แปล ) [5] ด้วยกัน ปรากฏว่าไม่มีรายใดเลยที่ออกคำแถลงแสดงการเข้าข้างอินเดีย แม้แต่ในการประชุมซัมมิตผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่าง โมดี กับนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนซึ่งมีการตีข่าวป่าวร้องกันสนั่นหวั่นไหว คำแถลงร่วมซึ่งออกมาภายหลังการหารือไม่ได้มีการเอยถึง ลาดัก เอาเลยด้วยซ้ำ
ถ้าหากสงครามแบบเต็มขั้นเต็มพิกัดกับจีนระเบิดตูมตามขึ้นมาแล้ว อินเดียจะพบว่าไม่มีใครเลยที่ออกมาหนุนหลังตนเอง สหรัฐฯนั้นอยู่ในวิกฤตแม้กระทั่งก่อนโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เสียอีก หนี้สินภาคสาธารณะของอเมริกาเวลานี้อยู่ในระดับเท่ากับราว 125% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และรายงานชิ้นหนึ่งของแวดวงวอลล์สตรีท [6] เสนอแนะว่า มันอาจจะทะยานขึ้นไปถึงระดับ 2,000% ของจีดีพี
สตีเฟน โรช (Stephen Roach) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกในเรื่องเอเชีย เวลานี้ส่งเสียงเตือน [7] ว่า ดุลอำนาจระดับโลกที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อผสมผสานกับการที่สหรัฐฯกำลังขาดดุลงบประมาณสูงลิ่วขึ้นเรื่อยๆ อาจจุดชนวนให้เกิดการพังครืนของเงินดอลลาร์ในไม่ช้านี้
สหรัฐฯเองนั้นก็ต้องการที่จะทำดีลการค้าที่ดีขึ้นกว่าเดิมกับจีน ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว ดีลเช่นว่าน่าจะเกิดขึ้นมาได้ การที่โมดีดีดลูกคิดรางแก้วคาดคำนวณว่าอินเดียกำลังเป็นฝ่ายได้ จากการที่จีนต้องประสบความสูญเสียสืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่และการจับมือจัดกลุ่มพันธมิตรกันใหม่ของมหาอำนาจระดับโลกนั้น กำลังดูเป็นความคิดที่เหลวไหลไร้สาระ
โมดียังมีความคาดหมายอย่างผิดๆ ที่ว่า อินเดียจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วและดุดันภายหลังโรคระบาดใหญ่ผ่านพ้นไป เขาเชื่อว่าโลกภายหลังโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จะได้พบเห็นการจับกลุ่มจัดห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (global supply chains) กันใหม่อย่างน่าตื่นใจ
โมดีวาดหวังว่า สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และพวกประเทศยุโรปจำนวนมากจะเพิกถอนความเชื่อมโยงที่เศรษฐกิจของพวกเขามีอยู่กับจีน พวกเขาจะหันมามองหาอินเดียในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนและพันธมิตร โรงงานต่างๆ ของพวกเขาจะโยกย้ายมาตั้งกันในจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ ซึ่งก็คืออินเดีย
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าอินเดียกลับจมถลำลงสู่วิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างเต็มตัวในช่วงเร็วๆ นี้เอง พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของอินเดียประมาณการว่า เมื่อถึงสิ้นปีนี้อาจมีผู้ติดเชื้อกันเป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 670 ล้านคน และผู้เสียชีวิตก็ไปถึง 500,000 คน [8]
ทำนองเดียวกัน เศรษฐกิจอินเดียได้รับการคาดการณ์ว่าจะถดถอยทรุดตัวลง พวกผู้บริโภคสินค้าส่งออกของอินเดียนั้น คือครอบครัวรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางภายในระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าของโลก พวกเขาเป็นผู้ที่ถูกเล่นงานหนักที่สุดจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และยังจะเดือดร้อนจากการไหลรูดต่อไปอีกของอุปสงค์ที่แท้จริงในปีหน้า
