xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญมือหนึ่งยอมรับ ‘อเมริกันชน’ จะตายน้อยกว่านี้ ถ้าออกมาตรการรับมือโควิด-19 ทันท่วงที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.พ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมือหนึ่งด้านโรคติดต่อของอเมริกา ร่วมในการแถลงข่าวประจำวันที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ (10 เม.ย.) โดยมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนฟังอยู่ข้างๆ
เอเจนซีส์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อชั้นนำของสหรัฐฯ ยอมรับ ถ้าอเมริกาออกมาตรการต่อต้านไวรัสโควิด-19 เร็วกว่านี้ อาจทำให้คนตายน้อยลง พร้อมแสดงความเห็นว่าอาจจะสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างค่อยเป็นค่อยไปในบางพื้นที่ตั้งแต่เดือนหน้าโดยมีข้อแม้ว่าพื้นที่เหล่านั้นต้องสามารถตรวจทดสอบและกักกันผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอาทิตย์ (12) เกี่ยวกับรายงานในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ โดยเขายอมรับว่า ถ้าอเมริกาปิดสถานที่สาธารณะตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดจริงจังช่วงต้นปี สถานการณ์อาจแตกต่างจากนี้ ก่อนสำทับว่ามีการคัดค้านการชัตดาวน์อย่างมากในเวลานั้น แต่เขาก็ไม่ได้พาดพิงถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างใด

ล่าสุด ในสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 555,000 คน และเสียชีวิต 22,000 คน กลายเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ของโลกทั้ง 2 รายการ

ทั้งนี้ บทความของนิวยอร์กไทมส์ฉบับวันอาทิตย์ระบุว่า นพ.เฟาซี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับท็อปคนอื่นๆ แนะนำให้รัฐบาลใช้มาตรการเชิงรุกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และยังบอกว่าสาเหตุที่ทรัมป์รับมือโควิด-19 ช้าเกินไปส่วนหนึ่งเพราะมั่นใจในสัญชาตญาณของตัวเอง แต่ไม่ไว้ใจข้าราชการพลเรือนที่เขาตราหน้าว่าเป็น “รัฐบาลเงา” ที่สมคบคิดกันพยายามรวบอำนาจ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ เฟาซีอธิบายเพิ่มเติมต่อซีเอ็นเอ็นว่า เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขให้คำแนะนำได้จากจุดยืนด้านสุขภาพเท่านั้น ซึ่งบ่อยครั้งคำแนะนำได้รับการนำไปปฏิบัติ แต่บางครั้งก็ไม่

เฟาซี ที่เคยให้คำปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ 6 คนหลังสุด ยังยอมรับว่ามีหลายปัจจัยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในสหรัฐฯ เช่น ขนาดประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องความล่าช้าในการเริ่มมาตรการรับมือเท่านั้น

ตอนเย็นวันอาทิตย์ ทรัมป์ทวีตตอบโต้บทความของนิวยอร์กไทมส์ด้วยวลีโปรดคือ “ข่าวปลอม!” และสำทับว่า ตอนที่ตนสั่งแบนการเดินทางจากจีนข้าสหรัฐฯ เพื่อรับมือการระบาด ก็ถูกวิจารณ์ว่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป

ทรัมป์ยังโพสต์คำสัมภาษณ์ของเฟาซีที่บอกว่าอเมริกาไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตั้งแต่แรก

อาร์ชบิชอป ทิโมธี โดลัน เทศนาหน้าแถวเก้าอี้ที่ว่างเปล่า ขณะประกอบพิธีมิสซาวันอีสเตอร์ ณ มหาวิหารเซนต์แพทริก ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันอาทิตย์ (12 เม.ย.) สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  จึงไม่อนุญาตให้สัตบุรุษเข้าร่วมมิสซา แต่ใช้วิธีถ่ายทอดสดทางสถานีทีวีท้องถิ่น

ศิษยาภิบาล พอล มาร์ค กูเลต สวดมนต์ให้ประชาชนที่อยู่ในรถยนต์ของพวกเขา ณ พิธีวันอีสเตอร์แบบไดรฟ์อิน ของโบสถ์อินเตอร์เนชันแนลเชิร์ชออฟลาสเวกัส ในเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา เมื่อวันอาทิตย์ (12 เม.ย.)  เนื่องจากต้องทำตามกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  โบสถ์คริสต์นิกายต่างๆ ในสหรัฐฯจึงพลิกแพลงจัดพิธีอีสเตอร์กันไปหลายหลากรูปแบบ
ก่อนหน้านั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประมุขสหรัฐฯ ยังได้โจมตีองค์การอนามัยโลก (ฮู) ว่า ไว้ใจจีนเกินไปตอนที่ไวรัสโคโรนาอุบัติขึ้นครั้งแรกในเมืองอูฮั่นเมื่อปลายปีที่แล้ว

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังพยายามผลักดันให้ยกเลิกมาตรการชัตดาวน์เพื่อเดินเครื่องเศรษฐกิจอีกครั้งโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหวังผลว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นตัวเข้มแข็งเพื่อใช้เป็นประเด็นหาเสียงในการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ คณะบริหารของทรัมป์กว่าจะออกแนวทางให้เว้นระยะห่างทางสังคม เวลาก็ล่วงเลยมาถึงวันที่ 16 มีนาคมและมีการขยายระยะเวลาบังคับใช้จนถึงสิ้นเดือนนี้

สำหรับประเด็นนี้ เฟาซีระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการรับมือการระบาดจำเป็นต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือหากสามารถระบุและกักกันผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วและทั่วถึง และเมื่อจำนวนผู้ป่วยหนักลดลงอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่จึงสมควรพิจารณาเรื่องการกลับสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ โดยในบางพื้นที่นั้นอาจกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติอย่างเร็วที่สุดตั้งแต่เดือนหน้า

ทางด้าน สตีเฟน ฮาห์น กรรมาธิการสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีในวันเดียวกันว่า อยากเห็นการผ่อนคลายมาตรการชัตดาวน์ในวันที่ 1 พฤษภาคมเช่นกัน แต่คิดว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่

ทั้งนี้ การตัดสินใจมาตรการล็อกดาวน์ของอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น ไม่ใช่ของประธานาธิบดี โดยผู้ว่าการหลายรัฐที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 เช่น นิวยอร์ก แสดงจุดยืนว่าต้องการบังคับใช้มาตรการนี้ต่อไปตราบที่ยังจำเป็น และจะผ่อนคลายเมื่อมั่นใจว่า ปลอดภัยแล้วเท่านั้น ขณะที่ผู้ว่าการรัฐแมริแลนด์และนิวเจอร์ซีย์ระบุว่า จะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จนกว่าจะมีชุดทดสอบให้ใช้กันอย่างแพร่หลายเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น