รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เคยบอกกับบรรดาที่ปรึกษาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าต้องการทหาร 10,000 นายประจำการในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยับยั้งเหตุจลาจลกรณีตำรวจสังหารชายผิวสี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ แต่ปรากฏว่าทั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและผู้นำกองทัพไม่เอาด้วย
ข้อเรียกร้องของทรัมป์ ระหว่างการหารือที่ห้องทำงานรูปไข่เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (1 มิ.ย.) แสดงให้เห็นว่าผู้นำสหรัฐฯ จวนจะส่งทหารติดอาวุธปราบม็อบในเมืองต่างๆ อยู่รอมร่อ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้นำเพนตากอนก็ตาม
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้ไม่ประสงค์ออกนามเผยว่า มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วม และ วิลเลียม บาร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พยายามเตือน ทรัมป์ ให้ล้มเลิกแนวคิดในการส่งทหารปราบประชาชน และทั้งสองฝ่าย “โต้เถียงกันอย่างหนัก”
หลังจากนั้นมา ทรัมป์ ดูเหมือนจะลดความต้องการลง และพอใจกับการใช้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) ควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เพนตากอนแนะนำ และเป็นวิธีดั้งเดิมที่สหรัฐฯ เคยใช้จัดการวิกฤตจลาจลในประเทศมาแล้ว
ผู้นำเพนตากอนได้ติดต่อไปยังผู้ว่าการรัฐต่างๆ เพื่อขอให้ส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้ามายังวอชิงตัน และมีการเรียกระดมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายฝ่ายอื่นๆ ด้วย แต่มาตรการหลักที่ทำให้ ทรัมป์ พอใจที่สุดน่าจะเป็นคำสั่งของ เอสเปอร์ ที่ให้ทหารจากกองบิน 82 และหน่วยอื่นๆ ในวอชิงตัน ดี.ซี. อยู่ในภาวะเตรียมพร้อม
“การมีทหารที่อยู่ในภาวะเตรียมพร้อม แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าประจำการในเมือง คือสิ่งที่เพียงพอสำหรับประธานาธิบดีในตอนนั้น” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุ
รัฐมนตรียุติธรรม วิลเลียม บาร์ ยืนยันในรายการ Face the Nation ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวานนี้ (7) ว่าไม่มีทหารประจำการปกติ (active duty troops) ถูกส่งเข้ามาตามท้องถนนในวอชิงตัน แต่มีสารวัตรทหารอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง
“เราสั่งให้พวกเขาสแตนด์บาย เผื่อว่ามีความจำเป็นจริงๆ” บาร์ กล่าว
ความพยายามของทรัมป์ ที่จะดึงทหารเข้ามาช่วยยุติการชุมนุมประท้วงซึ่งมีต้นตอจากปัญหาการเหยียดผิวเรียกเสียงวิจารณ์จากอดีตนายทหารระดับสูงหลายคน รวมถึง เจมส์ แมตทิส อดีตรัฐมนตรีกลาโหมและนายพลสี่ดาววัยเกษียณ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง
รัฐมนตรีกลาโหม เอสเปอร์ ระบุในงานแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่แล้ว (3) ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายปราบจลาจล Insurrection Act ซึ่งจะอนุญาตให้มีการระดมทหารประจำการเข้าปราบปรามผู้ประท้วง ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวขัดแย้งกับท่าทีของ ทรัมป์ และผู้ช่วยระดับสูง และว่ากันว่าผู้นำสหรัฐฯ ถึงขั้นตะคอกใส่ เอสเปอร์ หลังการแถลงข่าวสิ้นสุดลง
เหตุการณ์นี้ยังทำให้หลายฝ่ายคาดเดาว่า ทรัมป์ จะสั่งปลด เอสเปอร์ หรือไม่ ซึ่งโฆษกหญิงของทำเนียบขาว เคย์ลีห์ แมคเอนานีย์ ยืนยันว่า ทรัมป์ “ยังมีความเชื่อมั่นในตัวรัฐมนตรี เอสเปอร์”
เอสเปอร์ ได้ออกบันทึกข้อความไปยังเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันอังคารที่แล้ว (2) โดยย้ำเตือนว่า “พวกเรามีหน้าที่ต้องปกป้องสิทธิ์ของชาวอเมริกันในการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และชุมนุมโดยสันติ” ขณะที่ พล.อ.มิลลีย์ ก็ได้แถลงเตือนทหารทุกนายให้จดจำคำสัตย์สาบานที่ให้ไว้ต่อหน้ารัฐธรรมนูญอเมริกันว่าจะปกป้องสิทธิ์ในการชุมนุมอย่างสันติเช่นกัน