xs
xsm
sm
md
lg

ทรัมป์เตรียมยุบทีมเฉพาะกิจไวรัสโคโรนา ลุยรีสตาร์ทเศรษฐกิจ แม้รู้เสี่ยงทำคนตายมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เดินชมโรงงานของบริษัทฮันนีเวลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งถูกดัดแปลงมาผลิตอุปกรณ์เครื่องป้องกันส่วนบุคคลสำหรับบุคลาการแพทย์ที่อยู่ในภาวะขาดแคลนเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19  ณ เมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา เมื่อวันอังคาร (5 พ.ค.)  ทั้งนี้ทรัมป์สวมแต่หน้ากากป้องกันตา แต่ไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย ถึงแม้คนงานในโรงงานนี้ต่างก็สวม รวมทั้งมีป้ายติดไว้ชัดเจนว่า “ระวัง ต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าพื้นที่นี้  ขอบคุณ!”
เอเจนซีส์ - ‘ทรัมป์’ ยืนยันเตรียมยุบทีมเฉพาะกิจไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาว และมุ่งหน้ารีสตาร์ทเศรษฐกิจ แม้ยอมรับว่า การยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อาจทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตมากขึ้นก็ตาม ขณะที่อีกด้านหนึ่งอดีตผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิดร้องเรียน ถูกปลดเพราะเตือนภัยให้เร่งรับมือโรคระบาด แต่คณะบริหารไม่สนใจ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยระหว่างเยี่ยมชมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแห่งหนึ่งในรัฐแอริโซนา ของสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (5 พ.ค.) ว่า คณะบริหารของเขาจะนำอเมริกากลับสู่ภาวะปกติ และเตรียมยุบทีมงานเฉพาะกิจรับมือไวรัสโคโรนา ซึ่งมีรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ เป็นประธานอยู่

ปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ได้รับการยืนยันในอเมริกาสูงถึงวันละ 20,000 คน และเสียชีวิตเกินวันละ 1,000 คน โดยข้อมูลซึ่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานในวันอังคาร ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1.2 ล้านคน และเสียชีวิตรวม+กว่า 70,000 คน

ขณะที่รายงานจากสำนักงานจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลกลาง (ฟีมา) ยังคาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตวันละมากกว่า 3,000 คนในเดือนหน้า ทว่า ทำเนียบขาวแย้งว่า รายงานดังกล่าวไม่แม่นยำ โดยทรัมป์ระบุว่า เป็นตัวเลขซึ่งวางอยู่บนสมมติฐานในสถานการณ์ที่คนอเมริกันไม่พยายามป้องกันการแพร่ระบาดเลย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายๆ ฝ่าย เตือนว่า สถานการณ์การระบาดอาจลุกลามมากขึ้น หากธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการเพิ่มขึ้น ในสภาพที่การเตรียมการรับมืออย่างเพียงพอ เวลาเดียวกัน มีเสียงวิจารณ์กระหึ่มว่า ทรัมป์กำลังเอาสุขภาพของประชาชนมาสังเวยความกระเหี้ยนกระหือรือของตัวเองในการเดินเครื่องเศรษฐกิจอีกครั้ง ก่อนศึกเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน

ในวันอังคาร ระหว่างไปเยือนโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา ภายหลังต้องอุดอู้อยู่แต่ทำเนียบขาวมาหลายสัปดาห์ ทรัมป์บอกกับพวกผู้สื่อข่าว ว่า “ไมค์ เพนซ์ และหน่วยเฉพาะกิจได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ แต่เวลานี้เรากำลังพิจารณาถึงรูปแบบที่แตกต่างออกไปนิดหน่อย และรูปแบบดังกล่าวก็คือให้มีทั้งความปลอดภัยและการเปิดประตู เราจะต้องมีกลุ่มที่แตกต่างออกไปซึ่งบางทีอาจมีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำสิ่งนั้น”

เมื่อถูกถามว่า เวลานี้ถือว่า “ภารกิจประสบความสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วใช่หรือไม่” เขาตอบว่า “ไม่ ไม่ใช่เลย ภารกิจจะประสบความสำเร็จเสร็จสิ้นได้ก็ต่อเมื่อมันจบลงแล้ว”

ทรัมป์ยอมรับว่าแผนการนี้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นชีวิตมนุษย์ เขาพูดกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมไม่ได้กำลังพูดว่ามันเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบ และใช่ครับ คนบางส่วนจะถูกกระทบกระเทือนใช่ไหม? ใช่

“คนส่วนส่วนจะถูกกระทบกระเทือนอย่างเลวร้ายใช่ไหม? ใช่ แต่เราต้องทำให้ประเทศของเราเปิดประตูออกมา และเราต้องทำให้มันเปิดประตูในเร็วๆ นี้ด้วย”

อย่างไรก็ดี ทรัมป์ย้ำว่าจะขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐที่จะต้องวินิจฉัยเองว่าจะคลายการล็อกดาวน์และเปิดประตูออกมาใหม่กันอย่างไร


หน่วยเฉพาะกิจนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม เพนซ์เข้าเป็นประธานของหน่วยนี้ในอีก 4 สัปดาห์ต่อมา สำหรับสมาชิกของหน่วยเฉพาะกิจ ประกอบไปด้วย พวกผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ระดับนำของคณะบริหารทรัมป์ จำนวนกว่า 20 คน ทำเนียบขาวเคยแถลงว่าหน้าที่ของหน่วยนี้ คือ “เป็นผู้นำทางความพยายามของคณะบริหารในเรื่องการติดตาม, การสกัดกั้น และการบรรเทาการแพร่กระจายของไวรัส” รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชน

ทรัมป์เข้าร่วมการแถลงข่าวประจำวันของหน่วยเฉพาะกิจนี้เป็นประจำ และถูกฝ่ายค้านโจมตีว่าพยายามเข้ายึดครองเวที และทำให้มันกลายเป็นเวทีรณรงค์หาเสียงส่วนตัว อย่างไรก็ดี ทรัมป์ดูเหมือน “หมดสนุก” กับกิจกรรมนี้ เมื่อเขาถูกประณามจากประชาคมทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง หลังจากที่เขาพูดเสนอแนะในเวทีแถลงข่าวนี้เมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า การฉีดสารฆ่าเชื้อให้ผู้คน อาจจะสามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้

พญ.เดโบราห์ เบิร์กซ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของหน่วยเฉพาะกิจนี้ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ถูกนักข่าวถามในวันอังคาร ว่า เธอและสมาชิกในหน่วยซึ่งมีบทบาทเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางอีกคนหนึ่ง คือ นพ.แอนโธนี เฟาซี จะยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามในการจัดการกับไวรัสโคโรนาต่อไปหรือไม่

ทรัมป์ตอบว่า “พวกเขาจะยังคงมีส่วน เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่นๆ และยังจะมีผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในแวดวงนี้ด้วย”

ทางด้านรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ แถลงก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันว่า อาจยุบทีมเฉพาะกิจดังกล่าวที่ตนเป็นผู้นำในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

การเปิดเผยของทรัมป์และเพนซ์ ตอกย้ำว่า ทำเนียบขาวกำลังเบนความสนใจเกี่ยวกับวิกฤตโรคระบาดจากแง่มุมด้านสาธารณสุขเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ขณะนี้ หลายรัฐของสหรัฐฯเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดโดยได้รับการสนับสนุนจากทรัมป์ ถึงแม้ยังไม่ได้มีความพร้อมตามแนวทางของทำเนียบขาวที่กำหนดโดยทีมเฉพาะกิจรับมือไวรัสก็ตาม

นอกจากประเด็นการรีสตาร์ทเศรษฐกิจแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ยังคงเรียกร้องให้จีนให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของการระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างโปร่งใส และสำทับว่า อเมริกาจะเปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อไร

ทำเนียบขาวที่ถูกโจมตีเกี่ยวกับการรับมือวิกฤตไวรัส พยายามโยนบาปให้องค์การอนามัยโลก (ฮู) และจีน โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3) ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ อ้างว่า มีหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนามาจากสถาบันไวรัสวิทยาในอู่ฮั่น แม้หน่วยงานด้านข่าวกรองของอเมริกา ตลอดจนถึงเฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและที่ปรึกษาระดับสูงของทำเนียบขาว ยืนยันตรงกันว่า ไวรัสโคโรนาไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ก็ตาม

วันพุธ (6) หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวเมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถาม ระหว่างแถลงข่าวตามปกติในกรุงปักกิ่งว่า พอมเพโอพูดกล่าวหาจีนซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เขาไม่สามารถเสนอหลักฐานใดๆ ออกมาได้เลย “ทำไมเขาเอาหลักฐานออกมาไม่ได้? เพราะเขาไม่มีหลักฐานใดๆ เลยนั่นเอง” เธอบอก

นพ.ริก ไบรต์ อดีตผู้อำนวยการหน่วยงานวิจัยและพัฒนาชีวการแพทย์ที่มีหน้าที่ในการพัฒนายาเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา  ซึ่งออกมาเป็นผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล (whistleblower) เกี่ยวกับการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ (ภาพนี้เป็นภาพอย่างเป็นทางการของเขาที่เผยแพร่ด้วยหน่วยงาน เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2017)
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอังคาร นพ.ริก ไบรต์ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานที่ปรึกษาพิเศษด้านกฎหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่า คณะบริหารของทรัมป์ปลดตนจากตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยงานวิจัยและพัฒนาชีวการแพทย์ ที่มีหน้าที่ในการพัฒนายาเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา เนื่องจากไม่พอใจที่ตนเตือนเกี่ยวกับโรคระบาด

ไบรต์ ระบุว่า ได้เตือนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ถูกต่อต้านจาก อเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ที่ดูเหมือนจงใจดูเบาภัยคุกคามจากกโรคระบาด

ทีมทนายความระบุว่า การปลดไบรต์เข้าข่ายละเมิดกฎหมายปกป้องการเปิดโปงพฤติกรรมความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล และต้องการให้มีการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งคืนตำแหน่งให้ไบรต์

ในส่วนของ เคตลิน โอ๊กลีย์ โฆษกกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ แถลงว่า ไบรต์ได้รับการโอนย้ายไปทำงานในตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเดิมและรับผิดชอบการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรค

ทั้งนี้ เดือนที่ผ่านมา ไบรต์ออกคำแถลงระบุว่า ถูกปลดและโยกย้ายส่วนหนึ่งเนื่องจากต่อต้านความพยายามของคณะบริหารที่ต้องการผลักดันให้ใช้ยารักษามาเลเรียกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน

ไบรต์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าวในปี 2016 ก่อนที่ทรัมป์จะเข้าสู่ทำเนียบขาวนั้น มีกำหนดให้การต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันพฤหัสบดีหน้า (14)
กำลังโหลดความคิดเห็น