xs
xsm
sm
md
lg

‘หัวเว่ย’สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อหลบเลี่ยง ‘มาตรการห้ามขายชิป’ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

How Huawei can work around US chip ban
by David P. Goldman
14/06/2020

การที่สหรัฐฯสั่งห้ามขายชิปที่มีอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์อเมริกันเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ให้แก่บริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่อุปกรณ์เทเลคอมสัญชาติจีน กำลังทำให้ทั่วโลกมีแรงจูงใจอย่างมหาศาลที่จะหาทางหลบเลี่ยงมาตรการแบบการอ้างสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเช่นนี้

การที่สหรัฐฯสั่งห้ามพวกบริษัทต่างประเทศขายชิปให้แก่ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ถ้าหากชิปดังกล่าวมีอุปกรณ์อเมริกันหรือซอฟต์แวร์อเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จะกลายเป็นการบ่อนแซะทำลายฐานะที่ก็อ่อนแอลงอยู่แล้วของอเมริกาในตลาดอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์โลก แหล่งข่าวหลายรายระบุ

พวกโรงงานผลิตชิปจะพากันโยกย้ายอุปกรณ์อเมริกันออกไปจากสายการผลิต เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนเอาไว้ โดยที่เวลานี้แดนมังกรมีฐานะเป็นผู้ซื้อเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก

ซัมซุง ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกทั้งด้านเมโมรีชิปและลอจิกชิป รองจากบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์เปอเรชั่น (Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation ใช้อักษรย่อว่า TSMC) เท่านั้น ได้จัดตั้งสายการผลิตขนาดเล็กๆ สายหนึ่งขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำชิปขนาด 7 นาโนเมตร ที่เป็น “ท็อปออฟเดอะไลน์” ในปัจจุบัน โดยใช้เพียงอุปกรณ์ทำชิปที่มาจากญี่ปุ่นและยุโรป ทั้งนี้ตามรายงานของ อิเล็กทริคัล เอนจิเนียริ่ง ไทมส์ (Electrical Engineering Times) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eetimes.com/chip-equipment-becomes-trade-wars-latest-battlefield/)

เอเอสเอ็มแอล (ASML) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเวลานี้เป็นรายเดียวเท่านั้นในโลกที่ขาย เครื่องจักรกัดกรด เอ็กซ์ตรีม อัลตรา-ไวโอเลต (Extreme Ultra-Violet (EUV) etching machines) ซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับการผลิตตัวทรานซิสเจอร์จิ๋วๆ ที่ใช้วางบนแผ่นชิปขนาด 7 นาโนเมตร โดยที่ชิปชนิดนี้สามารถติดตั้งทรานซิสเตอร์ 10,000 ล้านตัวบนแผ่นซิลิคอนซึ่งมีขนาดเล็กเท่ากับเล็บมือ ขณะเดียวกัน เครื่องจักรทดสอบชิปของ เลเซอร์เทค (Lasertec) ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นและขายกันตัวละ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นตัวที่ยอดเยี่ยมที่สุดในตลาดขณะนี้

ซัมซุง กับ หัวเว่ย กำลังพิจารณาที่จะทำดีลฉบับหนึ่ง ซึ่งยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้จะเป็นผู้ผลิตชิปประดับก้าวหน้าให้แก่อุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ย และเรื่องนี้จะส่งผลให้หัวเว่ยยอมสละส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนของตนในปริมาณสำคัญทีเดียวให้แก่ซัมซุง ผมได้รายงานเรื่องนี้เอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/05/south-korea-is-the-pivot-in-the-huawei-wars/) [1] โทรศัพท์มือถือนั้นเป็นธุรกิจเรือธงของซัมซุง แต่ธุรกิจนี้กลับเป็นตัวที่มีส่วนสร้างผลกำไรค่อนข้างน้อยให้แก่หัวเว่ย ซึ่งธุรกิจแกนกลางยังคงป็นอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม

คำสั่งห้ามของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เกาหลีใต้“ยอมรับไม่ได้”

เกาหลีใต้ส่งออกไปยังจีนคิดเป็นมูลค่าเกือบเป็นสองเท่าตัวของที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ นอกจากนั้นโสมขาวยังพึ่งพาอาศัยจีนในการเหนี่ยวรั้งระบอบปกครองโสมแดงที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ โซลบอกกล่าวกับวอชิงตันว่าการสั่งห้ามขายชิปที่ทำด้วยอุปกรณ์อเมริกันให้แก่ หัวเว่ย และบริษัทจีนอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องที่ “ยอมรับไม่ได้” ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมหลายราย

