xs
xsm
sm
md
lg

ทรัมป์สั่งกองทุนบำนาญฯถอยห่างหุ้นจีน อาจทำตลาดการเงินโลกแตกเป็นเสี่ยงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อลัน วีทลีย์




(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)


Trump's pension fund ban could split global markets
by Alan Wheatley
17/05/2025


ปฏิกิริยาเกรี้ยวโกรธของรัฐบาลทรัมป์ที่มีต่อความเสียหายมหาศาลซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ได้เขย่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สองประเทศจอมพลังใหญ่สุดของโลก ทั้งนี้ ในท่ามกลางความคลางใจอันดุเดือดว่าจีนปกปิดข้อมูลต้นตอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนขนาดความรุนแรงที่แท้จริงของโรคระบาดนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขยายแนวรบเพื่อการเล่นงานจีนไปถึงระดับที่มีการสั่งบล็อกกองทุนบำเหน็จบำนาญบุคลากรของรัฐบาลกลางมิให้ไปลงทุนในจีน ความเคลื่อนไหวเที่ยวนี้อาจกระตุ้นการแตกหักแยกทางกันเดินครั้งใหญ่ในความสัมพันธ์ของสองอภิมหาอำนาจคู่นี้


โดยการออกคำสั่งให้กองทุนบำเหน็จบำนาญบุคลากรของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกายกเลิกแผนการลงทุนในหลักทรัพย์จีน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปิดแนวรบใหม่เล่นงานจีน ซึ่งเป็นแนวรบอีกรายการหนึ่งในท่ามกลางการเผชิญหน้ากันในหลากหลายประเด็นที่ล้วนแต่มีความเสี่ยงว่าจะทำให้ตลาดทุนของโลกแตกกระจาย


ที่ผ่านมาการปะทะกันระหว่างจีน-สหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นการค้าและเทคโนโลยี ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ (ซึ่งปรารถนาจะระบายภาพว่าทางการปักกิ่งเป็นปีศาจร้าย บนความหวังว่ากลยุทธ์นั้นจะส่งผลมาช่วยเพิ่มโอกาสชนะเลือกตั้งใหม่ให้ตนเอง) ได้ใช้เครื่องมือด้านภาษีนำเข้ามาฟาดฟันจีน พร้อมกับใช้มาตรการลดปริมาณการส่งออกสินค้าอ่อนไหว และมาตรการห้ามบริษัทธุรกิจของสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับ‘หัวเว่ย’ ค่ายโทรคมนาคมเคลื่อนที่ 5จีชั้นนำของจีน


ยิ่งกว่านั้น ทางการวอชิงตันยังทำให้บริษัทธุรกิจค่ายต่างๆ ของจีนที่ต้องการหยั่งรากลงในแผ่นดินสหรัฐฯ ต้องดำเนินการด้วยความยากลำบากสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปรากฏผลออกมาว่าในไตรมาสแรกของปี 2020 มูลค่าการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ดิ่งลงเหลือแค่ 200 ล้านดอลลาร์ จากช่วงเดียวกันของปี 2019 ณ 2,000 ล้านดอลลาร์


นี่คือการแตกคู่แตกคอกันระหว่างระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก กระทั่งในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตไวรัสโคโรน่าแพร่ระบาดทั่วโลกนั้น โลกาภิวัตน์ได้เปิดทางให้แก่การแตกหักแยกทางในเศรษฐกิจโลกออกเป็นสองค่ายใหญ่ ได้แก่ ค่ายที่นำโดยสหรัฐฯ และค่ายที่นำโดยจีน


ขณะนี้ ทรัมป์ยิ่งเร่งโหมกระพือกระบวนการแตกหัก โดยขยายแคมเปญต่อต้านจีนเข้าไปในตลาดทุน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างการคว่ำบาตรและการห้ามการส่งออกนำเข้าสินค้าจีน ทำเนียบขาวมีหนังสือไปยังคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญบุคลากรของรัฐบาลกลางอเมริกัน คือ Federal Retirement Thrift Investment Board แจ้งให้ยกเลิกแผนถอนการลงทุนในหุ้นของบรรดาบริษัทจีนที่อยู่ในดัชนี MSCI Index (ทั้งนี้ บำเหน็จบำนาญดังกล่าวมาจากสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาว และเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นต้น)


ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องนี้จะกระทบเม็ดเงินลงทุนที่อาจเข้าสู่จีนเพียงประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ แรงกดดันดังกล่าวจึงดูเผินๆ ว่ามีนัยสำคัญในระดับจำกัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการแบนได้ส่งสัญญาณว่ามันจะเป็นอะไรที่ใหญ่โตกว่านั้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงในมุมที่ว่าทรัมป์กล่าวโทษจีนอย่างโจ่งแจ้งว่ามีการปกปิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ความร้ายแรงที่น่าจะติดตามมาก็คือ ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เสียงเรียกร้องจากฝ่ายรัฐบาลและฝั่งรัฐสภาในอันที่จะลงโทษฟากฝั่งปักกิ่งก็จะทะยานอย่างทวีคูณ

ก่อนพายุกระหน่ำ: รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ  แห่งประเทศจีน และประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก ภาพเหตุการณ์ ณ ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2020 หลังจากวันนั้น สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในสหรัฐฯ ทวีความรุนแรง และมีคนอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 87,000 ราย

การคว่ำบาตรอาจเกิดขึ้นเพื่อลงโทษ‘การปกปิด’ข้อมูลโควิด-19


โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ร่วมกับ แลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ ออกหนังสือคัดค้านการนำเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญบุคลากรของรัฐบาลกลางไปลงทุนในบริษัทจีน โดยชี้ว่าแผนการลงทุนดังกล่าวออกมาในช่วงที่ “มีความเป็นไปได้ว่าการคว่ำบาตรต่างๆ ในอนาคต จะเกิดขึ้น โดยสืบเนื่องมาจากการกระทำอันน่าตำหนิของรัฐบาลจีน” ในเรื่องการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19


หนังสือฉบับนี้เตือนว่าการเข้าลงทุนในหลักทรัพย์จีนสร้างความวิตกถึงความมั่นคงของชาติ เพราะบริษัทจีนประกอบธุรกิจที่ละเมิดกฎหมายแซงค์ชั่น ทั้งนี้ ความเป็นมาของเรื่องนี้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2017 เมื่อคณะกรรมการกองทุนได้เลือกใช้ดัชนีเพื่อการลงทุนตัวใหม่ คือ MSCI Index ซึ่งในดัชนีอ้างอิงตัวนี้มีหลักทรัพย์ของจีนรวมอยู่ด้วย ต่อมาในปี 2019 คณะกรรมการกองทุนได้ประเมินแผนดังกล่าว เนื่องจากมีการคัดค้านจากกลุ่มวุฒิสมาชิกแสดงความกังวลว่าบริษัทจีนที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมถึงบริษัทที่ทำธุรกิจสนับสนุนรัฐบาลจีนซึ่งดำเนินกิจกรรมการทหารที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนการจารกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนมีมติเดินหน้าแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ใน MSIC Index โดยจะเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้


ในเวลาเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวในสภาคองเกรสเพื่อกดดันจีนเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยวุฒิสมาชิกลินด์ซีย์ แกรม แห่งพรรครีพับลิกัน พันธมิตรผู้แนบแน่นกับทรัมป์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ “ความรับผิดชอบต่อไวรัสโควิด-19” ที่มุ่งคว่ำบาตรจีน


การคว่ำบาตรที่ระบุอยู่ในหนังสือฉบับดังกล่าวจะอยู่ในด้านการเงินและด้านการทูต ทั้งนี้ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วุฒิสมาชิกลินด์ซีย์ แกรม แห่งพรรครีพับลิกัน พันธมิตรผู้แนบแน่นกับทรัมป์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ “ความรับผิดชอบต่อไวรัสโควิด-19” ซึ่งมีเนื้อหา ที่จะปรับลดเงินกู้ที่สถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯ จะอนุมัติแก่ธุรกิจของจีน อีกทั้งจะห้ามบริษัทจีนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ หากจีนไม่ยินยอมให้มีคณะผู้ตรวจสอบนานาชาติเข้าไปค้นหาสาเหตุของวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้


