มาร์เกตวอตช์/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันปิดผสมผสานในวันจันทร์ (1 มิ.ย.) ทบทวนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ปัจจัยนี้ฉุดทองคำปรับลดในกรอบแคบๆ ขณะที่วอลล์สตรีทปิดบวก ได้แรงหนุนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจ เมินวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความไม่สงบในอเมริกา
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 5 เซ็นต์ ปิดที่ 35.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 48 เซ็นต์ ปิดที่ 38.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักลงทุนจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หลังบลูมเบิร์กรายงานในวันจันทร์ (1 มิ.ย.) ว่า ปักกิ่งระงับนำเข้าถั่วเหลืองจากอเมริกบางส่วน ความเคลื่อนไหวที่เป็นไปได้ว่าจะก่อความแตกร้าวระหว่างสองชาติเพิ่มเติมซึ่งจะก่อแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน
ความตึงเครียดระหว่างสองชาติพุ่งทะยานอีกครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความโกรธเคืองต่อแนวทางรับมือกับโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ให่ของจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) ว่าเขาจะยุติสถานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง เนื่องจากจีนออกกฎหมายด้านความมั่นคงฉบับใหม่ที่ใช้กับเขตปกครองพิเศษแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบรนต์ลอนดอนปิดบวก หลังรายงานว่าบรรดาชาติผู้ผลิตหลักอาจพบปะกันเร็วกว่าแผนเดิมที่วางเอาไว้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขยายกรอบมาตรการลดกำลังผลิตในปัจจุบัน
ส่วนราคาทองคำในวันจันทร์ (1 มิ.ย.) ปิดลบในกรอบแคบๆ นักลงทุนทบทวนข่าวสารต่างๆ ทั้งความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและเหตุประท้วงทั่วประเทศในอเมริกา รวมถึงข้อมูลบางอย่างซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 1.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1750,30 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดห้นสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (1 มิ.ย.) ปิดบวกเล็กน้อย ข้อมูลบวกทางเศรษฐกิจอเมริกา ช่วยกลับกระแสความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดกับจีน
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 91.91 จุด (0.36 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 25,475.02 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 11.42 จุด (0.38 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,055.73 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 62.18 จุด (0.66 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 9,552.05 จุด
ทำเนียบขาวร้องขอความสงบเรียบร้อย หลังทั่วสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการประท้วงรุนแรงยืดเยื้อมา 6 คืนติด อันมีชนวนเหตุจากการเสียชีวิตด้วยน้ำมือตำรวจของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศแห่งนี้กำลังหัวหมุนกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
“นักลงทุนส่วนใหญ่บอกว่าการประท้วงจะไม่ทำลายเศรษฐกิจ มีการปิดถนน แต่มันจะไม่เลวร้ายเท่าโรคระบาดใหญ่” นักวิเคราะห์ร้ายหนึ่งระบุ
ตลาดได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 43.1 ในเดือนพฤษภาคม โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 43.0 ฟื้นตัวจากระดับ 41.5 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี
ดัชนีภาคการผลิตได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19