การทำดีลกับซัมซุงถือเป็นหนทางหนึ่งสำหรับหัวเว่ยในการดำเนินการเพื่อหลบเลี่ยงจากคำสั่งห้ามของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยรายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงนี้คาดหมายกันว่าจะมีการประกาศออกมาในกลางเดือนกรกฎาคม สำหรับหนทางอีกหนทางหนึ่งในการหลบเลี่ยง –โดยที่มีความคืบหน้าไปเรียบร้อยแล้ว – คือโครงการสำคัญๆ ชุดหนึ่งในทำนองเดียวกับ “โครงการแมตฮัตตัน” (Manhattan Projects โครงการปิดลับของสหรัฐฯในการพัฒนาระเบิดปรมาณูช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 -ผู้แปล) ซึ่งมุ่งที่จะปรับปรุงยกระดับอุตสาหกรรมทำเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศของจีน โดยที่เวลานี้จีนมีฐานะเป็นผู้เล่นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรมนี้ ตามหลังสหรัฐฯ, ยุโรป, และญี่ปุ่น

หัวเว่ยได้ทำสัญญาเอาไว้กับลูกค้ารายต่างๆ เพื่อติดตั้งสถานีฐานบรอดแบนด์ไร้สาย 5จี จำนวนราว 600,000 สถานี โดยสถานีฐานเหล่านี้ใช้พลังจากพวกชิปสลับซับซ้อนที่ออกแบบโดย ไฮซิลิคอน (HiSilicon) บริษัทลูกของหัวเว่ยเอง ขณะที่ผู้ผลิตชิปเหล่านี้คือ ทีเอสเอ็มซี ของไต้หวัน บริษัทยักษ์ใหญ่จีนรายนี้บางทีอาจจะมีชิปอยู่ในสต็อกซึ่งสามารถใช้ไปได้ราว 1 ปีครึ่ง นอกจากนั้นบริษัทยังอาจจะสามารถเติมส่วนที่ขาดไปสำหรับสถานีฐานของตนด้วยชิปซึ่งผลิตขึ้นภายในจีนเอง

จีนขาดไร้ศักยภาพความสามารถในการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่ถือเป็นระดับก้าวหน้าที่สุดในเวลานี้ ตลอดจนชิปขนาดเล็กๆ อื่นๆ ถึงแม้บริษัทผู้ผลิตชิประดับเรือธงของแดนมังกร นั่นคือ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp ใช้อักษรย่อว่า SMIC) สัญญาที่จะดำเนินการผลิตชิป 7 นาโนเมตรให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ก็ตามที ถ้าหาก เอสเอ็มไอซี ขายชิปที่ผลิตด้วยอุปกรณ์อเมริกันให้แก่หัวเว่ย ก็น่าจะเป็นไปได้ที่บริษัทนี้จะถูกอเมริกาแซงก์ชั่นเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงการห้ามไม่ให้ขายอุปกรณ์อเมริกันแก่ เอสเอ็มไอซี อีกต่อไป

ตรงนี้ประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญถึงขั้นเป็นตายนั้น อยู่ที่ว่าอัตราความเร็วที่จีนจะสามารถสั่งสมศักยภาพการผลิตชิปภายในประเทศขึ้นมา เมื่อตอนที่คณะบริหารทรัมป์สั่งห้ามขายชิปของควอลคอมม์ (Qualcomm) ให้แก่ แซดทีอี (ZTE) ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสัญชาติจีนอีกรายหนึ่งในเดือนเมษายน 2018 ปรากฏว่าแซดทีอีถึงขั้นต้องปิดตัวเองไปเลยในทางเป็นจริง

จีนจะต้องใช้เวลานานสักแค่ไหน?

แต่เมื่อมาถึงเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน หัวเว่ยได้ประกาศเปิดตัวชิปเซต “คิริน” (Kirin) ของตนเองสำหรับใช้ในโทรศัพท์มือถือรุ่นไฮเอนด์ และชิป “แอสเซนด์” (Ascend) ของบริษัทเองเช่นกัน สำหรับใช้ในเครื่องเซิร์ฟเวอร์รุ่นเพอร์ฟอร์มแมนซ์สูงๆ ทั้ง 2 ตัวนี้ผลิตให้โดย ทีเอสเอ็มซีแห่งไต้หวัน อัตราความเร็วที่หัวเว่ยสามารถนำเอาชิปที่บริษัทออกแบบเองออกมาเช่นนี้ ทำให้วอชิงตันรู้สึกประหลาดใจ และคำถามซึ่งครองเวทีในห้องแชทว่าด้วยเซมิคอนดักเตอร์ทุกๆ ห้องทางอินเทอร์เน็ตก็คือ จีนจะใช้เวลานานสักแค่ไหนในการทำแบบเดียวกันนี้กับการผลิตพวกอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์

พวกบริษัทอเมริกันอย่าง แอลเอเอ็ม รีเสิร์ช (LAM Research) และ แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนสูงที่สุด ในส่วนต่างๆ จำนวนมากของกระบวนการแห่งการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อนนี้ ทว่าในทุกๆ เฟสของการทำเซมิคอนดักเตอร์ปัจจุบัน มีพวกผู้ผลิตอุปกรณ์ของญี่ปุ่น, ยุโรป, ตลอดจนจีน เสนอขายสิ่งซึ่งสามารถนำมาใช้แทนของบริษัทอเมริกันได้ มีเพียง เอเอสเอ็มแอล ของเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นผู้ผูกขาดจริงๆ หลงเหลืออยู่ในธุรกิจอุปกรณ์ทำชิป นั่นคือในเรื่องเครื่องจักรกัดกรด เอ็กซ์ตรีม อัลตรา-ไวโอเลต