แรงผลักดันที่จะตัดบริษัทจีนออกจากวอลล์สตรีทซึ่งนับวันแต่จะทวีความรุนแรง ยังสืบเนื่องจากอีกหนึ่งปัจจัย ได้แก่ ข่าวลืออื้อฉาวด้านการรายงานสถานภาพทางบัญชีของบริษัทลักกิ้น คอฟฟี่ (Luckin Coffee) ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค โดยบริษัทออกมายอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่า ส่วนใหญ่ของรายรับในปี 2019 ของบริษัทถูกปลอมแปลงขึ้นมา ในการนี้ บริษัทจีนรายนี้มีมูลค่าที่ 12,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนถูกเทกระหน่ำขายทิ้งจนราคาหุ้นดิ่งพสุธา


วุฒิสมาชิกมาร์โก้ รูบิโอ้ ซึ่งได้เสนอร่างกฎหมายเมื่อหนึ่งปีที่แล้วที่จะบังคับให้บริษัทจีนทั้งหลายปฏิบัติตามกฎการตรวจสอบบัญชีของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตลอดจนระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ได้กล่าวถึงการฉ้อโกงในกรณีบริษัทลัคกิ้นว่า “เป็นเสียงปลุกให้ฝ่ายกำหนดนโยบายและฝ่ายผู้คุมกฎตระหนักว่าจังหวะเวลาเพื่อการลงมือปฏิบัติคือ ณ บัดนี้”


รูบิโอ้กล่าวว่าฝ่ายผู้คุมกฎในสหรัฐฯ ไม่เคยเลยที่จะสามารถตรวจสอบเอกสารบัญชีของบริษัทจีน ซึ่งเป็นอะไรที่ทางการปักกิ่งถือว่าละเมิดอธิปไตยของประเทศจีน


“หากบริษัทจีนต้องการเข้าถึงตลาดทุนของสหรัฐฯ พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่สหรัฐฯ ใช้ความโปร่งใสและความรับผิดชอบทางการเงิน” รูบิโอ้กล่าว


ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ของสหรัฐฯ และคณะกรรมการดูแลการบัญชีของบริษัทมหาชน หรือ PCAOB ได้ออกคำเตือนไปยังนักลงทุนเมื่อปีที่แล้วว่า ได้ประสบความยากลำบากในการตรวจสอบเอกสารการสอบบัญชีและแนวปฏิบัติของบริษัทผู้สอบบัญชีในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ จำนวน 224 บริษัทซึ่งมีมูลค่าการตลาดรวมกันถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ กฎหมายของจีนกำหนดให้สมุดบัญชีธุรกิจและบันทึกต่างๆ จะต้องเก็บรักษาไว้ในแผ่นดินประเทศจีน นอกจากนั้น กฎหมายของจีนมีข้อบังคับว่าเอกสารการตรวจสอบบัญชีที่จัดทำขึ้นในจีนนั้น ห้ามโยกย้ายออกนอกประเทศ


ภายในกระแสกดดันต่างๆ ที่สหรัฐฯ เล่นงานจีน มุขล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ห้ามกองทุนบำเหน็จบำนาญฯ ลงทุนในหลักทรัพย์จีนตามดัชนี MSCI Index นี้ จีนอาจใช้ท่าทีเมินเฉย เป็นแท็กติกตอบโต้คำเตือนของฝั่งวอชิงตัน โดยถือเป็นแค่เสียงนกเสียงกาที่เจื้อยแจ้วเพื่อผลประโยชน์ในปีเลือกตั้ง แต่เรื่องอย่างนี้มิอาจชะล่าใจ ในอดีตนั้น สหรัฐฯ เคยลงโทษบริษัทต่างชาติหลายต่อหลายรายที่ประพฤติชั่วเอาเปรียบนักลงทุน เช่น ในปี 2018 สหรัฐฯ ทำการคว่ำบาตรบริษัทรูซาล จอมยักษ์ผู้ผลิตอลูมิเนียมแห่งรัสเซียและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยในเวลานั้น นายใหญ่ของรูซาลคือโอเลก เดริพาสก้า อภิมหาเศรษฐีรัสเซียนซึ่งเป็นคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 หลังการคว่ำบาตร เม็ดเงินลงทุนที่สหรัฐฯ มีอยู่กับหุ้นรูซาลก็ต้องโยกย้ายออกจากหุ้นตัวนี้


ส่วนสำหรับคำขู่ดุเถื่อนจากทำเนียบขาวที่จะลงโทษจีนครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการยกเลิกพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่จีนเข้ามาลงทุนไว้ ซึ่งก็คือการขู่จะเบี้ยวหนี้ภาครัฐ นั้น แม้ทำเนียบขาวบอกแล้วว่าจะไม่ใช้มาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าฝั่งปักกิ่งกำลังเผชิญกับภัยคุกคามตัวจริงเสียงจริงภายในแนวรบด้านตลาดทุนโดยตรง


เป้าหมายถัดไปจะเป็นกลุ่มตราสารหนี้หรืออย่างไร


คำถามที่ตลาดการเงินติดตามอยู่ในขณะนี้คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญอื่นๆ จะต้องตกอยู่ใต้แรงกดดันทางการเมืองให้ต้องเดินตามการนำของทำเนียบขาวหรือไม่ ในเมื่อตลาดหุ้นตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลไปแล้ว ตลาดตราสารหนี้จะเป็นเป้าหมายรายการถัดไปหรือไม่ เหนืออื่นใด ขณะนี้ ตราสารหนี้ของจีนได้เป็นส่วนหนึ่งในตลาดตราสารหนี้เจ้าใหญ่ๆ ของโลกแล้ว และหากรัฐบาลอเมริกันจะฟาดแส้ใส่จีนด้วยการคว่ำบาตรตราสารหนี้ของบริษัทจีน บรรดาผู้จัดการกองทุนอเมริกันจะรู้สึกว่าพวกตนถูกบังคับในเชิงกฎหมายให้ต้องเทขายไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่


ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในด้านที่ยากจะคาดเดาว่าจะปุบปับพลิกท่าทีหรือเปลี่ยนจุดยืนในวันไหนเวลาใด อาจลุกขึ้นมาประกาศว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด พร้อมกับสั่งยกเลิกปฏิบัติการทั้งปวงของบรรดาสมุนเขี้ยวขาว กระนั้นก็ตาม เซอร์ไพรสแบบนี้เป็นอะไรที่ไม่ควรคาดหวัง เพราะไม่ว่าจะการรณรงค์กล่าวโทษจีนเป็นตัวการสร้างโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ไปทั่วโลก หรือการที่รัฐบาลทรัมป์รับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19ได้อย่างผิดพลาดร้ายแรง ล้วนจะเป็นประเด็นสำคัญยิ่งยวดในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หากเกิดสิ่งใดขึ้นมา ทรัมป์ก็ดูว่าจะพร้อมโหมกระพือประเด็นความตึงเครียดกับจีน หลังจากที่ได้ประกาศคำขู่อย่างแผ่วๆ ที่จะหักสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกัน


ในส่วนของจีน ได้มีการประณามร่างพระราชบัญญัติ“ความรับผิดชอบต่อไวรัสโควิด-19” ซึ่งวุฒิสมาชิกแกรม เสนอต่อรัฐสภาเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมว่าเป็นสิ่งที่ขาดไร้ศีลธรรม


ทางการปักกิ่งได้ดำเนินการต่างๆ มากมายในช่วงสองปีที่ผ่านมาในอันที่จะดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ของจีน ในการนี้ การบีบให้บริษัทจีนต้องถูกถอดจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ จะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนระหว่างประเทศ – แม้ว่าฮ่องกงจะได้รับส้มหล่นมหาศาลในเรื่องนี้ก็ตาม