ก่อนหน้าโรคระบาดใหญ่คราวนี้ การค้าต่างประเทศของอินเดียนั้น ได้เปรียบดุลการค้ากับทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ โมดีตั้งเป้าหมายว่า อียู กับ สหรัฐฯ จะเป็นคู่ค้ารายหลักของแดนภารตะ ภายหลังพวกบริษัทอเมริกันโยกย้ายที่ตั้งออกจากจีนมายังอินเดีย
ทว่ามันไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าบริษัทสหรัฐฯทั้งหลายจะโยกย้ายไปยังอินเดีย โดยที่ในทางเป็นจริงแล้วมีบริษัทอเมริกันไม่ถึง 5% [9] ซึ่งโยกย้ายไปตั้งในอินเดียภายหลังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม 2018 และกระทั่งสมมุติว่าพวกเขาโยกย้ายไปจริงๆ มันก็ไม่ได้เป็นการรับประกันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย เนื่องจากอุปสงค์ที่แท้จริงในสินค้าอินเดียในตลาดระหว่างประเทศนั้นไม่น่าที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองสามปีข้างหน้านี้
พวกนักเศรษฐศาสตร์อย่างเช่น ไมเคิล โอเลียรี (Michael O’Leary) และ คาร์คอส โรดริเกซ (Carlos Rodriguez) [10] เชื่อว่า การที่เหล่าชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งหลายจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วแบบตัว V ภายหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์คราวนี้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ การฟื้นตัวอย่างตะกุกตะกักหลังจากการหลอมละลายทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์ภาคการเงินเมื่อปี 2008 น่าจะบ่งชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่การฟื้นตัวของประเทศเหล่านี้จะอยู่ในรูปตัว L ด้วยซ้ำ
ความระแวงสงสัยของจีน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา โมดีประกาศแนวความคิดว่าด้วย “อัตมานิรภาร์ ภารัต” (อินเดียที่พึ่งพาตนเอง) Atmanirbhar Bharat (Self-Reliant India) [11] พร้อมๆ กับแพกเกจกอบกู้เศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 260,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นส่งเสริมการฟื้นตัวภายหลังผ่านพ้นโรคระบาดใหญ่
ปักกิ่งมีความรู้ความเข้าใจว่า ความตั้งใจของโมดีคือการใช้นโยบายซึ่งเข้มงวดตึงตัวมากขึ้น [12] ต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment) ที่มาจากจีน และการที่อินเดียแสดงความยินดีต้อนรับพวกบริษัทอเมริกันที่ต้องการโยกย้ายออกมาจากจีนนั้น คือพฤติการณ์ตั้งเป้าหมายอย่างเลือกสรรเพื่อต่อต้านคัดค้านการลงทุนของจีน
จีนเองต้องการที่จะทำให้อินเดียหย่าร้างแยกขาดจากสหรัฐฯ เวลานี้ปักกิ่งมีความกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอินเดียเนื่องจากทั้งสองประเทศมีชายแดนร่วมกันยาวเหยียดเป็นระยะทาง 3,400 กิโลเมตร พวกนักยุทธศาสตร์ของฝ่ายจีนคิดว่าอินเดียกำลังแสดงตนเป็นตัวแทนของสหรัฐฯในการจำกัดปิดล้อมจีนในอาณาบริเวณเทือกเขาหิมาลัยและมหาสมุทรอินเดีย