อย่างไรก็ดี รายงานชิ้นหนึ่งใน อิเล็กทริคัล เอนจิเนียริ่ง ไทมส์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eetimes.com/chip-equipment-becomes-trade-wars-latest-battlefield/) ซึ่งจัดอันดับพวกบริษัทขายอุปกรณ์ชั้นนำในแต่ละขั้นตอนของทั้ง 11 ขั้นแห่งกระบวนการผลิตชิป ได้ระบุเอาไว้ด้วยว่า “ถึงแม้มันมีความคุ้มค่าความเป็นไปได้ ที่จะสร้างสายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาสักสายหนึ่งโดยไม่ใช้อุปกรณ์อเมริกันเลย ทว่าอุปกรณ์ของญี่ปุ่น, ยุโรป, และกระทั่งอุปกรณ์ภายในประเทศ (จีน) เอง ก็ไม่ได้มีฐานะเป็นผู้นำในด้านต่างๆ เหล่านี้หลายๆ ด้านทีเดียว

แต่การที่พวกบริษัททำอุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศจีนเอง อยู่ในฐานะตามหลังเหล่าบริษัทคู่แข่งอเมริกันของตน ก็เพราะก่อนหน้านี้จีนไม่ได้คิดขวนขวายที่จะหาทางสร้างภาคอุตสาหกรรมนี้ทั้งภาคขึ้นมาด้วยตนเอง แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ ซึ่งเป็นผู้นำรายหนึ่งในเครื่องจักรกัดกรดพลาสมา (plasma etching machines) คาดหมายว่าจะใช้จ่ายเป็นจำนวน 360 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ในเรื่องรายจ่ายเพื่อการลงทุน (Capital Expenditures หรือ CapEx)

บริษัทจีนที่ถือเป็นคู่แข่งรายใกล้เคียงที่สุด ได้แก่ แอดแวนเซด ไมโคร-แฟบริเคชั่น อีควิปเมนต์ (Advanced Micro-Fabrication Equipment ใช้ทิกเกอร์ 688012 CH) วางแผนจะใช้จ่ายอย่างมากที่สุดก็เพียงแค่หนึ่งในสิบเท่านั้น แผนการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) ของจีน ซึ่งเป็นตัวขับดันให้ทำการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศนั้น ได้ให้ลำดับความสำคัญต่ำแก่เรื่องการทำอุปกรณ์ผลิตชิปภายในจีน เนื่องจากมันมีราคาถูกกว่าถ้าซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์อเมริกัน, ญี่ปุ่น, และยุโรป แทนที่จะต้องลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อให้มีอุปกรณ์เครื่องจักรของจีนเองมาใช้แทน

ระดมว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ

คำสั่งห้ามของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ไม่ให้ขายชิปที่ผลิตในต่างประเทศแก่หัวเว่ย –ถ้าหากชิปเหล่านั้นผลิตด้วยอุปกรณ์เครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์อเมริกัน— กำลังกลายเป็นตัวเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง

ในปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯโน้มน้าวชักชวนเนเธอร์แลนให้สกัดกั้น เอสเอสเอ็มแอล อย่าได้ขายเครื่องจักรกัดกรดรุ่นใหม่ระดับท็อปออฟเดอะไลน์ เครื่องหนึ่งแก่ เอสเอ็มไอซี ของจีน โดยมีรายงานว่าเครื่องดังกล่าวติดราคาเอาไว้ที่ 130 ล้านดอลลาร์ ในเวลาต่อไปจีนอาจจะไม่สามารถซื้ออุปกรณ์ของโลกตะวันตกได้ แต่จีนก็ยังคงสามารถว่าจ้างใครคนไหนที่ตนเองต้องการได้

เนื่องจากคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเจอสหรัฐฯจำกัดการขายชิปให้ จีนจึงได้ระดมว่าจ้างวิศวกรชิปของไต้หวันมาทำงานด้วยเป็นจำนวนเกือบๆ 1 ใน 10 ของที่ไต้หวันมีอยู่ รายงานชิ้นหนึ่งใน นิกเกอิ (Nikkei) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2019 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Business/China-tech/Taiwan-loses-3-000-chip-engineers-to-Made-in-China-2025) ระบุเอาไว้อย่างนี้: “วิศวกรเซมิคอนดักเตอร์จำนวนกว่า 3,000 คนได้อำลาจากไต้หวันเพื่อมาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ที่บริษัทแผ่นดินใหญ่หลายแห่ง ทั้งนี้ตามข่าวของนิตยสาร “บิสซิเนส วีกลี่” (Business Weekly) ของเกาะแห่งนี้ พวกนักวิเคราะห์ ณ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งไต้หวัน (Taiwan Institute of Economic Research) บอกว่า ตัวเลขนี้ดูน่าจะถูกต้อง โดยจำนวนนี้เท่ากับเกือบๆ 1 ใน 10 ของวิศวกรซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการวิจัยและการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันที่พูดกันหยาบๆ เป็นตัวเลขกลมๆ ได้ว่ามี 40,000 คน”

ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ สำหรับการสร้างอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์ระดับเวิลด์คลาสขึ้นมา น่าที่จะรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าในอดีตมากมายนัก สืบเนื่องจากมีการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการการผลิต ซึ่งนี่เป็นปริมณฑลที่จีนมีความแข็งแกร่งและบางทีน่าจะพูดได้ว่าอยู่ในฐานะนำด้วยซ้ำ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการผลิตชิป แต่ปัญหาน่าจะอยู่ตรงที่ว่ามันเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ เป็นจำนวนหลายร้อยกระบวนการ และแต่ละกระบวนการของมันก็จำเป็นต้องใช้ความแม่นยำอย่างสูงลิ่ว ทว่า ปัญญาประดิษฐ์ย่อมสามารถเร่งรัดให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นได้อยู่แล้ว

เดวิด ฟรายด์ (David Fried) ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (chief technology officer) ของ โคเวนเทอร์ (Coventor) หนึ่งในกิจการในเครือของแอลเอเอ็ม กล่าวเอาไว้ดังนี้: “อุปกรณ์นี้มีพวกตัวเซนเซอร์ (sensors) ซึ่งจะคอยวิเคราะห์ข้อมูลจากการปฏิบัติงานของเครื่องมือ และคอยติดตามกระบวนการเวเฟอร์ (wafer process) ตัวอย่างเช่น ตัวเซนเซอร์ และ ดาต้า ล็อก (data logs) จะจับเอาข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่ว่าเวเฟอร์ไหนถูกส่งไปยังช่อง (chamber) ไหน โดยที่แขนหุ่นยนต์จะไปอยู่ตรงจุดไหนได้อย่างทันเวลา ฯลฯ

“ข้อมูลเช่นนี้ทั้งหมดต้องดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้มันสามารถที่จะรวบรวมและวิเคราะห์ได้แบบเรียลไทม์ และนี่เป็นเพียงแค่จากหนึ่งชิ้นของอุปกรณ์เท่านั้น ในการผลิตชิป คุณจะต้องมีอุปกรณ์ชนิดนี้เรียงรายกันเป็นขบวนหลายๆ ขบวน และคุณยังต้องมีอุปกรณ์อื่นประเภทต่างๆ ตลอดจนกระบวนการต่างๆ ที่ผิดแผกกันไป นี่จึงเป็นความท้าทายทางด้านบิ๊ก-ดาต้า (massive big-data challenge) ซึ่งมหาศาลจริงๆ และสิ่งที่คุณต้องเริ่มต้นกันจริงๆ คือ การเรียนรู้ข้อมูลเหล่านี้”

ล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้ว

ไม่เป็นที่ทราบกันว่าจีนจะสามารถสร้างตัวทดแทนภายในประเทศขึ้นมาแทนที่อุปกรณ์สหรัฐฯได้รวดเร็วแค่ไหน แต่มีข้อเท็จจริงอยู่ว่าจีนนั้นเข้าถึงพวกวิศวกรชิปชั้นเยี่ยมที่สุดจากไต้หวันได้แล้ว เช่นเดียวกับการเข้าถึงทักษะความชำนาญในวิธีการวิจัยทางอุตสาหกรรมระดับก้าวหน้ามากที่สุด การสร้างกระบวนการเลียนแบบโดยใช้บิ๊ก ดาต้า สามารถที่จะเพิ่มอัตราความเร็วและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของการทดสอบทดลองทางอุตสาหกรรมลงไปได้อย่างมหาศาล

ทีเอสเอ็มซี คือบริษัทผู้ผลิตชิปที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก และรัฐบาลสหรัฐฯได้ตีฆ้องร้องป่าวยกใหญ่เมื่อ ทีเอสเอ็มซี ประกาศแผนการที่จะสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งหนึ่งที่มีมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ในรัฐแอริโซนา โดยยกย่องว่าเป็นก้าวเดินอันสำคัญในทำให้การผลิตด้านไฮเทคของอเมริกัน กลับมาทำกันภายในดินแดนสหรัฐฯอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์ทางอุตสาหกรรมกลับเชื่อว่า คำมั่นสัญญาของ ทีเอสเอ็มซี ในเรื่องที่จะทำการผลิตชิปในสหรัฐฯนั้น ยังไม่ใช่ว่าหนักแน่นแน่นอน อย่างเก่งที่สุดก็แค่ถือได้ว่าเป็นเพียงการทดลองดูเท่านั้น

