เอเจนซีส์ - พนักงานเฟซบุ๊กพากันผละงานและแสดงความไม่พอใจผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ (1 มิ.ย.) กรณี มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟซบุ๊ก ไม่มีมาตรการเซ็นเซอร์โพสต์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เหมือนอย่างที่แพลตฟอร์มคู่แข่งทำ
พนักงานเฟซบุ๊กรวมถึงผู้บริหารระดับสูงบางคนได้โพสต์ข้อความวิจารณ์การตัดสินใจของซักเคอร์เบิร์ก ที่ปล่อยให้ ทรัมป์ โพสต์ข้อความปลุกปั่นตามใจชอบโดยไม่ดำเนินการอะไร ในขณะที่ทวิตเตอร์เลือกที่จะขึ้นแถบคำเตือน
“การตัดสินใจของเฟซบุ๊กที่จะไม่ดำเนินการใดๆ กับข้อความที่ยั่วยุปลุกปั่นความรุนแรง ถือเป็นการละเลยทางเลือกอื่นๆ ที่จะช่วยให้ชุมชนของเราปลอดภัย เราขอวิงวอนให้ผู้บริหารเฟซบุ๊ก #TakeAction” คำแถลงร่วมของกลุ่มพนักงานเฟซบุ๊กที่เผยแพร่ทางทวิตเตอร์ ระบุ
เจสัน สเตอร์แมน ผู้จัดการฝ่ายดีไซน์คนหนึ่งของเฟซบุ๊ก ยอมรับว่าเขาไม่เห็นด้วยที่ ซักเคอร์เบิร์ก “ไม่ทำอะไรเลย” กับโพสต์ของทรัมป์ “ผมไม่ใช่คนเดียวในเฟซบุ๊กนะที่คิดแบบนี้ ถ้าเป็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติมันไม่มีคำว่าจุดยืนตรงกลางหรอก” เขาทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ (30 พ.ค.)
เหตุจลาจลได้ปะทุขึ้นทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จากกรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ หนุ่มผิวสีซึ่งถูกตำรวจจับกุมที่เมืองมินนีอาโพลิสเมื่อวันจันทร์ที่ 25 พ.ค. คลิปวิดีโอเผยให้เห็นว่าตำรวจผิวขาวนายหนึ่งล็อกตัว ฟลอยด์ และใช้เข่ากดที่คอของเขาเป็นเวลาเกือบ 9 นาทีจนกระทั่ง ฟลอยด์ หมดสติและเสียชีวิต
ต่อมาในวันศุกร์ (29) ทวิตเตอร์ ได้ขึ้นแถบคำเตือนใต้ทวีตของ ทรัมป์ ที่ระบุว่า “เมื่อมีการปล้นชิงเกิดขึ้น การยิงก็จะเริ่มขึ้น” โดยบริษัทให้เหตุผลว่าผู้นำสหรัฐฯ กำลังละเมิดกฎของแพลตฟอร์มที่ห้ามเชิดชูความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กกลับไม่เซ็นเซอร์ข้อความเดียวกันนั้น และ ซักเคอร์เบิร์ก ยังออกมาแสดงความเห็นในทำนองไม่ต้องการนำเฟซบุ๊กเข้าไปพัวพันสงครามน้ำลายระหว่าง ทรัมป์ กับทวิตเตอร์
ก่อนหน้านั้น ทวิตเตอร์ได้ขึ้นแถบคำเตือน fact-check ใต้ข้อความ 2 ข้อความของทรัมป์ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ซึ่งมีการอ้างว่าระบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ (mail-in voting) จะนำไปสู่การทุจริตเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทวิตเตอร์ใช้มาตรการนี้กับข้อความของผู้นำสหรัฐฯ
ซักเคอร์เบิร์กได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ผ่านทางฟ็อกซ์นิวส์ โดยระบุว่าบริษัทของเขาซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกมีนโยบายที่แตกต่างไปจากทวิตเตอร์
“ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า เฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชี้ขาดความจริง (arbiter of truth) ทุกอย่างที่มีคนนำมาโพสต์ออนไลน์... ผมมองว่าบริษัทเอกชนทั้งหลาย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะทำเช่นนั้น"
โฆษกเฟซบุ๊กคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น บิสิเนส ว่า “เราเข้าใจดีว่าพนักงานหลายคนคงจะรู้สึกเจ็บปวด โดยเฉพาะชุมชนคนผิวสี เราสนับสนุนให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้างเมื่อพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผู้บริหาร และในขณะที่เรายังต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากในวันข้างหน้า เราจึงต้องการฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมาจากพวกเขา”