เอเจนซีส์ - องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนไวรัสโคโรนาอาจไม่หายไปจากโลก แนะเรียนรู้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคนี้แบบเดียวกับเชื้อเอชไอวี สำหรับยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกขณะนี้จ่อหลัก 300,000 คน ด้านบราซิลมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งแซงหน้าฝรั่งเศสขึ้นอันดับ 6 หลังพบเคสใหม่วันเดียวเกินหมื่น ส่วนญี่ปุ่นแม้ถูกทักท้วง ก็ยังเดินหน้าประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินใน 39 จังหวัด
ถึงแม้วัคซีนเป็นความหวังที่อาจช่วยให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์และเดินหน้ากู้เศรษฐกิจที่พังทลาย ทว่า ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินของฮู กล่าวเตือนระหว่างการแถลงข่าวในวันพุธ (13 พ.ค.) ว่า “เรากำลังเจอกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เข้าสู่ประชากรมนุษย์เป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้น มันจึงยากมากๆ ที่จะคาดเดาว่า เมื่อไรที่เราจะมีชัยชนะเหนือมัน” เขากล่าว “บางทีไวรัสอาจกลายเป็นอีกหนึ่งไวรัสระดับท้องถิ่นในชุมชนของเรา และไวรัสนี้อาจไม่มีวันหายไป เอชไอวีก็ไม่เคยหายไป แต่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับมัน”
คำพูดของผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ สวนทางกับความคิดเห็นของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับแนวทางรับมือกับการแพร่ระบาด โดยทรัมป์บอกก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะหายไปเองในที่สุด แม้โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันก็ตาม
จากการที่แนวโน้มของโรคนี้จะอยู่อีกยาว ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องหาทางรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมการระบาดกับการเดินเครื่องระบบเศรษฐกิจ
ที่อเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนากว่า 1,800 คน เมื่อวันพุธ (13) รวมเป็น 84,059 คน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามผลักดันการฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ซึ่งบ่อยครั้งขัดกับคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้นว่า นายแพทย์ แอนโธนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านโรคติดต่อและหนึ่งในทีมเฉพาะกิจรับมือไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาว
ความตึงเครียดระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจได้รับการตอกย้ำจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเกิดคลื่นการล้มละลายที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียเปิดเผยว่า ประชาชนเกือบ 600,000 คน ตกงานระหว่างบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นสถิติเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 40 ปี
ทางด้าน ลอยด์ ออฟ ลอนดอน คาดว่า โรคระบาดจะทำให้เกิดผลกระทบมูลค่า 203,000 ล้านดอลลาร์ ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
ที่ยุโรป ประเทศต่างๆ ทยอยเปิดเมือง และสหภาพยุโรป กำลังผลักดันแผนฟื้นการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน เพื่อรักษาการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง โดยจะมีการยกเลิกการควบคุมการข้ามแดนในที่สุดควบคู่กับมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ เนื่องจากยังกังวลกับแนวโน้มการระบาดรอบสอง
วันพุธ ชายหาดบางแห่งในฝรั่งเศสเปิดให้ประชาชนไปว่ายน้ำและตกปลาอีกครั้ง ขณะที่คนอังกฤษได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านอย่างอิสระมากขึ้น
สำหรับเอเชีย ในวันพฤหัสบดี (14) นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินใน 39 จังหวัด จาก 47 จังหวัด ยกเว้นโตเกียวและเมืองใหญ่อื่นๆ ถึงแม้มีเสียงทักท้วงว่าการที่โรคระบาดในญี่ปุ่นทำท่าดีขึ้น และไม่ได้สาหัสเหมือนชาติพัฒนาแล้วรายอื่นๆ นั้น ปัจจัยสำคัญเนื่องมาจากญี่ปุ่นมีการตรวจหาเชื้อในหมู่ประชาชนกันน้อยมาก ดังนั้น จึงน่าห่วงว่าจะเกิดการระบาดรอบสองและรอบต่อๆ ไปอีก
ในส่วนของละตินอเมริกา ไวรัสโคโรนายังอาละวาดอย่างหนัก กรุงซานติเอโกของชิลี พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 60% กระทั่งเจ้าหน้าที่ตัดสินใจบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์
ที่อาร์เจนตินา ทางการกำลังจับตาสถานการณ์การระบาดในกรุงบัวโนสไอเรสอย่างใกล้ชิด หลังพบหนึ่งในย่านที่อยู่อาศัยที่ยากจน และมีประชากรหนาแน่นที่สุดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
สำหรับบราซิลซึ่งเป็นชาติในภูมิภาคนี้ที่เจอโรคระบาดโควิด-19 ร้ายแรงที่สุดอยู่แล้ว ตอนนี้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดอันดับ 6 ของโลก แซงหน้าฝรั่งเศส หลังพบเคสใหม่ในวันพุธถึง 11,385 คน รวมยอดสะสมเป็น 188,975 คน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันและที่สงสัยของฝรั่งเศสถูกปรับลดลง 0.3% อยู่ที่ 177,000 คน
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตในบราซิลเพิ่มขึ้น 749 คน เป็น 13,149 คน
รัฐมนตรีเศรษฐกิจบราซิลยังคาดว่า เศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว 4.7% รุนแรงที่สุดในรอบกว่าศตวรรษ และสำทับว่า ทุกสัปดาห์ที่บังคับใช้มาตรการกักกันโรค เศรษฐกิจมีการสูญเสียถึง 3,400 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี มีข่าวดีเกิดขึ้นในมอริเชียสที่ไม่มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมทั้งไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ติดต่อกันเป็นวันที่ 17