โรงงานใหม่แห่งนี้จะผลิตเวเฟอร์ได้เพียง 20,000 ชิ้นต่อเดือน เท่ากับแค่ราวๆ ครึ่งหนึ่งที่บริษัทแอปเปิลต้องการใช้เท่านั้น และไม่เพียงพอที่จะท้าทายอุตสาหกรรมซึ่งตั้งฐานอยู่ในบ้านของไต้หวันเอาเลย ยิ่งไปกว่านั้น ชิปขนาด 5 นาโนเมตรที่ ทีเอสเอ็มซี จะผลิตจากโรงงานในแอริโซนานี้เริ่มตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้วในตอนที่โรงงานแห่งนี้เปิดดำเนินการ ทั้งนี้ปัจจุบัน ทีเอสเอ็มซี กำลังลงทุนในศักยภาพการผลิตระดับ 3 นาโนเมตรอยู่ในไต้หวัน

เมื่อพิจารณาจากจุดความได้เปรียบทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกันแล้ว การให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันเป็นผู้ทำชิปซึ่งใช้ในด้านการทหารที่มีความอ่อนไหว ย่อมเป็นเรื่องที่ถือว่ามีความมั่นคงไม่ได้หรอก มิหนำซ้ำการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ก็อาจทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นมากมายสำหรับการที่จีนจะแอบแทรกแซงเข้าไปในโรงงานสถานที่ใดๆ ของ ทีเอสเอ็มซี

ฉันทามติในสหรัฐฯในเวลานี้จึงมีอยู่ว่า การที่คณะบริหารทรัมป์ยึดมั่นยืนกรานที่จะดำเนินการควบคุมแบบใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เหนือการใช้ชิปซึ่งผลิตออกมาด้วยอุปกรณ์อเมริกันนั้น จะประสบความสำเร็จได้อยู่หรอก อย่างน้อยที่สุดก็ในระดับชั่วคราว บทบรรณาธิการของวอลล์สตรีทเจอร์นัลชิ้นหนึ่งในสัปดาห์นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/huawei-and-the-u-s-china-tech-war-11591744974?mod=opinion_major_pos1) เขียนเอาไว้ดังนี้:

“ประเทศอื่นๆ อาจจะต้องเผชิญกับการเลือกที่ยากลำบากมากขึ้นอีก พวกโรงงานผลิตชิปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยธุรกิจของหัวเว่ย อาจรู้สึกโกรธเกรี้ยวจากการต้องถูกเล่นงานด้วยระเบียบกฎเกณฑ์แบบใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของสหรัฐฯ และความเสี่ยงประการหนึ่งมีอยู่ว่า รัฐบาลของประเทศเหล่านี้อาจรู้สึกว่าถูกผลักดันให้เข้าใกล้ชิดกับปักกิ่งมากขึ้นอีก ส่วนหัวเว่ยเองก็จะเร่งรัดเพิ่มความพยายามของตนเองในการทำชิปซึ่งใช้โนวฮาวของบริษัทเอง และดำเนินการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีด้วยความว่องไวมากขึ้น

“ยังคงมีคำถามบางคำถามในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯสามารถที่จะบังคับใช้คำสั่งห้ามขายเช่นนี้ในอุตสาหกรรมซึ่งสลับซับซ้อนกระจัดกระจายไปทั่วโลกเช่นนี้ได้หรือไม่ กระนั้นความสำเร็จของมาตรการแซงก์ชั่นซึ่งสหรัฐฯใช้เล่นงานอิหร่าน ก็เป็นสิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสามารถของวอชิงตันในการเฝ้าติดตามธุรกรรมต่างๆ ทั่วโลกเมื่อมันเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูงขึ้นมา ต้องขอบคุณฐานะความเป็นผู้นำของอเมริกาในด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่สามารถย้อนหลังกลับไปจนถึงศตวรรษที่ 20 กฎหมายของสหรัฐฯนั้นยังคงเป็นนายทวารคอยเฝ้าประตูคัดกรองดูแลพวกไมโครชิปที่มีความละเอียดอ่อนที่สุดได้อยู่ และวอชิงตันน่าที่จะสามารถสกัดกั้นจีนไม่ให้บรรลุความเสมอภาคในทางเทคโนโลยีกับสหรัฐฯได้ – สำหรับในขณะนี้”

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ กระทรวงกลาโหมเคยแทรกแซงแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการสกัดกั้นอย่างเดียวกันกับในข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์คราวนี้ที่คณะบริหารได้ตัดสินใจนำมาใช้ในเดือนพฤษภาคม ความเสี่ยงต่างๆ ที่มีต่อฐานะความเป็นผู้ครอบงำอยู่เหนือใครๆ ของอเมริกันนั้นมีอยู่อย่างมหาศาล ความเป็นผู้นำของอเมริกันในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แท้ที่จริงได้กลายเป็นเรื่องในอดีตไปเรียบร้อยแล้วในด้านการกัดกรด อันเป็นส่วนที่ลำบากยากยิ่งที่สุดของกระบวนการผลิตนี้ ขณะที่ในด้านอื่นๆ ฐานะของอเมริกันก็กำลังคลอนแคลนซวนเซด้วยเช่นกัน

