เอเจนซีส์ - ขุนคลังสหรัฐฯ ยันเศรษฐกิจจะกลับมาผงาดอีกครั้งเร็วๆ นี้ ท่ามกลางคำเตือนจากที่ปรึกษาทำเนียบขาวเกี่ยวกับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาในระยะยาวแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งในส่วนจีดีพี หนี้สาธารณะ และอัตราว่างงาน ด้านนักเศรษฐศาสตร์เอกชนระบุเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการเงินปี 2008 ที่บริษัทส่วนใหญ่มียอดขายและการลงทุนดิ่งลง
ในการให้สัมภาษณ์กับ “ฟ็อกซ์ นิวส์ ซันเดย์” สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ปกป้องนโยบายคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ในการรับมือโรคระบาดใหญ่ ด้วยการทุ่มเทงบประมาณใช้จ่ายแบบขาดดุลก้อนมหึมา ว่า เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ ถึงแม้ในขณะนี้เริ่มปรากฏสมาชิกรีพับลิกันในสภาออกมาขวางมากขึ้น
เขายังบอกว่า คณะบริหารกำลังพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้พวกบริษัทน้ำมัน แต่ยืนยันว่า จะไม่มีการเข้าอุ้มผู้ถือหุ้นบริษัทเหล่านั้น
มนูชิน เสริมว่า ถ้าเศรษฐกิจสามารถเดินเครื่องได้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน กิจกรรมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแท้จริงในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และ กันยายน และรัฐบาลจะเดินหน้ามาตรการทางการคลังในมูลค่าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจ
สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายเยียวยาเศรษฐกิจฉบับใหม่มูลค่า 483,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากมาตรการฉุกเฉินที่อนุมัติไปเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2 ล้านล้านดอลลาร์ และขณะนี้กำลังหารือมาตรการช่วยเหลืออีกก้อนสำหรับรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนเริ่มออกมาขัดขวางการออกมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ที่บอกว่า ควรปล่อยให้มลรัฐต่างๆ ยื่นขอล้มละลาย สร้างความเดือดดาลอย่างมากต่อผู้ว่าการรัฐสังกัดพรรคเดโมแคต รวมถึงผู้ว่าการรัฐรีพับลิกันบางคน อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากทำเนียบขาว
มนูชิน กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยย้ำว่า อเมริกากำลังอยู่ในสงครามและถ้าจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่าย คณะบริหารก็จะทำโดยอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนจากทั้งสองพรรค
ขุนคลังแดนอินทรียังไม่เห็นด้วยกับข้อกังวลเกี่ยวกับหนี้ของประเทศที่ถูกคาดหมายว่า จะพุ่งเกินมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ โดยบอกว่า ตอนนี้อเมริกาอยู่ในสงครามและจำเป็นต้องปกป้องแรงงานและธุรกิจของประเทศ และคณะบริหารจะทำทุกอย่างที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม เควิน แฮสเส็ตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว เตือนระหว่างให้สัมภาษณ์รายการ “ดีส วีก” ของเอบีซีเมื่อวันอาทิตย์ (26) ว่า เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดรุนแรงที่สุดนับจากวิกฤตตกต่ำในทศวรรษ 1930 โดยจีดีพีไตรมาส 2 อาจติดลบ 15-20%
แฮสเส็ตส์สำทับว่า หนี้สาธารณะถึงระดับที่อาจส่งผลลบต่อการเติบโตในระยะยาว และควรรับมือด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นในการเปิดสภารอบต่อไป
เขายังคาดการณ์ว่า อัตราว่างงานในเดือนนี้อาจทะยานขึ้นไปอยูที่ 16% เป็นอย่างน้อย และทรงอยู่ในระดับนี้หรือเพิ่มขึ้นในการรายงานตัวเลขว่างงานครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม
ทั้งนี้ นับจากกลางเดือนมีนาคม จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการการว่างงานได้เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 26.5 ล้านคน ขณะที่ยอดค้าปลีก การสร้างบ้าน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทรุดดิ่ง
สำนักงบประมาณรัฐสภาคาดว่า จีดีพีไตรมาส 2 จะหดตัวเกือบ 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และอัตราว่างงานพุ่งขึ้นอยู่ที่ 16% ในไตรมาส 3 และอาจทรงอยู่ที่กว่า 10% ในปีหน้า
ก่อนเกิดโรคระบาด อัตราว่างงานของอเมริกาอยู่ที่ 3.5% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี
นอกจากนั้น ในวันจันทร์ (27) เนชันแนล แอสโซซิเอชัน ฟอร์ บิสเนส อิโคโนมิกส์ (เอ็นเอบีอี) เปิดเผยรายงานการสำรวจความคิดเห็นประจำไตรมาสที่สอบถามจากนักเศรษฐศาสตร์ในอุตสาหกรรมทุกแขนงจำนวน 107 คน ซึ่งพบว่า เป็นครั้งแรกนับจากวิฤตการเงินปี 2008 ที่บริษัทส่วนใหญ่รายงานว่า ยอดขายในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น และคาดว่า การใช้จ่ายเงินทุนจะทรุดลงเช่นเดียวกัน
นักเศรษฐศาสตร์ 30% มองว่า วิกฤตครั้งนี้จะกินเวลา 3-6 เดือน ขณะที่บางคนคาดว่า สถานการณ์จะดีขึ้นภายใน 5-8 สัปดาห์ นอกจากนั้น 86% ยังเชื่อว่า การเติบโตของอเมริกาจะหดตัวในปีนี้ และ 2 ใน 3 คิดว่า แนวโน้มระยะสั้นในเดือนนี้เลวร้ายกว่าเดือนที่ผ่านมา
ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 13-19 เดือนนี้ ยังพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 1 ใน 3 ระบุว่า บริษัทต่างๆ ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์ แม้มีเพียง 2% ที่หยุดการดำเนินการทั้งหมด
รายงานนี้ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ล่าสุดถึงทิศทางขาลงของเศรษฐกิจอเมริกันที่เกิดจากวิกฤตโรคระบาด