รอยเตอร์ – นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียชวนผู้นำอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส เปิดการสอบสวนกรณีการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งรวมถึงมาตรการรับมือขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ขณะที่จีนควันออกหู กล่าวหาแคนเบอร์รารับใบสั่งจากวอชิงตัน เวลาเดียวกัน แดนจิงโจ้ยังยั่วโทสะพญามังกรด้วยการส่งเรือไปร่วมซ้อมรบกับอเมริกาในทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ทั้งผู้นำฝรั่งเศสและอังกฤษต่างบอกว่าตอนนี้คือเวลาสำหรับต่อสู้กับไวรัส ไม่ใช่มาหารือกันว่าจะประณามใครบ้าง
นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลีย ทวิตเมื่อวันพุธ (22 เม.ย.) ว่า ได้หารือทางโทรศัพท์อย่างสร้างสรรค์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิด-19 และความจำเป็นในการฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ
มอร์ริสันเสริมว่า ตนและทรัมป์ยังคุยกันเรื่องฮู และการร่วมมือกันปรับปรุงความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการรับมือโรคระบาดของนานาชาติ
นอกจากนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเผยว่า มอร์ริสันโทรคุยกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส
ที่ผ่านมา ทำเนียบขาววิจารณ์จีนและฮูดุเดือดเกี่ยวกับวิกฤตไวรัสโคโรนา และยังยกเลิกการอัดฉีดเงินให้องค์กรในสังกัดสหประชาชาติแห่งนี้
ขณะที่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดดานอม เกรเบรยาซุส กล่าวซ้ำหลายครั้งว่า ฮูจะประเมินผลงานของตนในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่คราวนี้ หลังจากที่มันยุติลงแล้ว และสรุปบทเรียนที่ถูกต้องเหมาะสมออกมา เหมือนกับที่ทางองค์การกระทำภายหลังเกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขทุกๆ ครั้ง
สำหรับมาครง เจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้นี้เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า มาครงบอกมอร์ริสันว่าเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาสำหรับการสอบสวน
“เขาบอกว่าเขาเห็นด้วยที่ว่ามีประเด็นปัญหาบางประการในตอนเริ่มต้น แต่เรื่องเร่งด่วนตอนนี้คือการรวมตัวทำงานร่วมกัน และยังไม่มีเวลาสำหรับพูดถึงเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังย้ำยืนยันถึงความจำเป็นที่เพลเยอร์ทุกๆ รายจะต้องมีความโปร่งใส ไม่เพียงเฉพาะ ฮู เท่านั้น” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว
ส่วนผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ก็บอกกับรอยเตอร์ว่า อังกฤษจะต้องพิจารณาหาบทเรียนต่างๆ จากวิกฤตคราวนี้ในเวลาต่อไปข้างหน้า แต่สำหรับเวลานี้ บรรดารัฐมนตรีต่างๆ ของอังกฤษต้องมุ่งโฟกัสไปที่เรื่องการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่
อันที่จริงแล้ว รัฐบาลอังกฤษก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคเลเบอร์ที่เป็นฝ่ายค้านว่า ตอบโต้กับโรคระบาดอย่างเชื่องช้าเกินไป รวมทั้งล้มเหลวบกพร่องในการจัดให้มีการตรวจทดสอบอย่างพอเพียง และในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคให้แก่บุคลากรแถวหน้าอย่างพอเพียง
ในกรุงเบอร์ลิน รัฐบาลเยอรมนียืนยันว่า แมร์เคิลได้พูดหารือกับมอร์ริสันในวันอังคาร (21) และเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (17) โฆษกของเธอเคยแถลงว่า “ไวรัสโคโรนานี้ปรากฏขึ้นมาครั้งแรกในประเทศจีน ประเทศจีนประสบความสูญเสียไปเยอะแยะจากไวรัสนี้ และได้ทำอะไรเยอะแยะในการต่อสู้ขัดขวางการแพร่ระบาด”