คำสั่งห้ามขายชิปเช่นนี้ กำลังกลายเป็นการให้แรงจูงใจอันมหึมาแก่โลก ในการที่จะหลบเลี่ยงอ้อมผ่านสหรัฐฯ และกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่ว่าสหรัฐฯต่างหาก ไม่ใช่จีนหรอก ซึ่งจะกลายเป็นผู้ที่ถูกทิ้งให้หาเก้าอี้นั่งไม่ได้ เมื่อเสียงดนตรีในเกมนี้หยุดกึกลง


หมายเหตุผู้แปล

[1] ในข้อเขียนเรื่อง South Korea is the pivot in the Huawei wars ของ เดวิด โกลด์แมน ชิ้นนี้ ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนบางตอน ซึ่งผู้เขียนไม่ได้กล่าวไว้ในข้อเขียนเรื่อง How Huawei can work around US chip ban ดังนั้น ผู้แปลจึงขอเก็บความบางส่วนดังกล่าวมาเสนอเอาไว้ในที่นี้ ดังนี้:

หวาดเกรงจะถูกตอบโต้แก้เผ็ด

เกาหลีใต้นั้นหวั่นกลัวว่าฝ่ายจีนจะตอบโต้แก้เผ็ด ถ้าหากสหรัฐฯบังคับซัมซุงยุติการขายชิปให้ หัวเว่ย และพวกบริษัทจีนอื่นๆ ซึ่งก็ถูกใส่ชื่อเอาไว้ใน “บัญชีบุคคลและนิติบุคคลต่างๆ” (entity list หมายถึงบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ -ผู้แปล) ซัมซุงคือซัปพลายเออร์รายใหญ่รายหนึ่งในด้านการส่งเมโมรีชิปให้แก่จีน แต่นอกจากนั้นบริษัทยังมีศักยภาพความสามารถที่จะผลิตลอจิกชิปซึ่งออกแบบตามความต้องการของลูกค้า โดยที่ชิปเช่นนี้คือตัวที่ให้พลังแก่เครื่องโทรศัพท์สมาร์ตโฟนและเซิร์ฟเวอร์ปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย

เกาหลีใต้ยังพึ่งพาอาศํยปักกิ่งในการทัดทานยับยั้งเกาหลีเหนือ และด้วยเหตุนี้ผลพวงต่อเนื่องของการเกิดความแตกร้าวในความสัมพันธ์กับจีนจึงเป็นเรื่องเลวร้ายน่ากลัวมาก

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ กำลังล็อบบี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯอย่างหนักหน่วง เพื่อให้มีการตีความคำสั่งห้ามใหม่นี้อย่างยืดหยุ่น โดยที่ในฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์อย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งอาจเกิดขึ้นมาได้นั้น กระทรวงพาณิชย์อาจจะถึงขนาดสั่งห้ามไต้หวันและเกาหลีใต้ขายชิปทั้งหลายทั้งปวงให้แก่หัวเว่ย

นี่จะทำให้ธุรกิจจำนวนมากที่ทำกับหัวเว่ยต้องกลายเป็นอัมพาตไปทีเดียว ขณะที่การตีความแบบหลวมๆ อะลุ้มอะล่วยกว่าจะเปิดทางให้ผลิตภัณฑ์ปริมาณใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งยังคงสามารถไหลไปสู่ยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีนรายนี้ได้

เป็นที่คาดหมายกันว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะประกาศรายละเอียดของระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามนี้ ออกมาในประมาณช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกทุกๆ รายล้วนแต่ซื้ออุปกรณ์บางส่วนบางชิ้นจากพวกบริษัทอเมริกันอย่างเช่น แอลเอเอ็น, แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์, และ เคแอลเอ (KLA) ถ้าหากบริษัทผู้ผลิตชิปต่างประเทศรายใดถูกระบุว่าละเมิดคำสั่งห้ามแล้ว สหรัฐฯก็สามารถปิดกั้นไม่ให้บริษัทดังกล่าวเข้าถึงเครื่องจักรอุปกรณ์สหรัฐฯได้ เวลานี้พวกผู้ผลิตอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์จึงต่างพยายามเร่งมืออย่างเต็มที่ในการจัดส่งผลิตภัณฑ์ของตนไปให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวหลายรายในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทำชิปในส่วนที่มีความละเอียดซับซ้อนที่สุดอีกต่อไปแล้ว เอเอสเอ็มแอล บริษัทเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นกิจการที่แยกตัวออกมาจากบริษัท ฟิลิปส์ เอ็นวี (Philips NV) ปัจจุบันคือเจ้าเดียวในโลกที่สามารถผลิตเครื่องจักรกัดกรด เอ็กซ์ตรีม อัลตรา-ไวโอเลต ซึ่งกัดกรดพวกแพตเทิร์นเล็กๆ ระดับแทบเป็นไปไม่ได้บนชิปขนาด 5 นาโนเมตร และ 7 นาโนเมตร เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ด้วยการขอร้องของรัฐบาลสหรัฐฯ ทางเนเธอร์แลนด์ได้ยกเลิกการขายเครื่องจักรของ เอเอสเอ็มแอล เครื่องหนึ่งให้แก่จีน

