ผู้บริหารหัวเว่ยยอมรับ ภารกิจหลักของบริษัทนาทีนี้คือต้องรอดวิกฤติไปให้ได้ โอดสหรัฐฯจ้องทำลายหัวเว่ยแต่โลกก็กำลังถูกทำร้ายด้วย โดยเฉพาะกลไกราคาในตลาดสินค้าเทคโนโลยีที่จะพังพินาศจนทำให้เกิดภาวะ “ราคาแย่มาก” ล่าสุดมีรายงานว่าซัปพลายเออร์ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกยกเลิกคำสั่งผลิตชิปจากหัวเว่ยแล้ว ด้านหัวเว่ยยังนิ่งบอกปัดว่าไม่ทราบเรื่อง
นายกัว ผิง ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในงานประชุมนักลงทุน Huawei Global Analyst Summit (HAS) ครั้งที่ 17 ว่ามาตรการล่าสุดของสหรัฐฯที่ดำเนินการกับหัวเว่ยกำลังสร้าง “ราคาที่แย่” ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก โดยบอกว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนกำลังส่งผลเสียต่อชาวโลกและชาวอเมริกันเอง โดยชี้ว่าหัวเว่ยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เรื่องการห้ามผู้ผลิตชิปทุกรายใช้อุปกรณ์จากบริษัทอเมริกันในการผลิตหรือจัดหาสินค้าให้หัวเว่ยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ
“ธุรกิจของเราจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าภาวะ 2 มาตรฐานและห่วงโซ่การผลิตที่กระจัดกระจายนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย และหากมีการแตกแยกเพิ่มขึ้นอีก ทั้งอุตสาหกรรมจะต้องจ่ายในราคาที่แย่มากขึ้น”
กฎใหม่กระแทกกล่องดวงใจ
ภายใต้กฏใหม่ บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกอย่างทีเอสเอ็มซี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.) และบริษัทคู่แข่งทุกรายจะต้องตัดคำสั่งซื้อจากบริษัทจีนทิ้งไป ยกเว้นว่าจะได้รับการผ่อนปรนเป็นกรณี กฏนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตัดไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ล้ำสมัย ซึ่งเป็นหัวใจหลักในสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เครือข่ายประสิทธิภาพสูง
การตัดสินใจของสหรัฐฯนั้นเกิดขึ้นเพราะประเด็นความปลอดภัย ไม่ให้หัวเว่ยครอบงำตลาดเทคโนโลยีในโลกได้สำเร็จ แต่หัวเว่ยระบุว่าข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะสิ่งที่สหรัฐฯทำนั้นกำลังทำร้ายโลกอย่างชัดเจน ซึ่งแทนที่จะหาข้อแก้ตัวว่าเป็นห่วงเรื่องซีเคียวริตี้ อุตสาหกรรมไอทีควรจะสามัคคีกันไว้จะดีกว่า
แม้จะยอมรับว่าหัวเว่ยได้รับผลกระทบเต็มที่จากมาตรการใหม่ แต่เจ้าพ่อแดนมังกรไม่อธิบายว่าผลกระทบนั้นคืออะไร เบื้องต้นหัวเว่ยยังไม่เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์รายได้ของบริษัทที่จะหดหายไป โดยระบุเพียงว่านาทีนี้บริษัทมองคีย์เวิร์ดที่คำเดียวคือ “ต้องรอด”
สำหรับงานประชุมสุดยอด Huawei Global Analyst Summit (HAS) ครั้งที่ 17 จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน โดยมีทั้งนักวิเคราะห์ ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOL) และตัวแทนสื่อมวลชนจากหลากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต และการเงิน รวมกว่า 2,000 คนเข้าร่วม
บนเวที นายกัว ผิง กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานในหัวข้อ “หัวเว่ย: หนึ่งปีที่ผ่านมาและอนาคตเบื้องหน้า” โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงประสบการณ์และผลการดำเนินธุรกิจของหัวเว่ยในช่วงปีที่ผ่านมา ว่าตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หัวเว่ยสามารถดิ้นรนข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านั้นจนอยู่รอดมาได้ภายใต้การปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งนับจากนี้ บริษัทก็กำลังเพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า
ยังเดินหน้าลงทุน
แม้จะมีขวากหนาม แต่หัวเว่ยยืนยันว่าจะยังคงลงทุนและพัฒนานวัตกรรมสามสาขาหลักในอนาคต ซึ่งครอบคลุมด้านการเชื่อมต่อ ด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์ และด้านอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ และจะร่วมมือกับลูกค้า พันธมิตร องค์กรด้านการจัดตั้งมาตรฐานต่างๆ และผู้เล่นอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน การจัดตั้งมาตรฐาน และการแสวงหาบุคลากรที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือที่เปิดกว้าง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม และแสวงหาอนาคตร่วมกันต่อไป
หัวเว่ยยังโชว์สถิติว่าตลอดช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ติดตั้งเครือข่ายไปแล้วมากกว่า 1,500 เครือข่าย ในพื้นที่กว่า 170 ประเทศและภูมิภาค รองรับการใช้งานของประชากรมากกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก ยังมีบริการอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์แก่ผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน สถิติทั้งหมดตอกย้ำว่าความกดดันของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการต่อต้านหัวเว่ยจะไม่เพียงทำส่งผลกระทบต่อหัวเว่ยเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานของผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของหัวเว่ยด้วยเช่นกัน
หัวเว่ยย้ำอีกว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) คือรากฐานของโลกอัจฉริยะ โดยภายในปี พ.ศ. 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่า 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอย่างมาก และนับเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การก้าวสู่โลกอัจฉริยะที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสที่เหนือกว่าความท้าทายอีกมากมาย.