xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘โควิด-19’ ฉุด ศก.ญี่ปุ่นเข้าสู่โหมด ‘ถดถอย’ สหรัฐฯ กีดกันชิป ‘หัวเว่ย’ สกัดเป็นผู้นำ 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็นราวๆ 5 ล้านคน ขณะที่ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่จะคิดค้นตัวยาและวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 มีความคืบหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ ด้านญี่ปุ่นยืนยันเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วในรอบ 4 ปีครึ่ง ส่วนบรรยากาศสงครามการค้ากลับมาร้อนระอุ เมื่อสหรัฐฯ ดึง “ไต้หวัน” เข้ามาเป็นตัวแปรสกัด “หัวเว่ย” ไม่ให้ก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นเจ้าเทคโนโลยี 5G

ข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในเช้าวันที่ 21 พ.ค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉียด 5 ล้านคน เสียชีวิตแล้วมากกว่า 328,000 คน โดยสหรัฐฯ ยังมีผู้ป่วยสะสมสูงสุดที่ 1.55 ล้านคน ส่วนรัสเซียตามมาเป็นที่ 2 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 300,000 คนเศษ

รัฐบาลญี่ปุ่นเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ปีนี้หดตัว 0.9% หลังจากที่เคยติดลบ 1.9% ในไตรมาส 4 ปีกลาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขึ้นภาษีบริโภคเป็น 10% และพายุไต้ฝุ่นที่ซัดกระหน่ำหลายลูก ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดๆ กันนี้ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ของ “ภาวะถดถอย” (recession)

ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2015

มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกปีนี้ลดลง 6% ซึ่งถือว่าย่ำแย่ที่สุดถัดจากไตรมาส 2 ปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ญี่ปุ่นเผชิญภัยพิบัติสึนามิ

“ยอดส่งออกสินค้าไปจีนเริ่มลดลงตั้งแต่เดือน ก.พ. จากนั้นก็การส่งออกไปยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ชะลอตัวลงด้วย” ทาเคชิ มินามิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยโนรินชูคิน ให้สัมภาษณ์ พร้อมระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงยังทำให้การจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการของญี่ปุ่นลดลงตามไปด้วย

ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นก็ถูกพิษโควิด-19 เล่นงานจนสะบักสะบอมเช่นกัน ล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ประกาศจะลดกำลังผลิตยานยนต์ในประเทศลง 122,000 ยูนิต ในเดือน มิ.ย. และคาดการณ์ว่าผลกำไรตลอดทั้งปีอาจลดลงถึง 80%

สถานการณ์โรคระบาดในญี่ปุ่นยังจัดว่ารุนแรงน้อยกว่าประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพียงกว่า 16,300 คน และผู้เสียชีวิต 768 คนตามข้อมูลในวันพฤหัสบดี (21) แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยังวิตกกังวลว่ายอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงโตเกียวซึ่งมีประชากรหนาแน่น

โยชิกิ ชินเกะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยได-อิชิ ไลฟ์ คาดว่า จีดีพีญี่ปุ่นไตรมาสปัจจุบัน (เม.ย.-มิ.ย.) อาจหดตัว 6-7%

อัตราการว่างงานในญี่ปุ่นประจำเดือน มี.ค. พุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีตำแหน่งงานที่เปิดรับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่การเลื่อนมหกรรมกีฬา โตเกียว โอลิมปิก 2020 ก็ทำให้เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยขาดปัจจัยกระตุ้นซึ่งเป็นที่คาดหวังกันมานาน

บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง จำกัด หรือ TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก
ในอีกด้านหนึ่ง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็เริ่มปรากฏสัญญาณร้อนระอุ หลังจากรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศกฎระเบียบใหม่เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่มุ่งกีดกันไม่ให้ซัปพลายเออร์ทั่วโลก ส่งเซมิคอนดักเตอร์แก่ “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน

ระเบียบใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำหนดให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั้งในและนอกประเทศต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายชิปที่ใช้เทคโนโลยีของอเมริกาให้แก่หัวเว่ยได้ ซึ่งถือเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของสหรัฐฯ ในการระงับส่งออกชิ้นส่วนสำคัญให้แก่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของโลกรายนี้

ประกาศของสหรัฐฯ มีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง จำกัด (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ออกมาประกาศแผนตั้งฐานการผลิตขึ้นที่รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินลงทุนถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการหยิบยื่นชัยชนะครั้งใหม่ให้แก่ ทรัมป์ ที่กำลังหาทางกีดกันจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานสินค้าไฮเทคของโลก

ทั้งนี้ การเปิดโรงงานชิปของ TSMC เรียกได้ว่าเป็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติก้อนใหญ่ที่สุดก้อนหนึ่งที่สหรัฐฯ เคยได้รับมา และคาดว่าจะช่วยสร้างงานมากกว่า 1,600 ตำแหน่ง

TSMC เป็นซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนไฮเทคให้แก่บริษัทอเมริกันหลายเจ้า เช่น แอปเปิล อิงก์ และ ควอลคอมม์ อิงก์ รวมไปถึง หัวเว่ย ของจีนด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยอมรับว่า การที่ TSMC เข้ามาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ จะช่วยให้วอชิงตันสามารถใช้กฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตสัญชาติไต้หวันรายนี้จำกัดการขายชิประดับไฮเอนด์ให้แก่หัวเว่ยได้

เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเรื่อยไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และปัจจุบันโรงงานผลิตชิปที่ซับซ้อนและทันสมัยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นสิ่งสหรัฐฯ กังวล