ยังยากที่จะบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯพยายามบังคับให้มีการห้ามขายชิปอย่างเด็ดขาดแก่หัวเว่ยและพวกบริษัทอื่นๆ ใน “บัญชีรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลต่างๆ” หัวเว่ยนั้นซื้อชิปจากไต้หวันไม่เพียงเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสมาร์ตโฟน ของบริษัทเท่านั้น แต่ยังมีชิปซึ่งใช้สำหรับพวกสถานีฐานที่เป็นตัวให้พลังงานแก่บรอดแบนด์ไร้สาย 5จี มูลค่า 170,000 ล้านดอลลาร์ของจีนซึ่งกำลังนำออกมาใช้งานกันอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การกระทำใดๆ ก็ตามของสหรัฐฯ ไม่น่าที่จะสามารถหยุดยั้งแผนการ 5จี ของจีนได้ มีรายงานว่าหัวเว่ยได้รวบรวมชิปเอาไว้ในคลังสินค้าของตนจนมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับใช้กันไปตลอดถึงสิ้นปี 2020 โดยที่พวกโรงงานทำชิปของจีนเอง ซึ่งมี เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (เอสเอ็มไอซี) เป็นรายใหญ่ที่สุดนั้น เวลานี้สามารถผลิตชิปขนาด 14 นาโนเมตร ที่จัดเป็นรุ่นเก่า

ด้วยการรีดีไซน์กันอย่างรวดเร็วบางอย่างบางประการ เห็นกันว่าชิปที่ผลิตในแผ่นดินใหญ่จีน อาจนำมาปรับใช้แทนที่ชิปรุ่นใหม่กว่าของไต้หวัน ภายในพวกอุปกรณ์ความถี่วิทยุของหัวเว่ยได้ นอกจากนั้น เอสเอ็มไอซียังระบุว่า ตนจะมีศักยภาพในการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้ภายในสิ้นปีนี้

เอสเอ็มไอซีก็ใช้อุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันอยู่หลายส่วน และจึงสันนิษฐานกันว่าจะต้องถูกห้ามซื้อเครื่องจักรสหรัฐฯอีกต่อไปเช่นกัน หากขายชิปให้แก่หัวเว่ย

สำหรับซัมซุงนั้นใช้อุปกรณ์จากบริษัทหลายหลาก ทั้งอุปกรณ์อเมริกัน, ญี่ปุ่น, และเนเธอร์แลนด์ ตามปากคำของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้รายหนึ่ง โรงงานทำชิปของซัมซุง สามารถที่จะดำเนินการผลิตได้โดยไม่ใช้เครื่องจักรอเมริกันเลย นอกจากนั้นมันย่อมจะเป็นเรื่องลำบากที่สหรัฐฯจะป้องกันไม่ให้ เอเอสเอ็มแอล ของเนเธอร์แลนด์ และ โตเกียว อิเล็กตรอน (Tokyo Electron) ของญี่ปุ่น ขายอุปกรณ์ทำชิปให้แก่เกาหลีใต้

จีนยังสามารถที่จะขอความสนับสนุนจาก อีริคสัน แห่งสวีเดน ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เทเลคอมรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองลงมาจากหัวเว่ย ให้เพิ่มบทบาทของตนในการสร้างเครือข่าย 5จี ของประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อีริคสันเป็นผู้ชนะได้ทำสัญญาซึ่งครอบคลุม 11.4% ของเครือข่าย 5จี ใหม่ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แก่ ไชน่า โมไบล์ (China Mobile) และ ไชน่า ยูนิคอม (China Unicom)

โรงงานใหญ่ที่สุดและใหม่ที่สุดของอีริคสันนั้น ตั้งอยู่ในเมืองหนานจิง (นานกิง) มณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของจีน โรงงานนี้มีศักยภาพที่จะเพิ่มขนาดการผลิตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว บริษัทสวีเดนแห่งนี้ว่าจ้างพนักงานเกือบๆ 15,000 คนในประเทศจีน เปรียบเทียบกับ 9,000 คนในสหรัฐฯ บริษัทมีโรงงานแห่งหนึ่งในรัฐเทกซัส แต่ว่าจ้างพนักงานเอาไว้เพียงแค่ 100 คนเท่านั้น ถือเป็นการโอนอ่อนผ่อนตามแบบแค่พอเป็นพิธีต่อความเรียกร้องต้องการของอเมริกันที่จะให้อีริคสันผลิตอุปกรณ์ 5จี ภายในสหรัฐฯ

พวกผู้บริหารในอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมของจีนยืนยันว่า ไม่มีอะไรจะสามารถหยุดยั้งจีนไม่ให้นำเอาเครือข่าย 5จี ของตนออกมาใช้งาน และสร้างแอปพลิเคชั่นต่างๆ อย่างหลากหลายของ “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Fourth Industrial Revolution) เป็นต้นว่า โทรเวชกรรม (tele-medicine), ยานพาหนะอัตโนมัติ (autonomous vehicles), หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่โปรแกรมตัวเองได้ (self-programming industrial robots), และนครอัจฉริยะ (smart cities)