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้า ลี่เจียน (Zhao Lijian) แถลงเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้วโดยที่ไม่ได้มีการระบุอ้างอิงถึงข้อตกลงใดๆ อย่างเจาะจง ว่า “เราเรียกร้องฝ่ายอินเดียให้ทำงานร่วมกันกับฝ่ายเรา ยึดมั่นฉันทามติอันสำคัญของคณะผู้นำของพวกเราทั้งสอง ปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ที่ได้ลงนามกันเอาไว้ และงดเว้นจากการปฏิบัติการตามอำเภอใจฝ่ายเดียวใดๆ ก็ตามที่ทำให้สถานการณ์เพิ่มความยุ่งยากซับซ้อน” แต่เห็นกันว่า เขากำลังพูดอย่างอ้อมๆ ถึงการตกลงกันและฉันทามติระหว่าง โมดี กับ สี จากการประชุมซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการของทั้งคู่ [13] ครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ของจีน และต่อมาที่เมืองมามัลลาปุราม (Mamallapuram) ของอินเดีย
ปักกิ่งยังมองด้วยว่า โมดียังคงแสวงหาทางผูกพันธมิตรกับสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ได้ทำข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกับจีนในการสร้าง “ศตวรรษแห่งเอเชีย” (the Asian Century) ขึ้นมา โดยที่ โมดี ลังเลไม่ค่อยยินดีมองเห็น “ความสำคัญของการเคารพในความอ่อนไหว, ความวิตกกังวล, และความมุ่งมาดปรารถนาของกันและกัน” อย่างที่ได้ระบุวางกรอบเอาไว้ในคำแถลงร่วมซึ่งออกมาภายหลังซัมมิตครั้งแรกที่อู่ฮั่น
โมดี กับ สี ได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะแสวงหาหนทางรอมชอมซึ่งยุติธรรม, สมเหตุสมผล, และต่างฝ่ายต่างยอมรับได้ มาแก้ไขประเด็นปัญหาพรมแดนอินเดีย-จีน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากรัฐบาลโมดีประกาศในวันที่ 5 สิงหาคม 2019 ยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย (ซึ่งว่าด้วยเรื่องให้ดินแดนชัมมูและแคชเมียร์มีฐานะพิเศษ โดยอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่ง -ผู้แปล) แล้ว อินเดียก็ได้เผยแพร่แผนที่ฉบับใหม่ซึ่งในนั้นรวมเอาดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่ปากีสถานยังเป็นผู้บริหารอยู่ มาเป็นของอินเดียด้วย
ด้วยอาการตื่นเต้นมาก ระหว่างที่แถลงในโลกสภา (Lok Sabha) หรือก็คือสภาล่างของรัฐสภาอินเดีย อามิต ชาห์ (Amit Shah) รัฐมนตรีมหาดไทยที่เป็นคนสนิทไว้วางใจของโมดี กล่าวว่าเขายังจะนำเอาเขตอักไซชิน (Aksai Chin) ดินแดนส่วนหนึ่งของลาดักที่จีนบริหารอยู่ในเวลานี้ กลับคืนมาอีกด้วย จากนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศ ชัยศังกระ ก็ได้บินไปปักกิ่งและกล่าวย้ำให้คำมั่นแก่ฝ่ายจีนว่า อินเดียไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะแผ่ขยายดินแดน
จีนในตอนแรกๆ มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้เป็นประเด็นทางการเมืองภายในประเทศของอินเดียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง –ทั้งการเปลี่ยนนโยบายในประเด็นปัญหาไต้หวัน, การเข้มงวดกวดขันต่อการลงทุนของจีนในอินเดีย, การสนับสนุนเรื่องการปรับโครงสร้างขององค์การอนามัยโลก, การสนับสนุนให้มีการสอบสวนนานาชาติเรื่องต้นตอที่มาของโรคระบาดโควิด-19, การเข้าร่วมกับกลุ่มคว็อดอย่างเต็มตัว, และการทำข้อตกลงด้านกลาโหมกับออสเตรเลีย—ปักกิ่งจึงยิ่งมีความระแวงสงสัยมากขึ้นทุกที
พวกนักยุทธศาสตร์ของฝ่ายจีนคิดว่า โมดีได้เปลี่ยนใจเสียแล้วจากที่เขาได้เคยตกลงเห็นพ้องกับ สี [14] เกี่ยวกับ “การสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง, ประกอบด้วยหลายๆ ขั้วอำนาจ, มีหลายๆ ฝ่าย, และเน้นการมีส่วนร่วม” รวมทั้ง โมดี ยังได้ละทิ้งการเป็นหุ้นส่วนกับปักกิ่ง และต้องการที่จะเพิ่ม “รอยเท้า” (footprint) ของอินเดียในบริเวณพื้นที่หลังบ้านของจีนตลอดจนอาณาบริเวณอินโด-แปซิฟิก ตามคำบัญชาของสหรัฐฯ
