xs
xsm
sm
md
lg

‘เฟด’ รับ ศก.มะกันทรุดแรง แต่ไม่ถึงวิกฤตครั้งเศรษฐกิจตกต่ำ ด้านญี่ปุ่นถูก ‘ไวรัส’ ฉุดเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
เอเจนซีส์ - ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยอมรับ เศรษฐกิจอเมริกากำลังเผชิญภาวะขาลงร้ายแรงจากโรคระบาด แต่จะไม่เลวร้ายเหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อทศวรรษ 1930 และจะเริ่มฟื้นตัวปลายปีนี้ ขณะเดียวกันไวรัสโคโรนาก็กำลังผลักญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง โดยที่แนวโน้มสถานการณ์ยังไม่ได้มาถึงช่วงเลวร้ายที่สุดด้วยซ้ำ

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (17 พ.ค.) ว่า เศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่งก่อนที่โควิด-19 จะระบาดและชัตดาวน์ธุรกิจทั่วประเทศ ขณะที่ระบบการธนาคารได้รับการปรับปรุงให้เข้มแข็งขึ้นนับจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2008

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการหยุดยั้งการระบาดคราวนี้ ก็ได้ส่งผลให้มีคนว่างงานกว่า 30 ล้านคน

พาวเวลล์ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 มินิตส์” ของเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอส ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจประจำไตรมาสปัจจุบันจะเลวร้ายมาก โดยอัตราเติบโตอาจทรุดลง 20-30% ได้ง่ายๆ สวนทางกับอัตราว่างงานที่อาจพุ่งทะยานถึงขีดสุดที่ 20-25% แต่จะเป็นภาวะขาลงแค่ช่วงสั้นๆ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวิกฤตภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930

นอกจากนั้น แทนที่จะขึ้นดอกเบี้ยเหมือนในวิกฤตการณ์เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว ซึ่งเป็นบทเรียนที่เห็นกันว่าผิดพลาดหนัก เฟดในเวลานี้จะยังลดดอกเบี้ยอยู่ที่ 0% และเตรียมออกมาตรการใหม่ๆ ในการกระตุ้นการเติบโต

พาวเวลล์สำทับว่า มีโอกาสมากที่เศรษฐกิจจะฟื้นในไตรมาสหน้าและฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติอาจต้องรอถึงปลายปีหน้า และอเมริกาอาจไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่หากยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาซึ่งจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

เฟดเตรียมพร้อมเต็มที่ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบการเงินและโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจ กิจการขนาดใหญ่และเล็ก รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่น และขณะนี้กำลังเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเพิ่มจากที่รัฐสภาอนุมัติไปแล้วเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนพนักงานและธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว พร้อมอธิบายว่า ถ้าปล่อยให้คนตกงานเป็นเวลานานและปล่อยให้ธุรกิจล้มเหลวโดยไม่จำเป็น จะสร้างความเสียหายระยะยาวต่อเศรษฐกิจและการฟื้นตัวอาจใช้เวลานานขึ้น

ทางด้านญี่ปุ่น แถลงในวันจันทร์ (18) ว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง เนื่องจากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกที่หดตัว 0.9% ตามหลังไตรมาส 4 ปีที่แล้วติดลบถึง 1.9% อันเป็นผลจากมาตรการขึ้นภาษีและผลกระทบจากไต้ฝุ่นหลายลูก

ผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น นาโอยะ โอชิคูโบะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของซูมิ ทรัสต์ ทำนายว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบรุนแรงและชัดเจนขึ้นจากวิกฤตโรคระบาดซึ่งได้ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มิหนำซ้ำ ยังมีผลพวงต่อเนื่องจากระดับความรุนแรงของสถานการณ์โรคระบาดในประเทศตะวันตก

แม้สถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่นรุนแรงน้อยกว่าในประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพียงกว่า 16,000 คน และผู้เสียชีวิต 750 คน แต่รัฐบาลกังวลว่า จำนวนผู้ติดเชื้ออาจพุ่งขึ้น โดยเฉพาะในโตเกียวที่มีประชากรหนาแน่น

สัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ส่วนใหญ่ เว้นโตเกียวและเมืองใหญ่บางแห่ง

การบริโภคส่วนบุคคลในญี่ปุ่น เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักมาก เนื่องจากมาตรการกักตัวอยู่บ้านทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดยังทำให้บริษัทต่างๆ ระงับการลงทุน และอัตราว่างงานประจำเดือนมีนาคมทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตำแหน่งงานที่เปิดรับลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี

ทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟุบลง 90% และการเลื่อนมหกรรมกีฬา “โตเกียว โอลิมปิก 2020” ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขาดแรงกระตุ้นสำคัญที่คาดหวังมานาน นอกจากนั้นการส่งออกยังดิ่งลง 6% จากภาวะเศรษฐกิจโลกทรุด

โยชิกิ ชินเกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยได-อิชิ ไลฟ์ คาดว่า จีดีพีญี่ปุ่นไตรมาสปัจจุบันมีสิทธิ์หดตัว 6-7% ส่วนคำถามที่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อไรที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงและวิกฤตโรคระบาดจะยุติ
กำลังโหลดความคิดเห็น