xs
xsm
sm
md
lg

IMF ชี้ดีมานด์ล่มฉุดจีดีพีโลกลบขั้นต่ำ 3% ‘เฟด’ หนุนอัดฉีดอุ้ม ศก.มะกันฝ่าวิกฤตเรื้อรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โลโก้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เอเจนซีส์ - “ไอเอ็มเอฟ” ชี้ดีมานด์ที่ล่มสลายจากวิกฤตไวรัสสนับสนุนการคาดการณ์ว่า จีดีพีโลกปีนี้จะติดลบถึง 3% และอาจถึง 6% ถ้าสถานการณ์เลวร้ายยืดเยื้อ ขณะที่ “เฟด” ก็ระบุมาตรการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 แม้มีต้นทุนสูง แต่ก็จำเป็น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอเมริกาอาจเสียหายร้ายแรงและเรื้อรัง

จิตา โกปินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงในงานประชุมที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อวันพุธ (13 พ.ค.) ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่รวบรวมมาตั้งแต่เดือนเมษายน ยืนยันการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โลกปีนี้จะติดลบถึง 3% และการบริโภคที่ล่มสลายมีแนวโน้มทำให้อาจต้องปรับการคาดการณ์ติดลบมากขึ้น

ทั้งนี้ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟย้ำว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนอย่างมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากวิกฤตโรคระบาดยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น จีดีพีโลกอาจหดตัวถึง 6% ในปีนี้ และ 0% สำหรับอัตราการเติบโตในปีหน้า โดยจะไม่มีประเทศไหนหลีกเลี่ยงผลกระทบได้เลย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ จะมีความเสี่ยงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม โกปินาถ เสริมว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังจากที่ประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทว่า ต้องมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งการติดตามผู้ติดต่อสัมผัสโรค และการกักตัวผู้ป่วยอย่างเหมาะสมด้วย

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ อ้างอิงการฟื้นตัวในจีน ซึ่งแม้ดีมานด์ภายนอกยังซบเซา แต่ดีมานด์ในประเทศกำลังกระเตื้องขึ้น

โกปินาถ สำทับว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก ประเทศต่างๆ ต้องร่วมกันลดความตึงเครียดทางการค้าและลดการบ่อนทำลายกระแสเงินทุนข้ามพรมแดน คำพูดนี้เป็นการพาดพิงถึงความตึงเครียดระหว่างอเมริกากับจีนอย่างชัดเจน

โลโก้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)
เธอยังย้ำความจำเป็นในการจัดหาสภาพคล่องให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรนาอย่างรุนแรง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา มีแนวโน้มต้องการเงินอัดฉีดเกินจำนวน 2.5 ล้านล้าน ที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ก่อนหน้านี้

วันเดียวกัน เจอโรม พาวเวลล์ ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า มาตรการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาวิกฤต แม้มีต้นทุนสูงแต่ก็จำเป็น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเสียหายร้ายแรงขึ้น

ในการปราศรัยทางไกลไปยังที่ประชุมของสถาบันปีเตอร์สัน อินสติติวท์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล อิโคโนมิกส์ คราวนี้ พาวเวลล์เตือนว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเสียหายยาวนาน และจำเป็นต้องออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อรับมือความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งรวมถึงมาตรการใช้จ่ายมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ที่รัฐสภาอนุมัติไปแล้ว

ประธานเฟดสำทับว่า แม้การสนับสนุนทางการคลังเพิ่มเติมอาจต้องใช้เงินอีกมหาศาล แต่ถือว่าคุ้มค่าหากสามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และทำให้อเมริกาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน ชาวอเมริกัน 82,000 คน ต้องสังเวยชีวิตในวิกฤตโรคระบาด และกว่า 21 ล้านคน ตกงาน โดยอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 14.7% ในเดือนเมษายน

พาวเวลล์ เสริมว่า แม้เฟดออกมาตรการหลายชุดเพื่อปล่อยกู้ให้บริษัททุกขนาด อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ผ่อนคลายข้อกำหนดเพื่อให้แบงก์ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น และพร้อมใช้เครื่องมือทั้งหมดจนกว่าวิกฤตจะผ่านพ้นและเศรษฐกิจฟื้น แต่ปัญหาคือ เฟดมีอำนาจในการปล่อยกู้เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่าย ซึ่งเท่ากับเป็นการเรียกร้องให้รัฐสภาหาวิธีปกป้องเศรษฐกิจจากปัญหาระยะยาวที่สืบเนื่องจากการชัตดาวน์อย่างกว้างขวาง

ประธานเฟดชี้ว่า ความอยู่รอดของบริษัทขนาดกลางและเล็ก มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกิจการเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจและการจ้างงาน และคลื่นการล้มละลายอาจสร้างภาระต่อกิจกรรมเศรษฐกิจนานหลายปี

เขายังตั้งข้อสังเกตว่า มีสัญญาณมากขึ้นว่า การฟื้นตัวอาจช้ากว่าที่เคยคาดไว้ แต่เศรษฐกิจอาจฟื้นหลังจากสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว และเพิ่มเติมว่า อัตราว่างงานอาจพุ่งสู่ระดับสูงสุดในเดือนหน้าหรือหลังจากนั้น ก่อนลดลงเมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น