รอยเตอร์ - โรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก( WTO) จะลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม เร็วกว่าแผนที่วางเอาไว้ 1 ปี จากการประกาศของเจ้าตัวในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ความเคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดใจ ในขณะที่องค์การด้านการค้าแห่งนี้ กำลังดิ้นรนยับยั้งความตึงเครียดด้านการค้าและประสานความร่วมมือในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
อดีตทูตบราซิลวัย 62 ปี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกมานับตั้งแต่ปี 2013 และวาระการดำรงตำแหน่งสมัย 2 ของเขามีกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2021
อาเซเวโด ระบุว่า เขาตัดสินใจลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว หลังพูดคุยกับครอบครัว และความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพหรือความทะเยอทะยานทางการเมืองใดๆ
ในถ้อยแถลงที่ปราศรัยกับบรรดาสมาชิกขององค์การการค้าโลก ทาง อาเซเวโด เชื่อว่า การลาออกของเขาเป็นการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรเช่นกัน “ในขณะที่บรรดาสมาชิกเริ่มวางโครงร่างวาระของ WTO สำหรับความเป็นจริงต่างๆ ในยุคหลังโควิด-19 พวกเขาก็ควรทำพร้อมกับผู้อำนวยการคนใหม่” เขากล่าวระหว่างประชุมทางไกลกับสมาชิกในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.)
การลาออกของอาเซเวโด มีขึ้นในขณะที่องค์กรที่ก่อตั้งมานานกว่า 25 ปีแห่งนี้ กำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งบททดสอบ ซึ่งพบเห็นบทบาทในฐานะผู้คลี่คลายข้อพิพาททางการค้าของพวกเขากำลังถูกกัดเซาะ
องค์กรแห่งนี้ต้องตกอยู่ในภาวะเป็นอัมพาตในเดือนธันวาคม หลังสหรัฐฯขัดขวางการแต่งตั้งคณะผู้พิพากษา ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ WTO ในฐานะผู้ควบคุมกฎเกณฑ์การค้าโลกและแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การการค้าโลก หากองค์กรแห่งนี้ไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน โดยย้ำว่า สหรัฐฯต้องการได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นในเวทีการค้าโลก
ทั้งนี้ การลาออกของ อาเซเวโด ยังเกิดขึ้นในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยนับตั้งแต่โลกถูกวิกฤตโควิด-19 เล่นงาน อาเซเวโด ได้ร้องขอให้รัฐบาลชาติต่างๆ ยับยั้งชั่งใจต่อการกำหนดข้อจำกัดด้านการส่งออกอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์
อาเซเวโด บอกว่า องค์การการค้าโลกไม่อาจยืนอยู่เฉยๆ ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไป หรือเพิกเฉยต่อ “ความปกติรูปแบบใหม่” ซึ่งปรากฏขึ้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สมาชิกบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป กำลังผลักดันปฏิรูปรากฐานเพิ่มเติม โดยบอกว่ากฎระเบียบการค้าโลกจำเป็นต้องสะท้อนกับความเป็นจริงใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จีนเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก และจำเป็นต้องจัดการปัญหาต่างๆ อย่างเช่น การอุดหนุนโดยภาครัฐและบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี