Huawei's ambitions unbowed despite US pressure
by Dan Martin, AFP
21/05/2020
บรรยากาศภายในสำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในและรอบๆ เมืองเซินเจิ้น ทางภาคใต้ของจีน ยังคงอุดมไปด้วยชีวิตชีวา และการก่อสร้างการขยายงาน ถ้าหากสหรัฐฯวาดหวังที่จะหยุดยั้งไม่ให้บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่แดนมังกรรายนี้ สามารถก้าวเดินไปตามเส้นทางของตนเองแล้ว สภาพเช่นนั้นก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาหรอก
เครนก่อสร้างหลายๆ ตัว ณ สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย ยุ่งวุ่นวายอยู่กับการขยายพื้นที่ย่านยุโรปจำลอง ซึ่งอันที่จริงก็ใหญ่โตกว้างขวางและเลียนแบบเสมือนของแท้จน วอลต์ ดิสนีย์ ก็น่าจะต้องรู้สึกอิจฉาอยู่แล้ว เช่นเดียวกับงานปรับปรุงย่านใหม่ซึ่งจะใช้เป็น “มหาวิทยาลัย” ภายในของบริษัท เพื่อฝึกอบรมลูกจ้างพนักงานที่มาจากทั่วโลกซึ่งกำลังเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ถ้าหากสหรัฐฯวาดหวังที่จะหยุดยั้งไม่ให้บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนรายนี้สามารถก้าวเดินไปตามเส้นทางของตนเองได้แล้ว มันก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นในตอนนี้หรอก
การที่สหรัฐฯกำลังยกระดับเพิ่มความพยายามในการขัดขวางไม่ให้พวกซัปพลายเออร์ส่งเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นกลางที่มีความสำคัญยิ่งยวดมาให้แก่บริษัท ทำให้ทั้งพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงและบรรดาพนักงานของหัวเว่ยต่างพากันพูดคุยด้วยความสำนึกถึง “วิกฤตการณ์” กันอีกรอบหนึ่ง ภายในอาณาบริเวณอันใหญ่โตมหึมาของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ทั้งในและรอบๆ เมืองเซินเจิ้น นครทางภาคใต้ของจีนที่อยู่ติดๆ กันกับฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่ถูกวอชิงตันพยายามรณรงค์เล่นงานไม่หยุดหย่อนจนนับถึงตอนนี้ก็เป็นระยะเวลา 18 เดือนแล้ว แถมปัจจุบันยังมีเรื่องโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งสร้างผลกระทบกระเทือนหนักหน่วงไปทั่วโลก แต่จำนวนลูกจ้างพนักงานและความมุ่งมาดปรารถนาแบบฝันใหญ่ฝันไกลของบริษัทก็ยังคงเติบโตขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ
แรงบีบคั้นระลอกใหม่สุดของสหรัฐฯ “เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่จะต้องทำให้เกิดความกังวลห่วงใยขึ้นมาบ้าง” ไรอัน หลิว รองผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยหัวเว่ย กล่าว
“แต่ผมนั้นทำงานอยู่ที่หัวเว่ยมาหลายปีแล้ว และเรามีความเชื่อมั่นว่าบริษัทจะนำพาเราก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง”
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแถลงเมื่อวันศุกร์ก่อน (15 พ.ค.) ประกาศใช้กฎระเบียบใหม่ ซึ่งเป็นการยกระดับความพยายามในการบีบคั้นเพื่อทำให้หัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงไม่สามารถที่จะสั่งซื้อหาเซมิคอนดักเตอร์จากทั่วโลก
ในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (18 พ.ค.) หัวเว่ยยอมรับว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้ห่วงโซ่ซัปพลายของโลกเกิดการสะดุดติดขัด และเป็นการคุกคามต่อ “ความอยู่รอด” ของบริษัท
ขณะที่ เคลซีย์ บรอเดอริก นักวิเคราะห์ที่ทำงานอยู่กับบริษัทที่ปรึกษา ยูเรเชีย กรุ๊ป กล่าวสำทับว่า “ถ้ามีการกระทำตามจิตวิญญาณของกฎระเบียบใหม่นี้อย่างจริงจังแล้ว มันก็จะมีผลกระทบต่อหัวเว่ยอย่างหนักหน่วงใหญ่โต”
