xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชน-คนดังร่วมพิธีศพ‘ฟลอยด์’ ทรัมป์กล่าวหาคนแก่ถูกตร.ผลักล้ม‘จัดฉาก’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หีบศพสีทองซึ่งบรรจุร่างของ จอร์จ ฟลอยด์ ถูกนำออกมาจากโบสถ์ฟาวเทน ออฟ เพรส ในเมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส ภายหลังพิธีรำลึกไว้อาลัย เมื่อวันอังคาร (9 มิ.ย.) เพื่อนำไปฝังที่สุสานฮิวสตัน เมโมเรียล การ์เดน
เอเจนซีส์ – นักการเมือง นักเคลื่อนไหว คนดัง และประชาชนนับพัน ร่วมพิธีฝังศพจอร์จ ฟลอยด์ ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้าและเสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชายแอฟริกัน-อเมริกันผู้นี้ ซึ่งคลิปวิดีโอนาทีถูกสังหารของเขาจุดชนวนให้เกิดการประท้วงทั่วโลกเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวและการใช้ความรุนแรงของตำรวจ อย่างไรก็ตาม ทางด้าน “ทรัมป์” ชูทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด โดยทวิตบอกว่า คนแก่ที่ถูกตำรวจผลักล้มเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วนั้นอาจเป็นสมาชิกฝ่ายซ้ายสุดโต่ง และเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการจัดฉาก

ระหว่างพิธีฝังศพเป็นเวลา 4 ชั่วโมงเมื่อวันอังคาร (9 มิ.ย.) ซึ่งเครือข่ายทีวีหลักทุกแห่งของอเมริกาพากันถ่ายทอดสดจากโบสถ์ฟาวเทน ออฟ เพรสในเมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของฟลอยด์ เหล่านักการเมือง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง บุคคลมีชื่อเสียง และประชาชนราว 2,000 คน ร่วมเป็นสักขีพยานและอำลาฟลอยด์ครั้งสุดท้าย หลังจากผู้หามหีบศพ 6 คน แบกโลงศพสีทองของฟลอยด์ผ่านแถวตำรวจที่ยืนทำวันทยาหัตถ์เข้าสู่โบสถ์

พิธีนี้มีขึ้นภายหลังเกิดการประท้วงมานาน 2 สัปดาห์ ซึ่งถูกปลุกเร้าจากคลิปที่ฟลอยด์ วัย 46 ปี ถูกสวมกุญแจมือและถูกจับนอนคว่ำ โดยมี ดีเร็ก ชอวิน ตำรวจผิวขาวในมินนิอาโปลิส นั่งใช้เข่ากดทับลำคอของเขานานกว่า 8 นาที โดยมีเสียงฟลอยด์ร้องเรียกแม่ และอ้อนวอนให้ชอวินหยุดโดยบอกซ้ำๆ ว่า “ผมหายใจไม่ออก” ก่อนที่เสียงจะเงียบไปและฟลอยด์เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ

ชอวิน วัย 44 ปี ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองล่วงหน้า ส่วนตำรวจอีก 3 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ถูกตั้งข้อหาสมคบและยุยงในการฆาตกรรมฟรอยด์ ตำรวจเหล่านี้ทั้งหมดถูกปลดหลังเกิดเหตุ 1 วัน


เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนมากมายทั้งในอเมริกาและประเทศอื่นๆ ออกมาประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์ รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของอเมริกาเลิกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อชนกลุ่มน้อย

อัล ชาร์ปตัน ผู้นำสิทธิพลเมือง ขึ้นกล่าวในพิธีฝังศพของฟลอยด์ว่า สังคมกำลังต่อสู้กับความชั่วร้ายของเหล่าผู้นำ พร้อมกับกล่าวหาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าดีแต่วางแผนปั่นกระแสแทนที่จะหาวิธีคืนความยุติธรรมให้ประชาชน รวมทั้งเอาแต่พยายามหาทางหยุดการประท้วง แต่ไม่คิดหาวิธีหยุดยั้งความป่าเถื่อนของตำรวจ

ผู้ร่วมพิธียังรวมถึงพ่อแม่ของเหยื่อความรุนแรงของตำรวจในกรณีอื่นๆ เป็นต้นว่า อิริก การ์เนอร์ และไมเคิล บราวน์

ทางด้าน โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ที่เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของฟลอยด์เมื่อวันจันทร์ (8) แสดงความเสียใจผ่านข้อความวิดีโอที่บันทึกล่วงหน้าพร้อมเรียกร้องให้สังคมเดินหน้าต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติต่อไป

การประท้วงภายหลังการเสียชีวิตของฟลอยด์ และปฏิกิริยาที่มีต่อการปล้นและทำลายทรัพย์สินระหว่างการประท้วงในบางพื้นที่ ทำให้ทรัมป์เผชิญกับหนึ่งในวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดนับจากเข้ารับตำแหน่ง


ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันผู้นี้ขู่ซ้ำๆ ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อฟื้นความสงบเรียบร้อย แต่กลับพูดถึงบาดแผลจากการเหยียดเชื้อชาติที่เป็นต้นตอการประท้วงน้อยมาก

มิหนำซ้ำเมื่อวันอังคาร ทรัมป์ยังทวิตโดยอ้างอิงทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดว่า มาร์ติน กูกิโน ผู้ประท้วงวัย 75 ปี ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ที่ถูกตำรวจผลักล้มฟาดกับพื้นจนศีรษะแตกระหว่างการเดินขบวนเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว อาจเป็นสมาชิกกลุ่มแอนติฟาซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวลัทธิอนาธิปไตยที่ทรัมป์พยายามกล่าวหาว่า อยู่เบื้องหลังความรุนแรงระหว่างการประท้วง รวมทั้งเขายังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ชายชราผู้นี้ถูกผลักดังกล่าวอาจเป็นการจัดฉาก

ทรัมป์ไม่ได้โชว์หลักฐานนอกเหนือจากการอ้างอิงรายงานข่าวของช่องวัน อเมริกา นิวส์ เน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นช่องที่เชียร์ประธานาธิบดีผู้นี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงหลักฐานการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก วิจารณ์ว่า ทวิตของทรัมป์น่าสะอิดสะเอียน และเป็นการเติมเชื้อไฟให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ทรัมป์ออกมาขอโทษ

ขณะที่ไบเดนทวิตว่า พ่อของตนเคยสอนว่า ไม่มีบาปใดร้ายแรงกว่าการลุแก่อำนาจ ซึ่งในที่นี้หมายถึงทั้งการที่ตำรวจทำร้ายผู้ประท้วงอย่างสันติ และทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่ทรัมป์อ้างอิงจากข่าวทีวี


กำลังโหลดความคิดเห็น