จีนต้องการที่จะส่งข้อความอันชัดเจนไปถึงโมดี ให้ยึดมั่นกับฉันทามติและข้อตกลงต่างๆ ที่ได้เห็นชอบเอาไว้กับปักกิ่งในระหว่างซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการทั้ง 2 ครั้ง หรือไม่ก็ให้เตรียมตัวสำหรับผลสืบเนื่องที่จะติดตามมา ซึ่งจะเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อปี 1962 เสียอีก จากการเผชิญหน้ากันทางทหารในดินแดนลาดัก
ถ้าหาก โมดี ล้มเหลวไม่กลับมารีเซตเส้นทางมุ่งไปสู่การเติมเต็มฉันทามติและข้อตกลงต่างๆ ที่เห็นพ้องกันไว้ระหว่างซัมมือทั้ง 2 คราวแล้ว จีนก็จะลงโทษอินเดียอย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าในปี 1962 แล้วชะตากรรมของ โมดี ก็น่าที่จะเหมือนกับที่ได้ถูกบรรยายเอาไว้โดย วาซิลี คลูย์เชฟสกี (Vasily Klyuchevsky) นักประวัติศาสตร์รัสเซียยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ได้สอนอะไรเราเลย มีแต่ลงโทษสำหรับการที่ไม่ได้เรียนรู้บทเรียนในประวัติศาสตร์เท่านั้น”
เชิงอรรถ
[1] https://www.brainyquote.com/quotes/george_santayana_101521
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/There_ain%27t_no_such_thing_as_a_free_lunch
[3] http://www.howdymodi.org/
[4] https://www.theguardian.com/world/2020/feb/24/namaste-donald-trump-india-welcomes-us-president-narendra-modi-rally
[5] https://iasgatewayy.com/quad-countries/
[6] https://www.cnbc.com/2019/09/09/real-us-debt-levels-could-be-a-shocking-2000percent-of-gdp-report-suggests.html
[7] https://www.cnbc.com/2020/06/15/dollar-crash-is-almost-inevitable-asia-expert-stephen-roach-warns.html
[8] https://ourworldindata.org/coronavirus/country/india?country=~IND
[9] https://www.moneycontrol.com/news/business/economy/is-chinas-loss-indias-gain-maybe-not-5347301.html
[10] https://www.ft.com/content/79864717-d4bb-4ca7-acdb-ef7ea5ccd330
[11] https://pib.gov.in/PressReleasePage.aspx?PRID=1623391
[12] https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/finance/china-cos-india-arms-raise-ecbs-to-scale-fdi-wall/articleshow/76015125.cms?from=mdr
[13] https://www.thehindubusinessline.com/news/modi-xi-informal-summit-key-takeaways/article29680297.ece
[14] https://mea.gov.in/press-releases.htm?dtl/29853/IndiaChina_Informal_Summit_at_Wuhan
ภิม ภูรเตล เป็นอาจารย์รับเชิญในชั้นเรียนระดับปริญญาโททางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต ณ มหาวิทยาลัยตรีภูวัน (Tribhuvan University) ในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล รวมทั้งเป็นอาจารย์ในโครงการปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ ของมหาวิทยาลัยเปิดเนปาล (Nepal Open University) เขาเคยเป็นผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เอเชียใต้เนปาล (Nepal South Asia Center) ซึ่งเป็นคลังความคิดด้านการพัฒนาเอเชียใต้ที่ตั้งฐานอยู่ในกาฐมาณฑุ ในระหว่างปี 2009-2014 สามารถติดต่อเขาได้ที่ bhim.bhurtel@gmail.com