เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ขู่จะใช้มาตรการคุมเข้มหรืออาจถึงขั้นสั่งปิดบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หลังโดนทวิตเตอร์แปะข้อความเตือนใต้โพสต์เป็นครั้งแรกว่ากำลังเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ทรัมป์ เตรียมออกคำสั่งบริหารในวันนี้ (28 พ.ค.) ให้ทบทวนกฎหมายซึ่งปกป้องทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก และกูเกิลให้ไม่ต้องรับผิดต่อเนื้อหาที่ผู้ใช้นำมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เปิดเผยเนื้อหาของคำสั่งฉบับร่าง ซึ่ง ทรัมป์ กำหนดให้คณะกรรมาธิการสื่อสารของรัฐบาลกลาง (Federal Communications Commission - FCC) นำเสนอและชี้แจงข้อกำหนดในมาตรา 230 ของกฎหมาย Communications Decency Act ซึ่งคุ้มครองบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ให้พ้นจากการรับผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลที่ผู้ใช้นำมาโพสต์
ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องมากยิ่งขึ้น
ความเคลื่อนไหวของผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคาร (26) ทวิตเตอร์ได้ขึ้นแถบคำเตือน fact-check ใต้ข้อความ 2 ข้อความของเขา ซึ่งมีการอ้างว่าระบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ (mail-in voting) จะนำไปสู่การทุจริตฉ้อโกงผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.
เนื่องจากยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีความพยายามโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น ทวิตเตอร์จึงได้แปะลิงค์ให้ผู้อ่าน “ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลงคะแนนทางไปรษณีย์” ไว้ใต้ทวีตของทรัมป์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทวิตเตอร์ทำเช่นนี้ หลังจากที่โดนวิพากษ์วิจารณ์มานานหลายปีว่าเพิกเฉยกับพฤติกรรมละเมิดกฎเกณฑ์ของ ทรัมป์ ที่มักจะทวีตโจมตีใครต่อใคร หรือไม่ก็แพร่ข้อมูลบิดเบือนไปสู่ผู้ติดตามบัญชีของเขาซึ่งมีมากกว่า 80 ล้านคน
การตักเตือนเบาๆ ของทวิตเตอร์คราวนี้ทำให้ ทรัมป์ หัวเสียอย่างมาก และได้ออกมาโจมตีสื่อโซเชียลแห่งนี้ว่ากำลังปิดกั้นการแสดงความเห็นของฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐอเมริกา
“พวกเราชาวรีพับลิกันมองว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้จงใจปิดกั้นเสียงของฝ่ายอนุรักษนิยม เราจะออกกฎควบคุมที่เข้มงวดหรือไม่ก็สั่งปิดพวกเขาซะ ดีกว่าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” ทรัมป์ ระบุเมื่อวันพุธ (27)
ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวย้ำข้ออ้างเดิมๆ ว่า การลงคะแนนทางไปรษณีย์ที่หลายรัฐนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมคนและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะ “บ่อนทำลายกระบวนการเลือกตั้ง”
“มันจะเปิดโอกาสให้มีการโกง การปลอมแปลง หรือการขโมยบัตรเลือกตั้งได้อย่างเสรี” เขาอ้าง
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟซบุ๊ก ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ผ่านทางฟ็อกซ์นิวส์ โดยระบุว่าบริษัทของเขาซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกมีนโยบายที่แตกต่างไปจากทวิตเตอร์
“ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า เฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชี้ขาดความจริง (arbiter of truth) ทุกอย่างที่มีคนนำมาโพสต์ออนไลน์” ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวในคลิปสัมภาษณ์ที่ฟ็อกซ์นิวส์เผยแพร่เมื่อคืนวานนี้ (27) “ผมมองว่าบริษัทเอกชนทั้งหลาย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะทำเช่นนั้น”
ด้าน แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอทวิตเตอร์ ออกมาทวีตตอบโต้ซีอีโอเฟซบุ๊กทันควัน โดยระบุว่าการเตือนผู้อ่านให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อไม่ได้หมายความว่าทวิตเตอร์คิดจะตั้งตนเป็นผู้ชี้ขาดความจริง
“เจตนาของเราคือการเชื่อมโยงข้อกล่าวอ้างที่ขัดแย้ง และเสนอข้อมูลอีกด้านเพื่อให้ผู้อ่านได้ตัดสินด้วยตนเอง” ดอร์ซีย์ กล่าว
เคต รูอานี จากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ชี้ว่า ทรัมป์ ไม่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของทวิตเตอร์ และย้ำว่ารัฐธรรมนูญอเมริกัน “มีข้อห้ามชัดเจนไม่ให้ประธานาธิบดีกระทำการใดๆ เพื่อยับยั้งไม่ให้ทวิตเตอร์แฉการโกหกคำโตของเขาเกี่ยวกับระบบโหวตทางไปรษณีย์”