การที่หัวเว่ยจะหาชิปที่ผลิตขึ้นในจีนเองมาใช้ทดแทนนั้น เป็นเรื่องยากมากๆ เธอกล่าวต่อ
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เสริมว่า เวลานี้บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของแดนมังกรเอง ยังไม่สามารถทำชิประดับ “ท็อปออฟเดอะไลน์” ซึ่งจำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย แต่เท่าที่ผ่านมาหัวเว่ยมีการปรับตัวตอบโต้แรงบีบคั้นของสหรัฐฯได้อย่างฉับไวน่าทึ่ง ดังนั้น แม้จะประสบความยากลำบากแสนสาหัสในช่วงต้น เมื่อถึงระยะกลาง สถานการณ์โดยรวมในเรื่องการพึ่งตนเองเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ของจีนและของหัวเว่ยก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง
หมู่บ้านยุโรป
อีกด้านหนึ่ง ในการดำเนินมาตรการมุ่งเล่นงานหัวเว่ยครั้งก่อนๆ ตลอดประมาณ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เอาเข้าจริงวอชิงตันก็มีการผ่อนปรนบันยะบันยังอยู่บ้างครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุผลสำคัญก็คือ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะบริษัทยักษ์จีนแห่งนี้เท่านั้นที่ลำบากเดือดร้อน พวกผู้ผลิตชิปทั้งที่เป็นบริษัทอเมริกันและบริษัทต่างชาติก็ย่ำแย่เมื่อต้องสูญเสียออร์เดอร์จากลูกค้ารายมหึมาอย่างหัวเว่ยไปอย่างฉับพลัน และดังนั้นพวกเขาจึงพากันคัดค้าน
“ยังคงมีคำถามอยู่ว่า จะมีการใช้กฎระเบียบนี้อย่างเคร่งครัดแค่ไหน ทั้งในแง่ของการนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ และแง่ของการบังคับใช้ไม่ให้มีการล่วงละเมิด” บรอเดอริก บอก
ขณะที่หัวเว่ยเอง ซึ่งมีฐานะอันใหญ่โตโอฬารมากในเซินเจิ้น ยังคงวางแผนจะเดินหน้าดำเนินธุรกิจตามปกติต่อไป
ตั้งแต่ที่วอชิงตันตั้งอกตั้งใจเลือกเอาบริษัทแห่งนี้มาใช้เป็นเป้าหมายตัวแทนสำคัญ ในการต่อสู้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน เมื่อประมาณปลายปี 2018 จำนวนลูกจ้างพนักงานในทั่วโลกของหัวเว่ยได้เพิ่มขึ้นจาก 180,000 คน เป็น 194,000 คนในเวลานี้ พวกเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลายรายบอก
บริษัทยังประกาศว่าธุรกิจทั่วโลกของตนมีอัตราเติบโต 19% ในปี 2019 ทั้งๆ ที่เผชิญแรงบีบคั้นอันหนักหน่วง
กลุ่มอาคาร “หมู่บ้านยุโรป” ซึ่งกำลังได้รับการขยายในขณะนี้ บริษัทวางแผนให้เป็นที่พักอาศัยของลูกจ้างพนักงานจำนวน 25,000 คน บริเวณนี้แผ่เหยียดยาวไปรอบๆ ทะเลสาบแห่งหนึ่ง และเชื่อมต่อกันด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม ซึ่งจอดรับส่งตามสถานีต่างๆ ที่ตั้งชื่อตามเมืองในยุโรป เป็นต้นว่า “ปารีส”, “โบโลญญา”, และ “ไฮเดลเบิร์ก แต่ละแห่งมีพลาซาและสถาปัตยกรรมซึ่งชวนให้นึกถึงเมืองเหล่านั้นด้วย
เขตธีมโซนเช่นนี้ 11 เขตสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกเขตหนึ่ง
เวลาเดียวกัน สำหรับมหาวิทยาลัยหัวเว่ย ในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการโยกย้ายไปอยู่ที่กลุ่มอาคารสไตล์ยุโรปซึ่งใหม่กว่าและใหญ่โตกว่าเดิม
วอชิงตันนั้นให้เหตุผลว่าหวาดกลัวจีนจะใช้ระบบเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั่วโลกของหัวเว่ย เพื่อการจารกรรมหรือการบ่อนทำลายทางไซเบอร์
เป็นที่คาดหมายกันว่า หัวเว่ยจะกลายเป็นผู้นำของโลกในเรื่องเครือข่ายสื่อสารไร้สายยุคต่อไป หรือที่เรียกกันว่า 5จี และวอชิงตันก็พยายามล็อบบี้ประเทศอื่นๆ ให้หลีกเลี่ยงอย่าได้ใช้อุปกรณ์ทั้งหลายของบริษัทแห่งนี้ ด้วยข้ออ้างเรื่องความเสี่ยงทางด้าน “ความมั่นคงแห่งชาติ”
