รอยเตอร์ – เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาหนักสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภค
จีดีพีไตรมาส 1 ของญี่ปุ่นในปี 2563 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบวงกว้างจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 โดยมูลค่าการส่งออกดิ่งแรงสุดนับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหว-สึนามิเมื่อปี 2011 สืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทั่วโลกนำมาใช้กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้า
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสปัจจุบันจะยิ่งแย่ลงไปอีก เนื่องจากรัฐบาลขอร้องให้ประชาชนเก็บตัวอยู่บ้าน และให้ภาคธุรกิจต่างๆ ปิดทำการชั่วคราวเพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19
“เกือบจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสปัจจุบันจะแย่ลงไปอีก” ยูอิจิ โคดามะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยยาสุดะ เอ่ยเตือน “ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มรูปแบบแล้ว”
ญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรายงานตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 1 หดตัว 3.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ที่ 4.6%
ก่อนหน้านี้ จีดีพีญี่ปุ่นเคยร่วงดิ่งเหวถึง 7.3% ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดๆ กันถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ของ ‘ภาวะถดถอย’
ครั้งล่าสุดที่ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือในช่วงครึ่งหลังของปี 2015
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอุบัติขึ้นที่จีนเมื่อปลายปีที่แล้วกำลังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากรัฐบาลเกือบทุกประเทศต้องตัดสินใจล็อกดาวน์ปิดเมืองเพื่อคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกับประเทศที่พึ่งพาการค้าอย่างญี่ปุ่น
มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นลดลงถึง 6.0% ในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งถือว่าย่ำแย่ที่สุดถัดจากสถิติในไตรมาส 2 ของปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ญี่ปุ่นเผชิญภัยพิบัติสึนามิ
“ยอดส่งออกสินค้าไปจีนเริ่มลดลงตั้งแต่เดือน ก.พ. จากนั้นก็การส่งออกไปยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ชะลอตัวลงด้วย” ทาเคชิ มินามิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยโนรินชูคินให้สัมภาษณ์ พร้อมระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงยังทำให้การจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการของญี่ปุ่นลดลงตามไปด้วย
ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นก็ถูกพิษโควิด-19 เล่นงานจนสะบักสะบอมเช่นกัน ล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ประกาศจะลดกำลังผลิตรถยนต์ภายในประเทศลง 122,000 ยูนิตในเดือน มิ.ย. และคาดการณ์ว่าผลกำไรตลอดทั้งปีอาจลดลงถึง 80%