การแตกหักแบ่งแยกภายในระบบที่สหรัฐฯเป็นศูนย์กลาง


หากตลาดทุนโลกถึงแก่กาลแตกหักเป็นหลายค่ายที่งัดข้อกัน เม็ดเงินจะไม่ถูกกระจายออกไปอย่างมีประสิทธิผลได้อย่างที่ควรจะเป็น แทนที่เม็ดเงินจะพุ่งไปยังจุดต่างๆ ของโลกที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนดีที่สุด นักลงทุนจะต้องคอยระวังปัญหาภายใน และต้องมุ่งเล่นได้เฉพาะในค่ายใดค่ายหนึ่ง โดยจะเป็นค่ายที่สหรัฐฯ ทรงอิทธิพล หรือค่ายที่ข่ายอำนาจของจีน


น่าจะแน่นอนว่าจีนจะถือว่าคำขู่เที่ยวล่าสุดจากวอชิงตันเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะกำหราบจีนให้แบนราบติดดิน และการตอบโต้เชิงนโยบายของจีนที่น่าจะเกิดขึ้นนั้นก็เห็นได้ชัดว่า จีนจะทวีความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าในอันที่จะแหวกตัวเป็นอิสระออกจากระบบการเงินโลกที่สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง


นัยสำคัญในกระแสนี้ครอบคลุมถึงภารกิจการสถาปนาความเป็นเสาหลักของโลกในบริการทางการเงินระหว่างประเทศหลายหลากประการที่จีนเร่งจัดทำอยู่ อาทิ


- พยายามผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่นานาชาติใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อที่จะก้าวออกจากอิทธิพลแห่งความเป็นเจ้าโลกของเงินดอลลาร์


- เร่งการสร้างความนิยมใช้ระบบการโอนเงิน-ชำระเงินอินเตอร์แบงก์ข้ามพรมแดนที่จีนจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2015 ในชื่อว่า Cross-Border Inter-Bank Payments System หรือ CIPS และได้กลายเป็นทางเลือกเคียงข้างกับระบบ SWIFT ของสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพิงการใช้บริการในเครือข่ายของ SWIFT อันเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ นำมาใช้กดดันจีนได้อย่างมหาศาล


- เร่งการเริ่มใช้เงินหยวนดิจิทัล (เงินหยวนดิจิทัล หรือ Digital Currency Electronic Payment - DCEP เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนสร้างขึ้นในปี 2017 โดยใช้งานผ่านแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินต่างๆ อย่างอาลีเพย์ วีแชตเพย์ เงินหยวนดิจิทัลถูกผูกกับสกุลเงินหยวนกระดาษในสัดส่วน 1:1 ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมไปจนถึงปลายปีหรือกว่านั้น จะมีการทดสอบใช้หยวนดิจิทัลในหลายเมืองใหญ่ เช่น เซินเจิ้น เฉิงตู ซูโจว)


- ขยายความนิยมใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของจีน ตลอดจนแอพเพื่อการโอนเงิน ให้เฟื่องฟูในระดับโลก


ใครเลยจะออกมาทำนายว่าจีนจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งเมื่อถึงวันที่จีนทำได้ ในวันนั้นจีนอาจจะเหลียวหน้าแลหลังมองยุคสมัยที่ถูกจดจำในฐานะของยุคแห่งโรคระบาดครั้งใหญ่ลามไปทั่วโลก และรู้สึกขอบคุณกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ ในเรื่องกองทุนเงินบำเหน็จบำนาญฯ ที่มุ่งหมายจะคว่ำจีนให้เดี้ยงออกไปจากตลาดทุนโลก แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นตรงกันข้าม โดยกลายเป็นการเร่งให้จีนต้องรีบบรรลุยุทธศาสตร์ของประเทศจนสำเร็จก่อนกำหนดการ


อลัน วีทลีย์ เป็นนักข่าวอังกฤษทำงานกับรอยเตอร์นานกว่า 30 ปี โดยมีผลงานด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ เขาเคยทำงานในสำนักข่าวรอยเตอร์ประจำกรุงปักกิ่ง กรุงวอชิงตัน มหานครนิวยอร์ก และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น