xs
xsm
sm
md
lg

อดีต รมว.ตปท.อังกฤษเสนอ G7 ตั้งคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติกรณี ‘ฮ่องกง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกงชูหนังสือเดินทางอังกฤษนอกราชอาณาจักร (British National Overseas – BNO) ระกว่างการประท้วงต่อต้านแผนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง วันนี้ (1 มิ.ย.)
เอเอฟพี - อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ 7 คนออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผลักดันให้กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ตั้งคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติกรณีฮ่องกง เพื่อตอบโต้แผนการของจีนที่เตรียมใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติปิดกั้นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยบนเกาะแห่งนี้

ปักกิ่งอ้างว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อต่อต้าน “ลัทธิก่อการร้าย” และ “ลัทธิแบ่งแยกดินแดน” หลังเกิดการลุกฮือของขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วจนนำมาสู่เหตุจลาจลที่รุนแรงและยืดเยื้อนานถึง 7 เดือน

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า กฎหมายความมั่นคงซึ่งออกโดยไม่ผ่านสภานิติบัญญัติฮ่องกงอาจกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ผู้ต่อต้านจีน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินใหญ่ และจะบั่นทอนอำนาจปกครองตนเองขั้นสูงที่ถูกรับรองไว้ในข้อตกลงรับมอบเกาะฮ่องกงคืนจากอังกฤษเมื่อปี 1997

สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และแคนาดา ได้ออกคำแถลงร่วมวิจารณ์แผนการของปักกิ่ง ขณะที่ลอนดอนขู่จะขยายสิทธิทางวีซ่าให้แก่ชาวฮ่องกงที่มีสิทธิ์ขอหนังสือเดินทางอังกฤษนอกราชอาณาจักร (British National Overseas – BNO) และจะเปิดทางให้คนเหล่านี้ขอสัญชาติอังกฤษได้ด้วย

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจากทั้ง 2 ขั้วการเมืองในอังกฤษประสานเสียงเรียกร้องให้ จอห์นสัน แสดงบทบาทเชิงรุกในการปกป้องฮ่องกง

“สหราชอาณาจักรจะต้องเป็นผู้นำและผู้ประสานระหว่างนานาชาติเพื่อตอบสนองวิกฤตการณ์ครั้งนี้” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 7 ซึ่งประกอบด้วย มัลคอล์ม ริฟไคนด์, มาร์กาเร็ต เบคเค็ตต์, วิลเลียม เฮก, เจเรมี ฮันต์, เดวิด มิลลิแบนด์, เดวิด โอเวน และ แจ็ค สตรอว์ ระบุในจดหมายเปิดผนึกซึ่งเผยแพร่วันนี้ (1)

พวกเขาเรียกร้องให้นายกฯ จอห์นสัน เสนอไปยังกลุ่ม G7 ให้ “จัดตั้งกลุ่มติดต่อระหว่างประเทศ (International Contact Group) อย่างเป็นทางการ เพื่อคอยติดตามสถานการณ์ในฮ่องกงและกำหนดมาตรการตอบสนองร่วมกัน” โดยอาจใช้โมเดลเดียวกับคณะทำงานที่สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และรัสเซีย เคยก่อตั้งขึ้นเพื่อรับมือวิกฤตการณ์บอลข่านเมื่อต้นทศวรรษ 1990

จีนออกมาปฏิเสธเสียงวิจารณ์ของต่างชาติกรณีฮ่องกง โดยระบุว่าอนาคตของเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ถือเป็นกิจการภายในของจีนโดยแท้

อย่างไรก็ดี กลุ่มอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษชี้ว่า จีนกำลังละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับอังกฤษเมื่อปี 1984 ซึ่งตอนนั้นปักกิ่งรับรองว่าจะให้เสรีภาพและอำนาจปกครองตนเองขั้นสูงแก่ฮ่องกงเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 50 ปี ภายหลังรับมอบเกาะแห่งนี้คืนจากลอนดอน

จนถึงขณะนี้กลุ่ม G7 ยังไม่มีมติเอกฉันท์ว่าจะดำเนินการตอบโต้จีนอย่างไร

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ขู่จะเล่นงานปักกิ่งด้วยการเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของฮ่องกง และจะห้ามนักศึกษาจีนบางคนที่ถูกระบุว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงเข้าไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาด้วย ขณะที่สหภาพยุโรปยังคงตอบสนองอย่างระมัดระวัง โดยเสนอให้ใช้วิธีเจรจากับจีนเพื่อแสดงออกถึงความ “กังวลยิ่งยวด” ต่อแผนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง
กำลังโหลดความคิดเห็น