แต่ กั๋ว ผิง ประธานตามวาระหมุนเวียนคนปัจจุบันของหัวเว่ยกล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า สิ่งที่ขับดันสหรัฐฯอยู่ในเวลานี้คือความหวาดกลัวที่จะต้องสูญเสียความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีให้แก่เหล่าบริษัทจีน และพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหัวเว่ยต่างพูดเรื่อยมาว่า ภัยคุกคามจากวอชิงตันมีแต่ทำให้หัวเว่ยแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ในระดับลูกจ้างพนักงานก็สะท้อนความคิดเห็นทำนองเดียวกัน โดยพวกเขาบอกเล่ากับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯที่มุ่งปฏิเสธไม่ให้สมาร์ตโฟนระบบแอนดอรยด์ของหัวเว่ยสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของ กูเกิล ได้นำพาบริษัทจีนของพวกเขาให้เร่งผลิตระบบปฏิบัติการ “ฮาร์โมนีโอเอส” ของหัวเว่ยออกมา โดยมีการเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว
“ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากขึ้นไปอีก
ในทำนองเดียวกัน ความติดขัดชะงักงันในเรื่องซัปพลายเซมิคอนดักเตอร์ น่าจะกลายเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มพูนความพยายามของ “ไฮซิลิคอน” บริษัทในเครือหัวเว่ยที่รับผิดชอบด้านชิป ในการพัฒนาซัปพลายของตนเองขึ้นมา
“ความท้าทายนี้จะสร้างความสำนึกเรื่องวิกฤตการณ์ อย่างรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก แต่คำตอบของเราคือเราจะทำงานต่างๆ ของเราให้ดี และมีความเชื่อมั่นว่างานหนักจะได้รับผลตอบแทนกลับมา” หลิว แห่งมหาวิทยาลัยหัวเว่ย บอก
ทางมหาวิทยาลัยหัวเว่ยนั้นต้องปิดห้องเรียนจริงๆ ทั้ง 40 ห้องของตนไป ภายหลังไวรัสโคโรนาปะทุขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม
แต่หลังจากกลับมาเปิดการเรียนการสอนในคอร์สต่างๆ ทางออนไลน์สำหรับลูกจ้างพนักงานในจีน, แอฟริกา, ยุโรป, และที่อื่นๆ มาพักใหญ่แล้ว หลิวกล่าวว่าชั้นเรียนแบบที่ผู้เรียนผู้สอนเข้ามาพบปะกันจริงๆ ก็ได้กลับเปิดขึ้นมาใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้
คอร์สต่างๆ ที่เปิดมีทั้งพวกวิชาด้านไฮเทค, การบริหารจัดการ, และ “ค่ายฝึกอบรมลูกจ้างพนักงานใหม่” ที่ใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยสิ่งที่สอนที่เรียนกันมีทั้ง วัฒนธรรมบริษัท, การจัดการกับแรงกดดันทางการงาน, และกระทั่ง การบริหารร่างกายแบบเน้นความแข็งกายและรูปร่างสมส่วน (calisthenics) ในตอนเช้า
หลิวเล่าว่า เวลานี้ชั้นเรียนต่างๆ กำลังคึกคักวุ่นวายยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เนื่องจากต้องรับมือกับความต้องการที่ถูกระงับเอาไว้ชั่วคราวเพราะต้องปิดทำการหลบหลีกโควิด-19
เนื้อหาใหม่ๆ ของคอร์สที่เรียนที่สอนกันตอนนี้ มีทั้งการทำความเข้าใจและการรับมือกับความเครียดทางจิตใจจากแรงบีบคั้นของสหรัฐฯ
“โลกเวลานี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และเราจำเป็นที่จะต้องปรับความคิดจิตใจของเราให้รับมือได้” หลิว บอก
จู อันหรัน วัย 36 ปี พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงานในแผนกการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานของหัวเว่ย เล่าว่า เรื่องการกดดันบีบคั้นของสหรัฐฯ เป็นหัวข้อติดปากของเพื่อนพนักงานใหม่ของเขาที่เข้ามารับการฝึกอบรมด้วยกัน
แต่เขาไม่ได้มีความวิตกกังวลอะไรในการเข้าทำงานกับหัวเว่ย
“ในฐานะที่เป็นคนจีนคนหนึ่ง ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากขึ้นไปอีก ที่สามารถเข้าทำงานกับบริษัทอย่างหัวเว่ย”