อีกด้านหนึ่ง สมาชิกรัฐสภาอาวุโสของออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหาที่มาของไวรัสโคโรนา อีกทั้งยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของปักกิ่งเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ที่อุบัติขึ้นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น และเวลานี้ลุกลามไปทั่วจนทำให้โลกกลายเป็นอัมพาตโดยสิ้นเชิง
คืนวันอังคาร (21) สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงแคนเบอร์ราออกคำแถลงโจมตีว่า สมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียทำตัวเป็นกระบอกเสียงทรัมป์
ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนปีนเกลียวกันอย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยแคนเบอร์รากล่าวหาปักกิ่งแทรกแซงกิจการภายใน และกำลังเดินหน้าขยายอิทธิพลในแปซิฟิก
ความสัมพันธ์ทางการทูตยิ่งเลวร้ายลง หลังจากรัฐบาลออสเตรเลียกลายเป็นประเทศแรกที่แบนหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ไม่ให้มีส่วนร่วมในเครือข่าย 5จี ของแดนจิงโจ้
กระนั้น จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของออสเตรเลีย โดยสั่งซื้อสินค้าออกของออสเตรเลียกว่า 1 ใน 3 ขณะที่นักท่องเที่ยวและนักศึกษาจีนเดินทางไปแดนจิงโจ้ปีละกว่า 1 ล้านคน
รัฐมนตรีคลัง จอช ฟรายเดนเบิร์ก ยืนยันว่า ออสเตรเลียยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับจีน ซึ่งสำคัญมากต่อการจ้างงานในประเทศ แต่สำทับว่า การโจมตีสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียของเจ้าหน้าที่จีนเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์และไม่เหมาะสม
ปัจจุบัน ออสเตรเลียมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากว่า 6,600 คน และเสียชีวิต 74 คน ส่วนหนึ่งเนื่องจากความสำเร็จของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การปิดพรมแดนงดรับชาวต่างชาติ และบังคับให้พลเมืองที่เดินทางมาจากต่างประเทศกักตัว ที่บังคับใช้มากว่าเดือนและรัฐบาลเตรียมผ่อนคลายเร็วๆ นี้
นอกจากประเด็นวิกฤตโรคระบาดแล้ว ออสเตรเลียยังยั่วโทสะจีนด้วยการส่งเรือฟริเกตไปร่วมซ้อมรบกับอเมริกาในทะเลจีนใต้
วันอังคาร (21) กองทัพเรือสหรัฐฯ เผยว่า เรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ยูเอสเอส อเมริกา, เรือลาดตระเวนติดตั้งขีปนาวุธ ยูเอสเอส บังเกอร์ ฮิลล์ และเรือพิฆาต ยูเอสเอส แบร์รี ปฏิบัติการอยู่ในทะเลจีนใต้ ขณะที่กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียแถลงว่า เรือรบหลวงออสเตรเลีย พาร์รามัตตา ซึ่งเป็นเรือฟรีเกต ร่วมซ้อมรบกับเรือรบอเมริกัน 3 ลำดังกล่าว
เรือรบของพวกชาติตะวันตกทั้งหมดเหล่านี้ซ้อมรบอยู่ใกล้บริเวณที่เชื่อว่า เรือสำรวจ ไห่หยาง ตี้จื้อ 8 ของรัฐบาลจีน กำลังสำรวจแหล่งน้ำมันโดยมีเรือยามฝั่งของจีนคุ้มกันอยู่ใกล้ๆ
บริเวณดังกล่าวยังอยู่ใกล้จุดที่เรือของปิโตรนาส รัฐวิสาหกิจน้ำมันของมาเลเซีย ดำเนินการแท่นขุดเจาะ และอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย รวมทั้งใกล้น่านน้ำที่ทั้งจีน มาเลเซีย และเวียดนามอ้างสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ปิโตรนาสและกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสถานการณ์นี้ มีเพียงอเมริกาที่เรียกร้องให้จีนหยุด “พฤติกรรมข่มเหงรังแก” ในทะเลจีนใต้
ส่วนจีนปฏิเสธข่าวที่ว่ามีการเผชิญหน้า และยืนยันว่า เรือไห่หยาง ตี้จื้อ 8 ปฏิบัติภารกิจตามปกติ
อเมริกายังกล่าวหาว่า จีนกำลังสร้างเสริมสถานะของตนเองในทะเลจีนใต้ขณะที่ประเทศที่อ้างสิทธิ์อื่นๆ กำลังวุ่นวายกับการรับมือโควิด-19 พร้อมกันนี้ปักกิ่งยังบริจาคความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรับมือโรคระบาด อาทิ ทีมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เดินทางถึงมาเลเซียในสัปดาห์นี้