รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการทดสอบเรียนออนไลน์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พร้อมชมการสาธิตขั้นตอนต่างๆ ในการสอนออนไลน์ เผย กทม. พร้อมการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ 100% ย้ำ ผู้ปกครองนักเรียน หากไม่มีอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนรู้ โรงเรียนจะส่งครูไปดูแลถึงที่บ้าน
วันนี้ (25 พ.ค.) เวลา 13.00 น. นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ เนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิและโรงเรียนบ้านบางกะปิ เขตบางกะปิ โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้บริหารเขตบางกะปิ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินการ
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการจัดการเรียนการสอนระบบออนไลน์ที่โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ และโรงเรียนบ้านบางกะปิ จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนดังกล่าวพบว่า มีความพร้อม 100% สำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ เครื่องมือ และครูผู้สอน สำหรับภาพรวมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน มีความพร้อมประมาณ 70-80% ส่วนที่ยังไม่พร้อมจะเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง บางแห่งมีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือเด็กนักเรียนมีฐานะยากจน เป็นต้น สำนักการศึกษาได้ทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงเตรียมการจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมนักเรียนทุกคน ทั้งกลุ่มที่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์และกลุ่มที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์ โดยผ่านช่องทางการเรียนรู้ 4 ช่องทาง (4 on) คือ 1. Online โดยการสอนสดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งครูสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนได้ โดยใช้ Application ต่างๆ เช่น Microsoft Team, Google Classroom, Zoom, Facebook live เป็นต้น โดยจะมีตารางเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนจัดไว้และแจ้งให้นักเรียนทราบ ส่วนการเรียนนอกตารางเรียนครูจะจัดหาสื่อออนไลน์ เช่น คลิปวิดีโอต่างๆ ตารางสอน DL TV เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนใช้เรียนรู้ด้วยตนเองและสามารถทบทวนบทเรียนได้ตลอดเวลา 2. On air โดยใช้สื่อ DL TV ภายใต้คำแนะนำและการติดตามดูแลของครู 3. On hand โดยการจัดส่งเอกสารต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน เช่น คู่มือการเรียนรู้ด้วยตนเอง หนังสือเรียน ใบงาน แบบฝึกหัด เป็นต้น โดยครูจะจัดทำให้เข้าใจง่าย มีคู่มือแนะนำว่าผู้เรียนและผู้ปดรองต้องทำอะไรบ้าง 4. On site จัดกลุ่มผู้เรียนขนาดเล็กที่โรงเรียน ภายใต้มาตรการที่ ศบค.กทม. กำหนด สำหรับการประเมินผล โดยติดตามผลจากครูเป็นระยะ และโรงเรียนรายงานผลให้สำนักการศึกษาทราบทุกสัปดาห์ทาง Google Form
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป ทุกโรงเรียนจะทดสอบความพร้อมในการเรียน ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่พบจากการทดสอบ เพื่อให้มีความสมบูรณ์และเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด รวมทั้งวางแผนการออกเยี่ยมบ้านในกรณีจำเป็น เช่น เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ เป็นต้น อนึ่ง ในกรณีที่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ในวันที่ 1 ก.ค. 63 ก็จะมีมาตรการดูแลและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้โรงเรียนเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ได้แก่ การจัดชั้นเรียนให้มีระยะห่างทางสังคม การเหลื่อมเวลามาเรียนเพื่อลดความแออัดและจำนวนเด็กนักเรียน การคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน จัดให้มีเครื่องมือป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ face shield เป็นต้น ส่วนกรณีไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ในวันที่ 1 ก.ค. 63 เนื่องจากยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ตามที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ สำหรับการสนับสนุนอุปกรณ์ให้แก่เด็กนักเรียน เช่นกล่องทีวีดิจิทัล หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ เบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้ประสานกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างมอบหมายสำนักการศึกษา และโรงเรียน ทำการสำรวจจำนวนเด็กที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ แต่ยังขาดอุปกรณ์
“ผู้ปกครองนักเรียนไม่ต้องมีความวิตกกังวลใดๆ หากไม่มีอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนรู้ เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมความพร้อมด้านการเรียนการสอนไว้หมดแล้ว ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อนำมาจัดซื้ออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ หากไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางโรงเรียนจะส่งครูไปดูแลถึงที่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ 4 on ของกรุงเทพมหานคร” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้าย