เอเอฟพี – รัฐบาลออสเตรเลียเผยตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย.จากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน เตือนพลเมืองให้เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเลวร้ายยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
คำสั่งปิดเมืองเพื่อยับยั้งโควิด-19 ทำให้ชาวออสเตรเลียตกงานเกือบ 600,000 คนในเดือน เม.ย. ซึ่งถือเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ดิ่งแรงสุดนับตั้งแต่มีการจดบันทึกสถิติเมื่อปี 1978
สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) ระบุวันนี้ (14 พ.ค.) ว่า มีประชาชนยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยากรณีตกงานราว 100,000 คน ขณะที่อีก 500,000 คนได้หายออกไปจากตลาดแรงงานในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
เอบีเอสรายงานตัวเลข underutilization rate ซึ่งรวมอัตราการว่างงาน (unemployment) และการทำงานต่ำระดับหรือใช้ทักษะไม่เต็มที่ (underemployment) พุ่งสูงถึง 19.9% ในเดือน เม.ย. ซึ่งนายกรัฐมนตรี มอร์ริสัน ยอมรับว่าเป็นสถิติที่ “น่าตกใจอย่างยิ่ง”
ประชากร 2.7 ล้านคน หรือราวๆ 1 ใน 5 ของแรงงานทั้งหมดได้ออกจากตลาดแรงงานหรือลดชั่วโมงทำงานลง ซึ่งส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (workforce participation rate) ลดต่ำเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 63.5%
เอบีเอส ระบุว่า เวลานี้มีชาวออสเตรเลียเพียง 12.4 ล้านคนที่ยังคงมีงานทำ
มอร์ริสัน เตือนพลเมืองออสซี่ให้เตรียมตัวเตรียมใจเผชิญข่าวร้ายทางเศรษฐกิจตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยระบุว่า “เป็นวันที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และน่าตกใจอย่างที่สุด แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย”
“เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าจะต้องมีข่าวร้ายออกมาอีก ในขณะที่โรคระบาดสร้างความเสียหายยับเยินต่อออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”
กระทรวงการคลังออสเตรเลียเคยคาดการณ์ไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงถึง 10% ในไตรมาสเดือน มิ.ย.
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมโควิด-19 โดยมีผู้ติดเชื้อยืนยันไม่ถึง 7,000 คน และเสียชีวิตเพียงแค่ 100 คนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 25 ล้านคน ทว่าข้อจำกัดในด้านการเดินทาง การรวมตัวในที่สาธารณะ และการทำธุรกิจค้าปลีกต่างๆ ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึงราวๆ 83,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์
บางพื้นที่ของออสเตรเลียเริ่มผ่อนปรนคำสั่งล็อกดาวน์ โดยจะอนุญาตให้เจ้าของคาเฟ่ ผับ และร้านอาหารเปิดต้อนรับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ได้ตั้งแต่วันศุกร์นี้ (15) เป็นต้นไป