รอยเตอร์ – กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุวันนี้ (16 เม.ย.) ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปีนี้จะหยุดนิ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เนื่องจากวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคบริการและจุดหมายปลายทางการส่งออก “อย่างชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
ชางยอง รี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศจะต้องมอบความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงแก่ครัวเรือนและบริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากคำสั่งห้ามเดินทาง, มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และอื่นๆ ที่รัฐใช้ควบคุมการระบาด
“นี่เป็นเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความท้าทายและความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” รี ระบุในการแถลงข่าวผ่านเว็บแคสต์ “นี่ไม่ใช่เวลาของการทำธุรกิจตามปกติ ประเทศในเอเชียจำเป็นต้องใช้ทุกๆ นโยบายที่มีอยู่ในมือ”
รายงานว่าด้วยภาพรวมเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่ไอเอ็มเอฟเผยแพร่วันนี้ (16) ระบุว่า เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวเป็น “ศูนย์” ในปี 2020 ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยสถานการณ์ถือว่าเลวร้ายกว่าวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ซึ่งตอนนั้นอัตราการเติบโตเฉลี่ยของภูมิภาคยังอยู่ที่ 4.7% และ 1.3% ในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปลายทศวรรษ 1990
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวได้ราวๆ 7.6% ในปีหน้า ภายใต้สมมติฐานที่ว่ามาตรการควบคุมโรคประสบผลสำเร็จ ทว่าภาพรวมทุกอย่างยังคงไม่แน่นอน
ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคบริการ เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกรณรงค์ให้ประชาชนเก็บตัวอยู่กับบ้าน ขณะที่ห้างร้านส่วนใหญ่ก็ถูกสั่งปิดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ที่มีชนวนมาจากการล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
ชาติผู้ส่งออกรายใหญ่ในเอเชียยังได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าที่ลดลงในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และยุโรป
ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1.2% ลดลงจาก 6% ที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ม.ค. สืบเนื่องจากภาคการส่งออกที่ซบเซา และการสูญเสียกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเนื่องจากมาตรการ social-distancing
อย่างไรก็ดี จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี และคาดว่าเศรษฐกิจอาจเติบโตถึง 9.2% ในปี 2021 เว้นเสียแต่ไวรัสจะกลับมาระบาดซ้ำ
ไอเอ็มเอฟย้ำว่า ผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเจาะจงแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงอัดฉีดสภาพคล่องในตลาด และลดแรงบีบคั้นทางการเงินแก่บรรดาธุรกิจเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตาม รี เตือนว่าการจ่ายเงินสดโดยตรงให้แก่พลเมืองแบบที่สหรัฐฯ ก็กำลังทำอยู่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับประเทศในเอเชีย ซึ่งควรจะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อป้องกันการเลย์ออฟพนักงานมากกว่า