xs
xsm
sm
md
lg

คณะบริหารทรัมป์ยกระดับความร่วมมือชาติพันธมิตร หาทางตัด ‘จีน’ จากระบบห่วงโซ่อุปทานโลก แต่แวดวงธุรกิจยังไม่ค่อยให้ราคาจะทำได้จริงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/MGR ออนไลน์ - แหล่งข่าววงในเผยคณะบริหารทรัมป์กำลังเร่งเครื่องแผนการโยกย้าย “ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมโลก” ออกจากจีน ระหว่างชั่งใจขึ้นภาษีรอบใหม่เพื่อลงโทษปักกิ่งกรณีการจัดการโรคระบาด โดยครั้งนี้มีการระดมชาติพันธมิตรร่วมโครงการด้วย

พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะบริหารเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังระดมโจมตีจีนรอบใหม่ก่อนการเลือกตั้งประเธานาธิบดีสหรัฐฯวันที่ 3 พฤศจิกายน เรียกร้องมานานแล้วให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ และขณะที่เศรษฐกิจถูกทำลายอย่างหนักบวกกับยอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากโควิด-19 ยิ่งทำให้รัฐบาลต้องเร่งนำการผลิตและห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน โดยอาจโยกย้ายไปยังประเทศพันธมิตรแทน

คีธ แครช ปลัดกระทรวงต่างประเทศฝ่ายการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เผยว่า ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อเมริกาดำเนินการเพื่อลดการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานในจีน และกำลังเร่งรัดแผนการนี้เนื่องจากมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ และรัฐบาลอาจประกาศมาตรการใหม่ๆ เร็วๆ นี้

เจ้าหน้าที่ปัจจุบันและอดีตเจ้าหน้าที่หลายคนเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ กำลังหาวิธีผลักดันให้บริษัทอเมริกันย้ายงานจัดซื้อและการผลิตออกจากจีน โดยกำลังพิจารณาใช้มาตรการจูงใจทางภาษีและการอุดหนุนเพื่อการโยกย้ายกลับประเทศ

นโยบายต่อจีนของทรัมป์ถูกกำหนดโดยการต่อสู้หลังฉากระหว่างที่ปรึกษาที่สนับสนุนการค้ากับที่ปรึกษาสายเหยี่ยวที่ต่อต้านจีน และตอนนี้เกมน่าจะอยู่ในการควบคุมของฝ่ายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้คนเริ่มกังวลเกี่ยวกับการทำธุรกิจกับจีน

ทรัมป์ย้ำว่า อาจเก็บภาษีศุลกากรรอบใหม่เพิ่มเติมจากที่เรียกเก็บ 25% จากสินค้าจีนมูลค่า 370,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี งานนี้อาจเท่ากับเพิ่มภาระให้บริษัทอเมริกันเองที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาษีเดิม ขณะที่ยอดขายทรุดดิ่งระหว่างการล็อกดาวน์

กระนั้น ทรัมป์อาจไม่ยอมหยุด โดยยังมีวิธีลงโทษจีนอีกหลายแบบ เช่น แซงก์ชันเจ้าหน้าที่หรือบริษัทจีน และกระชับสัมพันธ์กับไต้หวันที่ปักกิ่งถือเป็นมณฑลหนึ่งของตน

แต่ดูเหมือนประเด็นหารือที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดขณะนี้คือ การย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน ซ้ำยังมีการชักชวนนานาประเทศร่วมด้วย ผิดวิสัยคณะบริหารของทรัมป์ที่มักลุยเดี่ยวตามอำเภอใจ

(ภาพจากแฟ้ม) ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาว ซึ่งเป็น “เหยี่ยว” นักต่อต้านจีนคนสำคัญในคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์  ขณะอยู่บนแท่นแถลงข่าว โดยมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนฟังอยู่ข้างๆ
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเผยว่า อเมริกากำลังพยายามสร้างกลุ่มพันธมิตรที่ไว้ใจได้ในชื่อ “เครือข่ายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” ที่ครอบคลุมบริษัทและกลุ่มประชาสังคมที่ดำเนินงานภายใต้ชุดมาตรฐานเดียวกันเกี่ยวกับทุกสิ่งตั้งแต่ธุรกิจดิจิตอล พลังงาน โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการวิจัย การค้า และการศึกษา

วันที่ 19 เดือนที่ผ่านมา ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า อเมริกากำลังร่วมกับออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยมีการหารือเกี่ยวกับวิธีปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้อุบัติซ้ำ

ละตินอเมริกามีบทบาทในความพยายามนี้ด้วย เดือนที่แล้ว ฟรานซิสโก ซานโตส เอกอัครราชทูตโคลอมเบียเผยว่า ได้หารือกับทำเนียบขาว สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสมาคมหอการค้าอเมริกัน เกี่ยวกับการสนับสนุนให้บริษัทอเมริกันถอนห่วงโซ่อุปทานจากจีนกลับสู่ภูมิภาคใกล้บ้านเกิด

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสหประชาชาติ จีนแซงหน้าอเมริกาขึ้นเป็นประเทศผู้นำในการผลิตของโลกในปี 2010 และรับผิดชอบผลผลิต 28% ของทั่วโลกในปี 2018

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ตอกย้ำบทบาทสำคัญของจีนในห่วงโซ่อุปทานสำหรับยาสามัญที่เป็นยาส่วนใหญ่ที่สั่งจ่ายในอเมริกา รวมทั้งยังสะท้อนความเป็นผู้นำของจีนในสินค้า เช่น กล้องตรวจจับความร้อนที่จำเป็นสำหรับการตรวจวัดไข้พนักงาน รวมถึงอาหาร

ขณะเดียวกัน บริษัทอเมริกันจำนวนมากยังไปลงทุนก้อนใหญ่ในฐานการผลิตในจีน รวมทั้งพึ่งพาอาศัยประชากร 1,400 ล้านของแดนมังกรเป็นตัวดันยอดขายของพวกตน

ดั๊ก แบร์รี โฆษกสภาธุรกิจอเมริกา-จีน ชี้ว่า การแตกธุรกิจและการมีความเหลือเฟือกันบ้างในห่วงโซ่อุปทาน อาจยังเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมองถึงระดับความเสี่ยงซึ่งโรคระบาดคราวนี้ได้แสดงให้เห็น แต่โดยภาพรวม ทางสภาธุรกิจยังไม่พบว่า บริษัทอเมริกันจำนวนมากต้องการถอนตัวจากจีนโดยด่วน

ส่วน จอห์น เมอร์ฟี รองประธานอาวุโสด้านนโยบายระหว่างประเทศของหอการค้าอเมริกัน เสริมว่า ผู้ผลิตสหรัฐฯ ตอบสนองดีมานด์ยาได้ถึง 70% อยู่แล้วในขณะนี้ เขายังกังวลว่า การสร้างโรงงานผลิตยาใหม่ในอเมริกาอาจต้องใช้เวลา 5-8 ปี ดังนั้นจึงอยากจะให้พวกเจ้าหน้าที่ทางการได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจริงๆ ก่อนที่จะเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ๆ

นอกจากนั้น การขู่ลงโทษจีนของทำเนียบขาวก็ใช่ว่าจะตามมาด้วยมาตรการจริงๆ เสมอไป ตัวอย่างเช่น ความพยายามในการขัดขวางไม่ให้มีการส่งชิปไปให้แก่บริษัทหัวเว่ยของจีนเลย ซึ่งเป็นมาตรการที่พวกเหยี่ยวในคณะบริหารทรัมป์ชื่มชอบนักหนา ก็ยังคงค้างเติ่งในคณะบริหารมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยไม่มีทีท่าว่าจะเคาะกันขั้นสุดท้ายได้เสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น