กัว ผิง ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในงานประชุมนักลงทุน Huawei Global Analyst Summit (HAS) ครั้งที่ 17 ที่นครเซินเจิ้น ว่า มาตรการของสหรัฐฯ ที่ห้ามผู้ผลิตชิปส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีอเมริกันให้แก่หัวเว่ย “ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อบริษัท และเตือนว่า การใช้ 2 มาตรฐานและห่วงโซ่การผลิตที่กระจัดกระจายนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย ซ้ำยังทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องจ่ายราคาที่แพงมากขึ้นไปอีกด้วย

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าจีนก็กำลังหาวิธีตอบโต้แก้เผ็ดสหรัฐฯ โดยหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีได้ลงบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่า หากปักกิ่งเล่นงานบริษัทอเมริกันอย่าง ควอลคอมม์ และ แอปเปิล ก็อาจทำให้บริษัทเหล่านี้ลุกขึ้นต่อต้านมาตรการของวอชิงตัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์มหาศาลของตนในตลาดจีน

ขณะเดียวกัน ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาขู่ในสัปดาห์นี้ว่าจะเลิกจ่ายอุดหนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างถาวร และจะทบทวนสมาชิกภาพของสหรัฐฯ ด้วย โดยขีดเส้นตาย 30 วัน ให้ WHO ต้องปรับปรุงการทำงานและเลิกทำตัวเป็น “หุ่นเชิดของจีน”

สหรัฐอเมริกาเป็นชาติผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ WHO โดยจ่ายเงินอุดหนุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 หรือคิดเป็นราวๆ 15% ของเงินทุนทั้งหมดที่องค์กรแห่งนี้ได้รับ

ทรัมป์ อ้างว่า WHO ว่า มีส่วนเผยแพร่ “ข้อมูลเท็จ” จากจีนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และยังจัดการโรคระบาดผิดพลาดมหันต์

เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO ให้สัญญาว่าจะเปิดการสืบสวนอย่างอิสระในเรื่องมาตรการรับมือโควิด-19 ทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันว่า หน่วยงานแห่งนี้มีการเตือนภัยโรคระบาดแต่เนิ่นๆ และตอนที่ WHO ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ก็ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกจีนไม่ถึง 100 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย


สถานการณ์การระบาดในหลายประเทศยังคงเป็นที่น่ากังวล ตัวอย่างเช่น “บราซิล” ซึ่งเวลานี้มียอดผู้ป่วยสะสมพุ่งทะยานกว่า 290,000 คน รั้งอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และรัสเซีย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงกว่า 18,800 คน มากเป็นอันดับ 6 ของโลก ทว่าจนถึงตอนนี้ผู้นำบราซิล ฌาอีร์ โบลโซนารู ยังคงแสดงจุดยืนต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ โดยอ้างว่า โควิด-19 นั้นไม่ต่างอะไรกับ “ไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ” ขณะที่ชาวบราซิลส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์ในประเทศเลวร้ายลงทุกขณะ เนื่องจากรัฐบาลไร้ความสามารถ และผู้คนส่วนหนึ่งยังเพิกเฉยต่อกฎควบคุมโรคระบาด

ด้านสวีเดนซึ่งรัฐบาลเลือกใช้วิธีปล่อยให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างอิสระเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” กลับกลายเป็นชาติที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในยุโรป เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในช่วง 7 วันที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Ourworldinsata.org ระบุว่า สวีเดนมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยต่อวันระหว่าง 12-19 พ.ค. อยู่ที่ 6.25 คนต่อประชากร 1 ล้านคน สูงกว่าสหราชอาณาจักรซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตในช่วงเดียวกันเพียง 5.75 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

อินเดียมีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 100,000 รายในสัปดาห์นี้ กลายเป็นฮอตสปอตของไวรัสแห่งใหม่ในเอเชีย ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มอนุญาตให้เด็กๆ กลับเข้าชั้นเรียนได้ตั้งแต่วันพุธ (20) หลังแนวโน้มที่ไวรัสจะกลับมาแพร่ระบาดซ้ำจากกลุ่มผู้เที่ยวสถานบันเทิงย่านอิแทวอน (Itaewon) ในกรุงโซลไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

โมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) ในสหรัฐฯ ออกมาแถลงผลการทดสอบทางคลินิกของวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีชื่อว่า “mRNA-1273” โดยพบว่าทำให้ร่างกายของอาสาสมัครผลิตสารภูมิต้านทาน หรือ “แอนติบอดี” ที่สามารถกำจัดไวรัสในผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ขณะที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ยืนยันว่า ระดับของแอนติบอดีนั้นมากพอๆ กับในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

วัคซีนของโมเดอร์นาเป็นหนึ่งในวัคซีนกว่า 100 ชนิดที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนา เพื่อช่วยปกป้องประชากรมนุษย์จากมหันตภัยโควิด-19

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จีนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งกำลังพัฒนายาตัวหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าอาจจะสามารถหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องรอวัคซีน

ซันนี เซี่ย (Sunney Xie) ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมก้าวหน้าเพื่อจีโนมิกส์แห่งปักกิ่ง (Beijing Advanced Innovation Center for Genomics) เปิดเผยว่า ตัวยาซึ่งผลิตจากแอนติบอดีชนิดที่เรียกว่า “neutralising antibody” ไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ฟื้นตัวเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันในระยะสั้นอีกด้วย ซึ่งจากการทดลองในสัตว์พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

เซี่ย คาดว่า ตัวยาดังกล่าวจะพร้อมใช้งานภายในปีนี้ และทันก่อนถึงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสอาจกลับมาระบาดซ้ำ

จีนมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อยู่ในขั้นทดลองกับมนุษย์ทั้งหมด 5 ตัว ขณะที่องค์การอนามัยโลกยังคงย้ำเตือนว่าการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและได้ผลจริงน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 12-18 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น