ตัวที่ยังไม่ทราบกันซึ่งมีความสำคัญมากตัวหนึ่ง ได้แก่อัตราความเร็วที่จีนจะสามารถเร่งรัดความเร็วในเรื่องการผลิตชิป เอสเอ็มไอซี ที่เป็นบริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติของแดนมังกรในด้านการทำชิป เพิ่งเพิ่มงบประมาณประจำปีทางด้านการวิจัยและการพัฒนาของตนไปเป็น 4,300 ล้านดอลลาร์ จาก 2,300 ล้านดอลลาร์ ด้วยเงินอัดฉีดจากความช่วยเหลือของรัฐบาล

ดร.โยอันน์ ชูดิ (Yohann Tschudi) นักวิเคราะห์ซึ่งทำงานให้ โยเลอ ดีเวอลอปมองต์ (Yole Développement) กิจการที่ปรึกษาด้านเซมิคอนดักเตอร์ของฝรั่งเศส เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.i-micronews.com/tsmc-the-final-word-has-not-been-spoken-yet/?cn-reloaded=1) ว่า เอสเอ็มไอซี คือ “ผู้ที่มีศักยภาพจะกลายเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด” ในสงครามชิปคราวนี้ พร้อมกับชี้ว่า “ทีเอสเอ็มซี (แห่งไต้หวัน) กำลังทำธุรกิจมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีกับหัวเว่ย และบริษัทดูเหมือนมีความยากลำบากที่จะบอกลาเงินทองจำนวนนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นมา เอสเอ็มไอซีก็จะกลายเป็นผู้รับประโยชน์ เนื่องจากจีนจะเร่งรัดดำเนินความเคลื่อนไหวเพื่อไปสู่ความเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติในระดับสูงที่สุด และเอสเอ็มไอซีจะได้ใบสั่งซื้อทั้งหลายของหัวเว่ยไป” ชูดิแสดงคิดเห็นเอาไว้เช่นนี้ในเว็บไซต์ Micronews.com

องค์ประกอบที่ยังคงขาดหายไปสำหรับสหรัฐฯ

องค์ประกอบประการหนึ่งที่ยังคงขาดหายไปในการรณรงค์ของวอชิงตันเพื่อกำจัดกีดกันฝ่ายจีนไม่ให้เข้ามามีฐานะครอบงำในเทคโนโลยีต่างๆ ของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้แก่ การวิจัยและการพัฒนาที่บ้านของตนเอง

คณะบริหารทรัมป์ออกข่าวเกรียวกราวเรื่องที่ ทีเอสเอ็มซี ตัดสินใจจะสร้างโรงงานผลิตชิปมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นในรัฐแอริโซนา ทว่านี่ไม่ได้เป็นความสำเร็จที่มีคุณภาพอะไรหรอก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เป็นต้นว่า จากจุดยืนด้านความมั่นคงแห่งชาติ การที่บริษัทไต้หวันรายหนึ่งกลายเป็นผู้ทำชิปให้แก่แอปพลิเคชั่นทางด้านกลาโหมที่อ่อนไหวทั้งหลายของสหรัฐฯ จะไม่มีทางเกิดความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมาได้อย่างเด็ดขาด

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงเวลาที่โรงงานตามโครงการนี้สร้างเสร็จสามารถดำเนินการผลิตได้ในปี 2024 ชิปขนาด 5 นาโนเมตรที่โรงงานนี้ผลิต ก็จะถูกบดบังรัศมีจากชิปขนาด 3 นาโนเมตร ทอดทิ้งให้สหรัฐฯจมอยู่กับสิ่งซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์โบราณล้าสมัย ส่วนผลผลิตจากโรงงานนี้ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับเวเฟอร์ 20,000 ชิ้นต่อเดือน ก็จะสามารถสนองดีมานด์ความต้องการของสหรัฐฯได้เพียงส่วนเสี้ยว ในเมื่อเฉพาะบริษัทแอปเปิลรายเดียวก็ใช้เวเฟอร์เป็น 2 เท่าตัวของปริมาณดังกล่าว

หลังจากการใช้จ่ายเกือบๆ 6 ล้านล้านดอลลาร์โดยกระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเรื่องการพิทักษ์คุ้มครองรายได้และการสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดแล้ว ก็ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมใดๆ อีกเลยให้แก่การวิจัยและการพัฒนาพื้นฐาน ในอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่งยวดซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและรวดเร็วระดับเป็นรายเดือน

ระหว่างสมัยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโรนัลด์ เรแกน งบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯที่ใช้อุดหนุนการวิจัยและการพัฒนาพื้นฐาน มีจำนวนเท่ากับ 1.4% ของจีดีพี เกือบๆ เป็น 2 เท่าตัวของระดับในทุกวันนี้ วอชิงตันต้องการที่จะสำแดงอิทธิพลบารมีของตนเองไปทั่ว แต่ไม่ได้มีการใช้จ่ายเงินทองซึ่งจำเป็นสำหรับเรื่องนี้ ลงท้ายแล้วที่อาจจะจบลงด้วยความเลวร้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น